Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สารเคมีจากการเผาไหม้ของบุหรี่

Posted By Plookpedia | 23 มิ.ย. 60
2,417 Views

  Favorite

สารเคมีจากการเผาไหม้ของบุหรี่

      ในบุหรี่ ๑ มวนประกอบด้วย ใบยาสูบ กระดาษที่ใช้มวน และสารเคมีหลายร้อยชนิด ที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรสเพื่อลดการระคายเคืองและเพื่อให้บุหรี่น่าสูบ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า ๔,๐๐๐ ชนิด ซึ่งสารหลายร้อยชนิดมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายและมีสาร ๔๓ ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง

 

พิษภัยของบุหรี่

 

      ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมีที่มีอยู่ในใบยาสูบตามธรรมชาติ สารเคมีที่ใช้ผสมเพื่อปรุงแต่งกลิ่นและรสในกระบวนการผลิตบุหรี่ และกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่ ควันบุหรี่แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ควันที่สูดเข้าร่างกายกับควันที่ลอยอยู่ในอากาศ  ในช่วงเวลาที่ไม่มีการสูดควันควันที่สูดเข้าสู่ร่างกายมีความเข้มข้นมากประกอบด้วยส่วนที่เป็นละอองสารเคมีขนาดของละอองจะแตกต่างกันระหว่าง ๐.๑ และ ๑.๐ ไมโครเมตรและส่วนที่เป็นก๊าซ คือ ไนโตรเจน (ร้อยละ ๕๐ - ๗๐) ออกซิเจน (ร้อยละ ๑๐ - ๑๕) คาร์บอนไดออกไซด์ (ร้อยละ ๑๐ - ๑๕) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (ร้อยละ ๓ - ๖) ซึ่งเมื่อมีการเผาไหม้จะก่อให้เกิดสารต่าง ๆ อีก กว่า ๔,๐๐๐ ชนิด ดังแสดงในตารางที่ ๑ 
 

ตารางสารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้บุหรี่

สารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้บุหรี่
จำนวนของสาร/ชนิด
อะไมด์ (Amides) ไอไมด์ (Imides)
๒๓๗
กรดคาร์โบไซลิก (Carboxylic acids)
๒๒๗
แลกโทน (Lactones)
๑๕๐
เอสเตอร์ (Esters)
๔๗๔
แอลดีไฮด์ (Aldehydes)
๑๐๘
คีโทน (Ketones)
๕๒๑
แอลกอฮอล์ (Alcohols)
๓๗๙
ฟีนอล (Phenols)
๒๘๒
อะไมน์ (Amines)
๑๙๖
เอ็น-เฮเทอโรไซคลิก (N-Heterocyclics)
๙๒๑
ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbons)
๗๕๕
ไนไทรส์ (Nitriles)
๑๐๖
แอนไฮไดรส์ (Anhydrides)
๑๑
คาร์โบไฮไดรด์ (Carbohydrides)
๔๒
อีเทอร์ (Ethers)
๓๑๑
รวม
๔,๗๒๐

ที่มา : Dube and Green, U.S. Department of Health Human Services. Cardiovascular Disease : A Report of the Surgeon General, 1983, P. 206. 


      ความร้อนของปลายมวนบุหรี่ขณะที่สูดควัน คือ ๙๐๐ องศาเซลเซียส และ ๖๐๐ องศาเซลเซียส ขณะที่ไม่มีการสูดควันซึ่งความร้อนระดับนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสารพิษต่าง ๆ มากมายจากการเผาไหม้ทั้งในควันที่สูดเข้าไปและควันที่ลอยอยู่ในอากาศ  เนื่องจากควันที่ลอยอยู่ในอากาศจะเจือจางในอากาศและจากความร้อนรอบนอกที่ต่ำกว่าทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วละอองสารของควันจึงมีขนาดเล็กกว่าและระหว่างที่ควันลอยอยู่ในอากาศจะมีออกซิเจนมากกว่าจึงทำให้สารบางชนิดเกิดปฏิกิริยากลายเป็นสารชนิดที่มีพิษมากขึ้นได้ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์และเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนมากขึ้นก็จะจับตัวกับออกซิเจนกลายเป็นไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายมากขึ้น

 

บุหรี่

 

ในควันบุหรี่ มีสารพิษดังนี้

นิโคติน 

      นิโคตินเป็นสารพิษอย่างแรงสามารถดูดซึมเข้าทางผิวหนังและเยื่อบุร่างกายได้และเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด  สารนี้ในระยะแรกออกฤทธิ์กระตุ้นสมองและระบบประสาทส่วนกลางทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจและชีพจรเต้นเร็วขึ้นโดยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง ๓๐ ครั้งต่อนาที ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติและกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้  แต่ในระยะต่อมาจะมีฤทธิ์กดระบบประสาท นิโคติน และสารเคมีอื่น ๆ ที่ทำให้ไขมันชนิดไม่ดีในเลือดสูงขึ้นทำให้หลอดโลหิตตีบลงซึ่งทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้นได้ 

ทาร์หรือน้ำมันดิน 

      ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งโดยร้อยละ ๕๐ ของสารทาร์จะจับอยู่ที่ปอดเมื่อผู้สูบบุหรี่หายใจสูดอากาศที่มีฝุ่นละอองต่าง ๆ ปนอยู่เข้าไป สารทาร์ที่ปอดก็จะรวมตัวกับฝุ่นละอองที่สูดเข้าไปนั้นแล้วจับตัวสะสมอยู่ในถุงลมปอดทำให้เกิดการระคายเคืองอันเป็นสาเหตุของการไอและมีเสมหะและก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพองในระยะยาว 

คาร์บอนไดซัลไฟด์ (carbon disulfide) 

      ทำให้เกิดโรคผนังเส้นเลือดแดงรองหนาและแข็งขึ้น 

คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) 

      เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ชนิดเดียวกับที่พ่นออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์  ก๊าซนี้จะขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ   ๑๐ - ๑๕ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จัด ร่างกายต้องสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นทำให้เลือดข้นและหนืดมากขึ้นหัวใจต้องเต้นเร็วขึ้นและทำงานมากขึ้นเพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้เพียงพอ ถ้าก๊าซนี้มีจำนวนมากจะทำให้เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน 

ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) 

      ก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน เป็นก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม  สารไนเทรตในบุหรี่ทำให้เกิดสารนี้ สารนี้เป็นตัวสกัดกั้นเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการหายใจหลายตัวทำให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานที่กล้ามเนื้อหัวใจและที่ผนังหลอดเลือด 

ไนโตรเจนไดออกไซด์ (nitrogen dioxide) 

      เป็นสาเหตุของโรคถุงลมปอดโป่งพองโดยจะไปทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม 

ไนโตรเจนออกไซด์ (nitrogen oxide) 

      ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใจสั่น 

แอมโมเนีย (ammonia) 

      ใช้ในการปรุงแต่งรสชาติและช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลางเร็วขึ้นมีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ 

ไซยาไนด์ (cyanide) 

      สารนี้ถ้าได้รับในปริมาณมากจะทำให้หัวใจเป็นอัมพาตและหยุดหายใจได้ ปกติใช้เป็นยาเบื่อหนู 

เบนซีน (benzene) 

      พบในยาฆ่าแมลงอาจติดมากับใบยาสู เป็นสารก่อมะเร็ง 

ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) 

      ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อดวงตา เยื่อบุจมูก และทางเดินหายใจ เป็นสารก่อมะเร็งอย่างสูง 

๑, ๓ บิวทาไดอีน (1, 3 butadiene) 

      เป็นสารที่ทำให้ตา โพรงจมูก คอ และปอดเกิดความระคายเคืองและเป็นสาเหตุของอาการทางระบบประสาทหลายอย่าง เช่น ทำให้สายตาพร่ามัว เมื่อยล้าร่างกาย และปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจและเป็นสารก่อมะเร็ง 

อะซีทาลดีไฮด์ (acetaldehyde) 

      ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว ไอ ถุงลมปอดบวม และเป็นเนื้อตาย 

อะโครลีน (acrolein) 

      เป็นสารพิษที่ร้ายแรงต่อมนุษย์มีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อปอดทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนระคายเคืองและบวมผู้สูบจะรู้สึกหายใจแน่นหน้าอกหายใจไม่โล่ง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อดวงตาอีกด้วย 

อะไครโลไนไทรล์ (acrylonitrile) 

      ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างอ่อน ปลายมือปลายเท้าซีดเขียว เม็ดเลือดขาวลดลง ระคายเคืองต่อไต เยื่อบุตาขาวมีสีเหลืองเล็กน้อย และหายใจไม่สม่ำเสมอได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการแสดงต่อไปนี้ คือ เยื่อบุตา จมูก และปอดระคายเคือง ปวดศีรษะ มึนเวียนศีรษะ คลื่นไส้ รู้สึกไม่ค่อยสบาย และหงุดหงิด อาจก่อให้เกิดมะเร็ง 

อะโรแมติก อะไมน์-๔ อะมิโน ไบฟีนิล (aromatic amines-4-amino-biphenyl) 

      เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วง เซื่องซึม ปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำ ปัสสาวะปวดแสบปวดร้อนและอาจมีเลือดปน เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ 

แอสเบสทอส (asbestos) 

      ก่อให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุหน้าท้อง 

เบนโซ (อะ) ไพรีน (benzo [a] pyrene) 

      เป็นสารก่อมะเร็งอย่างแรง 

เบนซิดีน (benzidine) 

      ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 

บิส (คลอโรเมทิล) อีเทอร์ (bis (chloromethyl) ether) 

      ก่อให้เกิดมะเร็งปอด 

บิวไทราลดีไฮด์ (butyraldehyde) 

      มีผลต่อการหายใจและมีการศึกษาในสัตว์ทดลองว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของระบบสืบพันธุ์ 

แคดเมียม (cadmium) 

      การเข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดมก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการรับประทาน การได้รับสารเป็นระยะเวลานานแม้ว่าจะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำอันตรายต่อไต ตับ และสมอง และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดและอัณฑะ 

สารตะกั่ว (lead) 

      เป็นสารโลหะที่ทำลายสมอง ไต ระบบประสาท และเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้โดยเฉพาะในเด็กจะดูดซึมได้ดีทำให้ไปยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง ความเฉลียวฉลาดจะช้ากว่าเด็กปกติการรับรู้สั้น 

เอ็ม พี และ โอ ครีซอล (m, p and o-Cresol) โครมาริน (cromarin) โครโทนาลดีไฮด์ (crotonaldehyde) และ ดีดีที (DDT)

      ทั้งหมดนี้เป็นสารก่อมะเร็ง 

สารปรอท (mercury) 

      เป็นสารโลหะที่เป็นพิษต่อสมองทำให้เกิดอาการสั่น ความจำเสื่อม และโรคไต 

เมทิล เอทิล คีโทน (methyl ethyl ketone) 

      ทำให้ตา จมูก และคอระคายเคือง และกดระบบประสาทส่วนกลาง 

นิกเกิล (nickel) 

      ทำให้ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อง่ายขึ้น 

ไนทริกออกไซด์ (nitric oxide) 

      มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจถ้าได้รับในปริมาณมากจะทำให้ปอดหยุดทำงาน สารนี้มีผลทำให้เกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง และหอบหืด ในเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ปี 

พีไฮโดรควิโนน (p-Hydroquinone) 

      ทำให้ตาระคายเคืองไปจนถึงเกิดการจับตัวกับเยื่อบุตาขาวและตาขาว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหนาและความโค้งของตาขาวทำให้สายตาพร่ามัว 

ฟีนอล (phenol) 

      เป็นสารที่ทำให้ผิวหนัง ดวงตา และเยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ระคายเคืองอย่างแรง 

พอโลเนียม-๒๑๐ (polonium-210) 

      เป็นสารกัมมันตรังสีก่อให้เกิดมะเร็ง 

ควิโนลีน (quinoline) 

      ทำให้ระคายเคืองต่อดวงตา จมูก และคอ และอาจทำให้ปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ และคลื่นไส้ นอกจากนี้ยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย 

เซเลเนียม (selenium) 

      ไฮโดรเจนเซเลเนียมที่ได้รับจากการสูดเข้าสู่ร่างกายมีพิษมากที่สุดในสารตระกูลเซเลเนียม ทำอันตรายต่อทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจระคายเคือง เยื่อบุปอดบวม หลอดลมอักเสบ และปอดบวม 

สไตรีน (styrene) 

      มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย และซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบประสาทส่วนปลายและต่อการทำหน้าที่ของเอนไซม์ที่เกี่ยวกับไตและโลหิตอีกด้วย 

โทลูอีน (toluene) 

      สารนี้เมื่อได้รับในปริมาณมากจะกดระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการเดินไม่มั่นคง มือสั่น สมองเหี่ยว พูดไม่ชัด หูอื้อ ตาพร่า ถ้าสูดเข้าร่างกายในระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อดวงตา ทางเดินหายใจ เจ็บคอ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และนอนไม่หลับ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow