ทุกประเทศมีกฎหมายคุ้มครองสมบัติวัฒนธรรมด้วยกันทั้งนั้น ประเทศเรามีพระราชบัญญัติโบราณวัตถุ โบราณสถาน ฯลฯ พ.ศ. ๒๕๐๔ และบางประเทศยังลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ และทำสัญญากับบางประเทศ ป้องกันการนำเข้า-ส่งออกโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมายอีกด้วย เพราะโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานความเป็นมาของประเทศชาตินั้น กลายเป็นสินค้าซื้อขายกันของคนกลุ่มหนึ่งไปแล้ว นับวันธุรกิจประเภทนี้จะยิ่งใหญ่ขึ้น มีอิทธิพลมากขึ้น เพราะลงทุนน้อย กำไรมาก เมื่อถูกจับได้ ก็ไม่ค่อยถูกดำเนินคดี เพราะบุคลากรทางกฎหมายไม่เข้าใจผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง และเป็นคดีที่ต่างไปจากการทำร้ายร่างกายจนเลือดตกยางออก ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่า พระราชบัญญัติของเราไม่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ไม่ชี้แจงว่า สิ่งที่ต้องการคุ้มครองนั้น สำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร และไม่ระบุให้ทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันสงวนรักษาเอาไว้เหมือนกฎหมายของบางประเทศ คนทั่วไปรวมทั้งบุคลากรทางกฎหมายจำนวนหนึ่งด้วย จึงไม่เข้าใจ และสนใจกฎหมายที่ค่อนข้างพิเศษฉบับนี้
การค้าขายของเก่า...โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยทั่วไปนั้นทำได้ ตราบใดที่จดทะเบียนขออนุญาตทำการค้า และเสียค่าธรรมเนียมไม่ให้ขาดทุกปี แต่ของที่ซื้อขายนั้น ต้องพิจารณากันให้ดีว่า ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะโดยนับแห่งกฎหมายนั้น ของที่ซื้อขายกันได้ ควรจะเป็นของที่เป็นสมบัติส่วนตัว ที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษผู้สร้างขึ้นมา ไม่ใช่ของที่ลักลอบขุดมาจากสถานที่ที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน เช่น แหล่งโบราณคดี หรือโบราณสถานต่าง ๆ
ความตอนหนึ่งในมาตรา ๒๔ ของ พ.ร.บ. ๒๕๐๔ มีอยู่ว่า "...โบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ที่ซ่อนหรือทอดทิ้งอยู่ ณ ที่ใด ๆ โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าที่ซึ่งซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งไว้ จะอยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือความครอบครองบุคคลใดหรือไม่ ให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน. .."
ก็เหมือนกับแร่ธาตุนั่นเอง ที่ไม่มีใครอ้างสิทธิเป็นเจ้าของได้ นอกจากรัฐ แม้จะอยู่ใต้แผ่นดินที่มีเอกชนครอบครองสิทธิแล้วก็ตาม
แต่ในความเป็นจริง ร้านค้าของเก่าจำนวนไม่น้อย ขาย "ของหลวง" กันอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของโบราณสถาน ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันรูปเคารพ (พระพุทธรูป เทวรูป รูปประติมากรรมอื่น ๆ หรือตู้ (พระธรรม) ลายรดน้ำ ธรรมาสาน์ บานประตู จำหลัก แม้กระทั่งหอไตร หม้อไห เครื่องประดับ (ลูกปัด สร้อย กำไล ต่างหู) เครื่องมือ/อาวุธ (หอก ดาบ แหลม หลาว มีด) โดยที่ของเหล่านั้น "ไม่มีผู้ใดอ้างเป็นเจ้าของได้เลย"
เมื่อเกิดเหตุใหญ่โต ดังเช่น การขโมยทับหลังหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากปราสาทหินพนมรุ้ง ลักลอบไปขายนอกประเทศ จนต้องเจรจาขอคืนกัน กลับเป็นว่าคนที่ผิดและถูกด่าประณามมาก คือ ผู้ที่ปกป้องรักษา แต่รักษาเอาไว้ไม่ได้แต่ฝ่ายเดียว ไม่มีใครพาดพิงไปถึง "โจรปล้นอดีตของชาติ" แม้แต่คนเดียว
ทางแก้...อยู่ที่คุณธรรม ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว เพราะกฎหมายของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน แต่คุณธรรม และจริยธรรมนั้น เหมือนกันทั่วโลก
ของทุกอย่างมีประโยชน์มากน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ และความรู้ของผู้ใช้ด้วยเหมือนกัน พลอยย่อมมีค่าน้อยกว่ากรวดสำหรับไก่ฉันใด โบราณวัตถุสถานไม่ว่าจะทรงคุณค่าเท่าใด ก็เป็นของ "ไร้ค่า" ต่อคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งมักพิจารณาความสำคัญของสิ่งของตามหลักเศรษฐมิติ เพราะ "ความผูกพันทางใจ" "เกียรติภูมิ" ของประเทศ "ความภูมิใจ" ฯลฯ เป็นของที่ "วัด" ไม่ได้หรือ "นับ" ไม่ถูก จึงเข้าข่ายเป็นของ "ไร้ค่า" ไปฉันนั้น
จึงควรที่เราจะร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุของประเทศเอาไว้เสียแต่วันนี้ เพราะพรุ่งนี้อาจสายไปเสียแล้ว
ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างประเทศไทย แสดงว่าได้ผ่านการพัฒนามามากมาย หากระดมสติปัญญาช่วยกันจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะเป็นประเทศที่มั่งคั่งกว่านี้อีกมากทีเดียว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รับสั่งไว้ในปาฐกถา เรื่อง สงวนของโบราณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ตอนหนึ่งว่า
"...เมื่อก่อนจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ชาวต่างประเทศมักกล่าวกันว่า ในประเทศสยามนี้ ที่จริงของดีๆ มีมาก แต่ชาวสยามมักชอบเอาไว้เป็นของตนเสียเอง ไม่รวบรวมเป็นของบ้านเมือง เหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ในยุโรป..."