Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อนุรักษ์กันอย่างไร

Posted By Plookpedia | 28 มิ.ย. 60
2,317 Views

  Favorite

อนุรักษ์กันอย่างไร

 

ทรัพยากรวัฒนธรรมเป็นของเปราะบาง การจะซ่อม บูรณะ หรือสงวนรักษานั้น ต้องระวังไม่ให้เสียหายไปกว่าเดิม หรือทำขึ้นใหม่ ซึ่งกลับเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรม และความเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุของสิ่งของนั้น ๆ 

 

ขั้นตอนการอนุรักษ์โบราณวัตถุ :๑. ลงทะเบียนของที่จะอนุรักษ์ทุกชิ้นว่าเป็นอะไร ชำรุดอย่างไรฯลฯ สิ่งของเหล่านี้จะมีหมายเลขและทะเบียนประวัติ
๒.การทำความสะอาดและกำจัดสนิมอันตราย

 

๓.กำจัดคราบไขมันบนผิววัตถุ โดยนำวัตถุแช่สารเคมี
๔. แช่โบราณวัตถุในสารละลายเบนโซไตรอะโซล (benzotriazol)ในภาชนะที่เป็นสุญญากาศ
๕. เคลือบผิววัตถุด้วยสารป้องกันความชื้น เช่น สารละลายของพาราลอยด์ (paraloid) เป็นต้น

 

 

หน่วยราชการที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุในประเทศไทย คือ กรมศิลปากร ได้วางระเบียบ ว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ไว้ดังนี้

"ข้อ ๔. ก่อนที่จะดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานใด ๆ ต้องปฏิบัติดังนี้ 

(๔.๑) ทำการสำรวจศึกษาสภาพเดิม และสภาพปัจจุบันของโบราณสถาน ทั้งด้านประวัติการก่อสร้าง การอนุรักษ์ ซึ่งรวมถึงรูปทรงสถาปัตยกรรม การใช้วัสดุ และสภาพความเสียหาย ที่ปรากฏอยู่ โดยการทำเป็นเอกสารบันทึกภาพ และทำแผนผังเขียนรูปแบบไว้โดยละเอียด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับนำมาประกอบการพิจารณาทำโครงการอนุรักษ์ และเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อไป 

(๔.๒) ทำโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยพิจารณาว่า โบราณสถานนั้น มีคุณค่า และลักษณะความเด่นในด้านใดบ้าง อาทิเช่น ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี จิตรกรรม ประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม ฯลฯ เป็นต้น และวางแผนรักษาคุณค่า และความสำคัญ ที่เด่นที่สุดเป็นหลักไว้ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงคุณค่า และความสำคัญในด้านที่รองลงมาด้วย
 
(๔.๓) พิจารณาก่อนว่า โบราณสถานนั้น ๆ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วหรือไม่เพียงใด หากได้ถูกแก้ไข และส่วนแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้น ทำให้คุณค่าของเดิมเสียไป ควรพิจารณารื้อสิ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมออก และบูรณะให้เหมือนเดิม 

 

ข้อ ๕. การอนุรักษ์โบราณสถานใดๆ ก็ตาม จะต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อม โดยรอบโบราณสถานนั้นด้วย สิ่งใดที่จะทำลายคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ ให้ดำเนินการปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย 

ข้อ ๖. โบราณสถานที่มีการอนุรักษ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาก่อนแล้ว จะต้องพิจารณาศึกษาให้ละเอียดว่า ได้บูรณะแก้ไขมาแล้วกี่ครั้ง ผิดถูกอย่างไร ระยะเวลานานเท่าใด การอนุรักษ์ใหม่ที่จะทำนี้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้แบบใดแบบหนึ่งเสมอไป แต่ให้พิจารณาเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุด ที่เป็นหลักในการอนุรักษ์ เพื่อให้โบราณสถานนั้นมีคุณค่า และความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้จะต้องทำเป็นหลักฐาน แสดงให้ปรากฏถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะด้วยวิธีการบันทึกเป็นเอกสารเขียนแบบไว้ ทำหุ่นจำลอง หรือโดยวิธีการอนุรักษ์ก็ได้ 

ข้อ ๗. โบราณสถานที่มีคุณค่า ความสำคัญเยี่ยมยอด ควรทำแต่เพียงเสริมความมั่นคงแข็งแรง หรือสงวนรักษาไว้เท่านั้น 

ข้อ ๘. การนำวิธีการ และเทคนิคฉบับใหม่มาใช้ในงานอนุรักษ์ เพื่อความมั่นคงแข็งแรง จะต้องมีการศึกษา และทดลอง จนได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงจะนำมาใช้ได้ โดยไม่ทำให้โบราณสถานนั้น เสื่อมคุณค่าไป 

ข้อ ๙. การต่อเติม เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถาน ทำเท่าที่จำเป็น ให้ดูเรียบง่าย และมีลักษณะกลมกลืนกับของเดิม 

ข้อ ๑๐. ในกรณีที่จำเป็นจะต้องทำชิ้นส่วนของโบราณสถานที่ขาดหายไปขึ้นใหม่ เพื่อรักษาคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม และให้การอนุรักษ์โบราณสถานนั้น สามารถดำเนินการได้ต่อไป การทำชิ้นส่วนขึ้นใหม่นั้น อาจทำได้โดยวิธีการออกแบบ ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการทำขึ้นใหม่ จะด้วยวิธีการใช้วัสดุต่าง ๆ กัน การใช้สีต่างกัน หรือการทำพื้นผิวให้ต่างกันกับของเดิมก็ได้ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่มีความผสมกลมกลืนกับของเดิม 

ข้อ ๑๑. การอนุรักษ์ชิ้นส่วนที่มีคุณค่าเยี่ยมยอดทางจิตรกรรม ประติมากรรม และโบราณวัตถุ ซึ่งติดหรืออยู่ประจำโบราณสถานนั้น ๆ ทำได้แต่เพียงการสงวนรักษา หรือเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อคงคุณค่าของเดิมให้ปรากฏเด่นชัดมากที่สุด ยกเว้นปูชนียวัตถุที่มีการเคารพบูชา สืบเนื่องมาโดยตลอด และได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว 

 

ลายเส้นสันนิษฐานแบบแปลนเจดีย์หลังการขุดแต่ง ของเจดีย์วัดแร้ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

 

 

ข้อ ๑๒. ซากโบราณสถานควรอนุรักษ์ โดยการรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีผู้มาประกอบขึ้นไว้ให้เหมือนเดิม หรืออาจจะเป็นเพียงการรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบขึ้นไว้เป็นบางส่วน สำหรับชิ้นส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งจำเป็นในการสงวนรักษานั้น ก็อาจทำเพิ่มขึ้นใหม่ได้ 

 

เจดีย์วัดแร้ง ต.สนามไชย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี สภาพก่อนการขุดแต่งเพื่อศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม
เจดีย์วัดแร้งหลังการขุดแต่ง

 

 

ข้อ ๑๓. การอนุรักษ์ซากโบราณสถาน ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีนั้น ทำได้โดยรักษาไว้ตามสภาพเดิมหลังการขุดแต่ง แต่ต้องป้องกันมิให้เสียหายต่อไป ด้วยวิธีที่ไม่ทำให้โบราณสถานเสียคุณค่า 

ข้อ ๑๔. โบราณสถานที่เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพบูชา ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีของประชาชนโดยทั่วไป จะต้องบูรณะไว้ โดยไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ลักษณะ สี และทรวดทรง ซึ่งจะทำให้โบราณสถานนั้น หมดคุณค่า หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป 

ข้อ ๑๕. เพื่อป้องกันมิให้ชิ้นส่วนของโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งรวมถึงประติมากรรม จิตรกรรม และศิลปกรรม จะต้องนำชิ้นส่วนนั้นมาเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งทำแบบจำลองให้เหมือนของเดิม ไปประกอบไว้ในที่โบราณสถานนั้นแทน ซึ่งวิธีการนี้จะปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อ ไม่สามารถรักษาได้โดยวิธีอื่นแล้ว

ข้อ ๑๖. โบราณสถานใด ที่ยังมีประโยชน์ใช้สอยอยู่ จะกระทำการอนุรักษ์ โดยการเสริมสร้าง หรือต่อเติมสิ่งที่จำเป็นขึ้นใหม่ก็ได้ เพื่อความเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้เหมือนของเดิมทีเดียว แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้น จะต้องมีลักษณะกลมกลืน และไม่ทำลายคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ 

ข้อ ๑๗. โบราณสถานต่าง ๆ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และยังไม่ขึ้นทะเบียน จะต้องมีมาตรการในการบำรุงรักษาไว้ ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง สวยงามอยู่เสมอ 

ข้อ ๑๘. กรณีที่โบราณสถานใดมีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจจะเป็นอันตราย การดำเนินการในเบื้องต้น ควรใช้มาตรการอันเหมาะสม ทำการเสริมความมั่นคงแข็งแรงไว้ ก่อนที่จะดำเนินการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันมิให้เสียหายต่อไป 

 

 

นักโบราณคดีกำลังคัดลอกภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 

ข้อ ๑๙. ในบางกรณีจะต้องดำเนินการติดต่อขอความร่วมมือกับหน่วยราชการอื่น ๆ หรือสถาบันเอกชน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาชาวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติ 

ข้อ ๒๐. งานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ หรือการขุดค้น จะต้องทำรายงานในรูปของการวิเคราะห์ และวิจัย โดยมีภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพลายเส้น และภาพถ่าย และจะต้องรายงานสิ่งที่ได้ปฏิบัติทุกขั้นตอนโดยละเอียด เช่น งานแผ้วถาง การจัดบริเวณงาน เสริมความมั่นคงชิ้นส่วนต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น และการบันทึกรายงานนี้ จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 

 

 

ปราสาทหินบ้านเพ็ญ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในโบราณสถานจำนวนหมื่นที่ยังไม่ได้อนุรักษ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม

 

 

ข้อ ๒๑. ให้อธิบดีกรมศิลปากร รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ส่วนระเบียบ หรือหลักการในการอนุรักษ์โบราณวัตถุนั้น ไม่มีประกาศเป็นเอกเทศ คงอนุโลมให้ใช้ระเบียบข้อ ๑๐. และ ๑๑. ของระเบียบการอนุรักษ์โบราณสถานข้างต้นไปพลางก่อน

ขอให้ดูหลักการดังกล่าวที่เป็นสากลเปรียบเทียบกับอดีต จะเห็นว่า เป็นไปในทำนองเดียวกัน 

 

๑. พระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม 

"...การซ่อมพระปรางค์วัดอรุณ และบริเวณ ต้องตั้งใจว่า จะรักษาของเก่าที่ยังคงใช้ได้ไว้ให้ทั้งหมด ถึงสีจะมัวหมองเป็นของเก่ากับใหม่ต่อกัน เช่น รูปภาพเขียน ลายเพดาน เป็นต้น อย่าได้พยายามที่จะแต่งของเก่าให้สุกสดเท่าของใหม่ ถ้าหากกลัวอย่างคำที่เรียกว่า ด่าง ให้พยายามที่จะประสมสีใหม่อ่อนลง อย่าให้สีแหลมเหมือนที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ พอให้กลืนไปกับสีเก่า ลวดลายฤารูปพรรณอันใดก็ตามให้รักษาคงไว้ตามรูปเก่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแห่งใดสิ่งใดให้ดีขึ้น ต้องให้กราบทูลก่อนฯ..." 
 

 

๒. รายงานการตรวจสภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม 

"...การซ่อมงานเขียนทั้งปวง ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามนั้น การเขียนอื่นๆ ก็ตาม ธรรมดาสำคัญอยู่แต่การเขียนผนังเท่านั้น เพราะว่าของเก่าทำไว้อย่างสุดฝีมือของช่างเอกในเวลานั้น ในการที่เพลิงไหม้ครั้งนี้ ก็ไม่ทำให้เสียหายไปหมด ผนังเขียนทั้งหมดคิดเป็นตารางเมตร ได้ ๓๖๖ เสียไปน้อยกว่าที่ยังคงดี คือ

ปูนไม่แตกสีไม่เสีย ๒๒๔ ตารางเมตร
ปูนไม่แตกสีเสีย ๓ ตารางเมตร
ปูนแตกสีไม่เสีย ๖๑ ตารางเมตร
ปูนแตกสีเสีย ๑๙ ตารางเมตร
ปูนกะเทาะหาย ๔๗ ตารางเมตร

ที่ปูนไม่แตกสีไม่เสีย ควรคงเก่าไว้ให้กุลบุตรภายหน้าได้ดูต่อไป ดีกว่าลบเขียนใหม่หมด ส่วนที่บุบสลายเสียไปนั้น จะทำได้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งเขียนเลียนให้เหมือนของเก่า อย่างหนึ่งเขียนให้ดีอย่างใหม่ตามฝีมือช่างทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาดูในสองอย่างนี้ว่าอย่างใดจะดีกว่ากัน ก็เห็นว่า อย่างเขียนเลียนให้เหมือนเก่าดีกว่า เพราะว่าจะได้เข้ากันกับของเดิมที่ยังเหลืออยู่ แลทั้งเป็นกระบวนไทยแท้ น่าชมกว่าวิธีเขียนอย่างใหม่... ส่วนที่ปูนไม่แตกแต่สีเสีย และที่ปูนแตกสีเสีย และปูนกะเทาะหายนั้น ไม่มีอย่างอื่น ถ้าทำเช่นนี้ การที่จะต้องทำก็น้อย จะคงไว้ตามเดิมได้ถึง ๒๒๔ ตารางเมตร จะต้องเขียนใหม่ ๑๔๑ ตารางเมตร เท่านั้น และในส่วนที่เขียนใหม่นี้ จะได้ตามสำเนาเก่า ๖๑ ตารางเมตร จะเป็นใหม่แท้ ๘๐ ตารางเมตร..." 
 
 
๓. พระราชหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงมกุฎราชกุมาร เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรี เกี่ยวกับวัดใหญ่สุวรรณาราม 
"...พระในวัดนี้ ตั้งแต่พระครูเป็นต้นไป เป็นช่างด้วยกันโดยมาก รู้จักรักษาของเก่าดีเป็นอย่างยิ่ง เช่น การเปรียญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม้ท่อนไหนผุเปลี่ยนแก้ไม้ท่อนนั้น ส่วนที่เป็นลวดลายสลักหรือเขียน อันยังจะใช้ได้ เก็บของเก่าประกอบอย่างดีที่สุดซึ่งจะทำได้ แต่ในการซึ่งจะซ่อมขึ้นให้ดีบริบูรณ์อย่างเก่านั้น ไม่แต่ฝีมือพระ ถึงฝีมือช่างหลวงทุกวันนี้ ก็ยากที่จะทำให้เข้ากันกับของเดิมได้ รูปภาพเทพชุมนุมที่นั่งเป็นชั้นๆ ในผนังอุโบสถ ดูได้ทุกตัว และเห็นได้ว่าไม่มีฝีมือแห่งใดในกรุงเทพฯ เหมือนเลย เช่น หน้ายักษ์ไม่ได้เขียนเป็นหัวโขน เขียนเป็นหน้าคนอ้วนๆ ย่นๆ ที่ซึ่งเป็นกนก ก็เขียนเป็นหนวดเครา แต่อย่าเข้าใจว่า เป็นภาพกาก ผู้ที่เขียนนั้น รู้ความคิดเรื่องเครื่องแต่งตัว รู้ว่าจะสอดสวมอย่างไร ไม่ได้เขียนยุ่งๆ อย่างทุกวันนี้ รูปนั้นอยู่ข้างจะลบเลือนมาก เพราะเหตุว่า คงจะได้เขียนก่อน ๓๐๐ ปีขึ้นไป เว้นแต่ด้านหน้ามารผจญที่ชำรุดมาก จึงได้เขียนเพิ่มขึ้นใหม่ ก็เลยเห็นได้ถนัดว่า ความคิดไม่ตลอดลงร่องรอย เสาปูนแต่งทาสีน้ำมันเขียนลายรดน้ำเปลี่ยน แม่ลายต่างกันทุกคู่ แต่กรอบเชิงอย่างเดียวกัน กรอบเชิงงามนัก..." 
 
 
๔. ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับการซ่อมหอไตวัดระฆังในสาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๗ หน้า ๑๓๖-๑๓๗
 "...การซ่อมหอไตรวัดระฆัง ยังกราบทูลอนุโมทนาไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ไปเห็นว่า ทำอย่างไร อันการซ่อมนั้น ความหมายแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ย่อมเดินเคลื่อนความเข้าใจกันไปเสียแล้ว แต่ก่อนขึ้นชื่อว่า ซ่อมแล้วก็คือ อะไรที่แตกหักก็ทำเสียให้ดี แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นชื่อว่า ซ่อมแล้ว อะไรที่เก่าก็ทำให้เห็นเป็นใหม่หมด เช่น รูปภาพที่พระอาจารย์นาคเขียนไว้ที่หอไตรนั้น นับอายุตั้ง ๑๕๐ ปี สีย่อมเก่าไปมากทีเดียว ถ้าซ่อมให้เป็นใหม่ จำเป็นต้องทาสีทับเก่า การทานั้นลิงก็ทำได้ "ท่านหนู" ซึ่งอาศัยอยู่ ณ หอไตรนั้นว่ามีกัลนาณ์ คงไม่ทำเช่นว่านั้น..." 
 
 
๕. ป่าฐกถาเรื่อง สงวนรักษาของโบราณของ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตสภา ทรงแสดงแก่เทศภิบาล ณ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๓ ตอนหนึ่งความว่า 
"...ลักษณะการสงวนของโบราณที่ราชบัณฑิตยสภาทำมานั้น วิธีจัดสงวนโบราณสถานกับโบราณวัตถุผิดกัน ในตอนนี้จะว่าด้วย สงวนโบราณสถานก่อน วิธีสงวนโบราณสถาน กำหนดการที่ทำเป็น ๓ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ การค้นให้รู้ว่า มีโบราณสถานอยู่ที่ไหนบ้าง ดังเช่นราชบัณฑิตยสภาได้มีตราขอให้เทศภิบาลต่างมณฑลช่วยสืบ แล้วบอกมาให้ทราบ เพื่อจะทำบัญชี และหมายลงแผนที่ประเทศสยามไว้เป็นตำรา อย่างที่ ๒ การตรวจ คือ เมื่อรู้ว่าโบราณสถานที่มีอยู่ ณ ที่แล้ว แต่งให้ผู้เชี่ยวชาญออกไปยังที่นั้น พิจารณาดูให้รู้ว่า เป็นของอย่างไร สร้างสมัยใด และเป็นของสำคัญเพียงใด การตรวจนี้บางแห่งขุดหาแนวรากผนัง และค้นลวดลาย ต้องมากบ้าง น้อยบ้าง ตามลักษณะสถานนั้น อย่างที่ ๓ การรักษา ซึ่งนับว่า เป็นการยากยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะโบราณสถานในประเทศนี้มีมาก ในเวลานี้ยังเหลือกำลังราชบัณฑิตยสภา ที่จะจัดการรักษาได้ทุกแห่ง จึงคิดจะจัดการรักษาแต่ที่เป็นสถานสำคัญ และที่พอจะสามารถรักษาได้เสียก่อน ถึงกระนั้นก็ยังต้องผ่อนผันทำไปทีละน้อย เพราะต้องหาเงินสำหรับจ่ายในการรักษานั้น จำเป็นต้องกำหนดลักษณะการรักษาเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต่ำ เป็นแต่ห้ามปรามมิให้ผู้ใดรื้อทำลายโบราณสถาน มิให้พังอีกต่อไป ยกตัวอย่างดังเช่น ได้ทำที่พระราชวัง กรุงศรีอยุธยา และที่ในเมืองลพบุรี เป็นต้น การรักษาโบราณสถาน ซึ่งนับว่า เป็นชั้นสูงนั้น คือ ปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิม เรื่องนี้ฝรั่งเศสกำลังพากเพียรทำที่นครธม ราชบัณฑิตยสภาก็กำลังทำที่ปรางค์สามยอด เมืองลพบุรีดูแห่งหนึ่ง เพื่อจะให้รู้ว่าจะยาก และสิ้นเปลืองสักเท่าใด แต่ถ้าว่าถึงเรื่องปฏิสังขรณ์แล้ว ประเทศเรามีภาษีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยมักมีบุคคลภายนอกศรัทธา บำเพ็ญกุศลในการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของโบราณ ซึ่งควรนับว่า ช่วยรัฐบาลได้มาก แต่ในเรื่องนี้ทางเสียที่ต้องป้องกันก็มีอยู่ ด้วยในการปฏิสังขรณ์ บางรายผู้ทำมักชอบรื้อหรือแก้ไข แบบอย่างของเดิมเปลี่ยนแปลงไปตามชอบใจตน จนเสียของโบราณ มีตัวอย่างปรากฏในมณฑลพายัพหลายแห่ง จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลนั้น ทรงรำคาญ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ โปรดให้ราชบัณฑิตยสภา อำนวยการปฏิสังขรณ์หอธรรมวัดพระสิงห์ ให้คืนดี และคงตามแบบเดิมไว้เป็นเยี่ยงอย่าง แก่ผู้อื่นแห่งหนึ่ง
 
 
ในเรื่องการปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ราชบัณฑิตยสภาใคร่จะให้เทศาภิบาลคอยสอดส่อง ในความ ๓ ข้อ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ 
 
ข้อ ๑. ถ้ามีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญ ขอให้ชี้แจงแก่เขา ให้ทำตามแบบเดิม อย่าให้เปลี่ยนแปลงรูปร่าง และลวดลายไปเป็นอย่างอื่นเอาตามชอบใจ 

ข้อ ๒. อย่าให้รื้อทำลายโบราณสถานที่สำคัญ เพื่อจะสร้างของใหม่ขึ้นแทน ข้อนี้มีเรื่องตัวอย่างจะยกมาแสดง เช่น ที่วัดพลับพลาชัย เมืองเพชรบุรี เดิมทีโบสถ์โบราณที่หน้าบันปั้นปูนเป็นภาพเรื่องพระพุทธประวัติ เมื่อเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ งามน่าดูยิ่งนัก ใครๆ ไปเมืองเพชรบุรี แม้ที่สุดจน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็เสด็จไปยังวัดพลับพลาชัย เพื่อไปชมรูปภาพ ที่หน้าบันนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เกิดไฟไหม้ เมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ วัดพลับพลาชัย ถูกไฟไหม้ด้วย แต่ผนังโบสถ์กับรูปปั้นที่หน้าบันยังดีอยู่ ถึงสมัยนั้นข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสียแล้ว แต่เผอิญมีกิจไปเมืองเพชรบุรี ก็ไปที่วัดพลับพลาชัยตามเคย  ไปได้ความว่า พวกชาวเมืองกำลังเรี่ยไรกันจะปฏิสังขรณ์ หัวหน้าทายกคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า โบสถ์เดิมเล็กนัก เขาคิดจะรื้อลง ทำใหม่ ให้ใหญ่โตกว่าเก่า ข้าพเจ้าได้ตักเตือนว่า โบสถ์เดิมนั้น มีลายปั้นที่หน้าบันเป็นสิริของวัด ไม่ควรจะรื้อลงทำใหม่ ถ้าประสงค์จะมีโบสถ์ให้ใหญ่โต ก็ควรสร้างโบสถ์ใหม่ เอาโบสถ์เดิมไว้เป็นวิหาร ข้าพเจ้าสำคัญว่า เขาจะเชื่อ ก็วางใจ ต่อนานมา จึงทราบว่า มีผู้ถือตัวว่า เป็นช่างคนหนึ่ง เข้าไปขันรับว่า จะปั้นรูปที่หน้าบัน มิให้ผิดเพี้ยนของเดิมได้ พวกทายกกับพระสงฆ์หลงเชื่อ ก็ให้รื้อโบสถ์เดิมลง สร้างใหม่ ด้วยเห็นว่า จะเปลืองน้อย รูปภาพของเดิมก็เลยพลอยสูญ และเลยไม่มีใครชอบไปดูวัดพลับพลาชัยเหมือนแต่ก่อน เพราะภาพที่ปั้นขึ้นแทนเลวทรามรำคาญตา ไม่น่าดู ลาภพระสงฆ์วัดนั้น ก็เห็นจะพลอยตกไปด้วย

ข้อ ๓. วัดโบราณที่ทำการปฏิสังขรณ์นั้น มักมีผู้ศรัทธาสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมของโบราณ ดังเช่น สร้างพระเจดีย์ขนาดย่อมๆ ขึ้น บรรจุอัฐิธาตุของญาติวงศ์ เป็นต้น ของที่สร้างเพิ่มเติมเช่นว่านี้ ไม่ควรจะสร้างขึ้นในอุปจารใกล้ชิดกับของโบราณที่ดีงาม ด้วยอาจพาให้ของโบราณเสียสง่า และไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้สร้าง เพราะฉะนั้นควรจะให้กะที่ไว้เสียส่วนหนึ่งในบริเวณวัดนั้น สำหรับให้สร้างของใหม่ ของนั้นจะได้อยู่ถาวรสมปรารถนาของผู้สร้าง การปฏิสังขรณ์วัด ย่อมมีผู้เป็นหัวหน้าอำนวยการ และมักเป็นพระภิกษุ ขอให้เทศาภิบาลชี้แจงข้อที่ควรระวัง ให้ทราบเสียแต่ก่อนลงมือปฏิสังขรณ์ ถ้าสงสัย หรือขัดข้องอย่างไร ก็ควรรีบบอกมา ให้ราชบัณฑิตยสภาทราบ จะได้ป้องกัน หรือเกื้อหนุน ให้ทันการ ความเช่นนี้มีตัวอย่างจะยกมาแสดง เมื่อสักสองปีมาแล้ว มีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหริภุญชัย ที่เมืองลำพูน เห็นว่าแผ่นทองแดงที่หุ้มพระมหาธาตุมีชำรุดอยู่มาก จะขอลอกแผ่นทองแดงเสีย และใช้โบกปูนซีเมนต์แทน เจ้าพระยามุขมนตรี เมื่อยังเป็นพระยาราชนุกูล สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ บอกมาหารือราชบัณฑิตยสภา ห้ามไว้ทัน แผ่นทองแดงของโบราณ อันมีชื่อผู้ถวายจารึกอยู่โดยมาก จึงมิได้สูญเสีย..."

จะเห็นได้ว่า หลักการส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปกี่มากน้อย ที่ต่างกันจึงเป็นเพียงรายละเอียดที่เพิ่มขึ้น เพราะสมัยก่อนยังไม่มีวิชาการอนุรักษ์ (ศิลปกรรม/ศิลปวัฒนธรรม) ตัวอย่างที่ลอกมาเป็นอุทาหรณ์ จึงอาจเป็นเพียงข้อสังเกต และสำนึก ซึ่งเกิดจากการผูกพันกับมรดกวัฒนธรรมของท่านเหล่านั้น ซึ่งบังเอิญเหลือเกิน ที่พ้องกับแนวคิดในปัจจุบัน
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow