สารต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในบุหรี่และในควันบุหรี่ที่กล่าวมาแล้ว เมื่อผู้สูบบุหรี่สูดเข้าสู่ร่างกายพร้อม ๆ กัน จะก่อให้เกิดพิษที่ทำอันตรายต่อร่างกายซึ่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้เกิดอาการดังนี้
เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ หลายชนิด ทำให้อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นเป็น ๒ เท่า อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคถุงลมโป่งพองสูงขึ้นเป็น ๖ เท่า และอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็น ๑๐ เท่า การสูบบุหรี่ทำให้ผู้สูบอายุสั้นลงโดยเฉลี่ย ๕ - ๘ ปี ผู้สูบบุหรี่ที่เริ่มสูบตั้งแต่วัยรุ่นและไม่หยุดสูบร้อยละ ๕๐ จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้จะเสียชีวิตในวัยกลางคนก่อนอายุ ๗๐ ปี
โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งช่องปาก โพรงจมูก กล่องเสียง หลอดลม ปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ปากมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุที่การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะหลาย ๆ แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สารก่อมะเร็งในควันบุหรี่สัมผัสกับอวัยวะโดยตรง เช่น กล่องเสียงและปอด หรือสารก่อมะเร็งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไหลเวียนไปตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับอ่อนและกระเพาะปัสสาวะ โดยในภาพรวมพบว่าประมาณร้อยละ ๓๐ ของมะเร็งที่เกิดในคนมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
มะเร็งปอด
ร้อยละ ๙๐ ของมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นมะเร็งปอดประมาณร้อยละ ๓๐ เป็นผลจากการที่ได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ มีการศึกษาพบว่าผู้สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง ๕๐ เท่า เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่รับควันบุหรี่มากที่สุดความเสี่ยงต่อพิษภัยของควันบุหรี่ขึ้นอยู่กับปริมาณบุหรี่ที่สูบและวิธีการสูดควันบุหรี่ การเกิดโรคมะเร็งปอดระยะแรกจะไม่มีอาการเมื่อใดที่มีอาการแสดงว่าโรคเป็นมากแล้วอาการที่พบ คือ ไอเรื้อรัง เสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการร่วมของโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิดจึงมักทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้าและการวินิจฉัยโรคล่าช้า
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดในระยะที่เป็นมากแล้วจะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดกระดูกซี่โครง และไหปลาร้าหรือสะบ้า อาจมีอาการหอบเหนื่อยบวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบน ปวดศีรษะ ซึม กลืนอาหารลำบาก ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดจะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเริ่มมีอาการเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน โดยร้อยละ ๘๐ จะเสียชีวิตภายใน ๑ ปี และถึงแม้จะให้การรักษาอย่างดีก็มีอัตราการรอดชีวิตเพียงร้อยละ ๒ - ๕ เท่านั้น
โรคหัวใจ
ขณะนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยโดยส่วนใหญ่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญ ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสหัวใจวายตายในอายุ ๓๐ - ๔๐ ปี สูงกว่าผู้ไม่สูบถึง ๕ เท่า สารพิษในควันบุหรี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกายโดยที่รูหลอดเลือดค่อย ๆ ตีบลง จากการหนาตัวของผนังหลอดเลือดจนเกิดการตีบตันของเส้นเลือดเป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลงจึงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือดได้ เมื่อหลอดเลือดตีบจนมีผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังและถึงขั้นหัวใจวายได้ในที่สุด
โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุที่สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เกิดจากเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเสื่อมซึ่งควันบุหรี่มีสารที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงการทำงานจึงเสื่อมลง นอกจากนี้ยังพบตัวอสุจิในผู้สูบบุหรี่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติมากกว่าในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมทั้งจำนวนอสุจิลดลงด้วย ในขณะเดียวกันการเจ็บป่วยอื่น ๆ ของผู้ที่สูบบุหรี่ก็ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้เพราะโรคที่เกิดล้วนเป็นโรคเรื้อรังทำให้เหนื่อยหอบรักษาไม่หาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความกังวลกับโรคที่เป็นและมีผู้ป่วยหลายรายที่เกิดอาการหอบขณะมีเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดความกลัวไม่กล้าที่จะมีเพศสัมพันธ์อีก
โรคหลอดเลือดในสมองตีบ
การเสื่อมของหลอดเลือดในสมอง มีกลไกในการเกิดเหมือนกับที่เกิดกับเส้นเลือดหัวใจและอวัยวะอื่นของร่างกายผู้ป่วยอาจเป็นอัมพาตจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีความจำเสื่อมลง
ควันบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมากและทำให้เนื้อปอดเสื่อมสมรรถภาพลง เมื่อมีการสะสมของควันบุหรี่ในปอดอย่างต่อเนื่องโรคที่พบ คือ ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นหวัดและหลอดลมอักเสบง่าย และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ
โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่เนื้อปอดค่อย ๆ เสื่อมสมรรถภาพจากการได้รับควันบุหรี่ ตามปกติแล้วพื้นที่ในปอดจะมีถุงลมเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มทั่วปอดเพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อในปอดและในถุงลมให้ฉีกขาดทีละน้อย ๆ และรวมตัวกลายเป็นถุงลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดโรคถุงลมโป่งพองมีผลทำให้พื้นที่ผิวเนื้อเยื่อภายในปอดซึ่งเป็นที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายมีขนาดเล็กลงจึงต้องหายใจเร็วขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพียงพอ โรคถุงลมโป่งพองนี้ในระยะท้าย ๆ ของโรคจะทำให้ผู้ป่วยทรมานมากเนื่องจากเหนื่อยจนทำอะไรไม่ได้ต้องนอนอยู่กับที่และอาจต้องได้รับออกซิเจนจากถังตลอดเวลา จากรายงานการศึกษาพบว่าร้อยละ ๗๐ ของผู้ป่วยที่อาการอยู่ในระยะสุดท้ายจะเสียชีวิตภายใน ๑๐ ปี โดยมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลาจนกว่าจะเสียชีวิต
มารดาที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์จากผลของควันบุหรี่ที่มีต่อรก เช่น คลอดก่อนกำหนด แท้งง่าย และมีบุตรยากรวมทั้งยังทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย อัตราตายทารกแรกเกิดสูง และภาวะเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของทารกเกิดได้มาก นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายอีกด้วยเนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่กระตุ้นกระเพาะอาหารให้มีการหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ
ควันบุหรี่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ได้ ดังนี้
ได้แก่
ค่าใช้จ่ายในการสูบบุหรี่
ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีค่าใช้จ่ายประมาณวันละ ๑๐.๘ บาทต่อคน โดยผู้ชายมีรายจ่ายสูงกว่าผู้หญิงเกือบเท่าตัวคือ ประมาณ ๑๑.๐ บาท และผู้หญิงประมาณ ๖.๗ บาท ถึงแม้รายจ่ายต่อคนต่อวันจะไม่สูงมากนัก แต่ถ้าพิจารณาใน พ.ศ. ๒๕๔๔ มีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน ๑๐,๕๕๗,๑๐๐ คน ดังนั้นผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายรวมกันถึง ๔ หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลกเกี่ยวกับรายได้และความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ พบว่าในทุก ๆ ๑,๐๐๐ ตัน ของยาสูบที่ผลิตออกมาจะทำรายได้หรือผลกำไรสุทธิให้แก่ผู้ผลิต ๖๕ ล้านบาท แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๖๕๐ คน และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ๗๔๕ ล้านบาท ดังนั้นความสูญเสียจากยาสูบเพียง ๑,๐๐๐ ตัน จึงมากกว่ารายรับถึง ๖๘๐ ล้านบาท (๗๔๕ - ๖๕ ล้านบาท) ขณะนี้ทั่วโลกผลิตยาสูบได้รวมกันปีละ ๗,๓๐๐,๐๐๐ ตัน จึงคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของโลกถึงปีละประมาณ ๕ ล้านล้านบาท ธนาคารโลกได้สรุปว่าการลงทุนเรื่องการป้องกันไม่ให้ผู้คนติดบุหรี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในการลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนรองจากการฉีดวัคซีนให้แก่ทารกแรกเกิด
จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจเหล่านี้ทำให้ปัจจุบันธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียได้งดการให้สินเชื่อแก่ประเทศที่ขอกู้ไปลงทุนเรื่องยาสูบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การส่งออก หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่สนับสนุนการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการควบคุมการสูบบุหรี่
ได้แก่
ได้แก่