Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม

Posted By Plookpedia | 03 เม.ย. 60
8,938 Views

  Favorite

สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาพท้องที่ และความวิปริตผันแปรของธรรมชาติ แต่ในบางท้องที่ การกระทำของมนุษย์ ก็มีส่วนสำคัญ ในการทำให้ภาวะการเกิดอุทกภัยนั้น มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังต่อไปนี้

๑. น้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก 

น้ำฝน เป็นต้นกำเนิดของน้ำที่ปรากฏบนผิวโลก เมื่อฝนตกลงมาบนผิวดิน จะมีน้ำบางส่วนขังอยู่บนผิวดิน และบางส่วน ซึมลงไปสะสมอยู่ในดิน ครั้นเมื่อมีฝนตกมากขึ้น น้ำจะไม่สามารถซึมลงไปในดิน หรือขังอยู่บนผิวดินได้หมด จึงเกิดน้ำไหลนองไปบนผิวดิน ซึ่งรวมแล้วจะมีปริมาณมากหรือน้อย สัมพันธ์กับปริมาณ และพฤติกรรมของฝนที่ตกเสมอ จากนั้น น้ำจะไหลลงสู่ที่ลุ่มต่ำ ลำน้ำลำธาร แล้วไหลลงสู่แม่น้ำ และทะเลต่อไป

 

แผนที่ประเทศไทยแสดงทิศทางลมมรสุมและทางเดินพายุที่พัดผ่านประเทศไทยในเดือนต่างๆ

 

ฝนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้มา จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากพายุหมุนที่ เกิดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพายุจร ที่พัดมาทางทิศตะวันออกของประเทศ ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชัน เป็นหลัก ตลอดจนฝนที่นำมาโดยพายุหมุน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ในอ่าวเบงกอลแล้วพัดผ่านประเทศไทย พายุที่ นำฝนปริมาณมากเข้ามาตกตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย จนเกิดน้ำท่วมใหญ่และอุทกภัย ในแต่ละปีนั้นจึงได้แก่พายุจรที่พัดมาทางทิศตะวันออกผ่านประเทศไทย และพายุหมุนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ในอ่าวเบงกอลนั่นเอง

ฝนที่เกิดจากพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น มักเริ่มตกในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ เดือนมิถุนายน ตามจำนวนพายุ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในทะเลจีนใต้ ครั้งถึงเดือนกรกฎาคม แนวทางของพายุมักเคลื่อนไปอยู่ในแนวเหนือประเทศไทย พอถึงเดือนสิงหาคมพายุจรนี้ จะมีแนวพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยอีก แล้วมีแนวร่นต่ำลงมาทางภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตลอดจนภาคอื่นๆ ได้รับฝนตกหนัก เนื่องจาก อิทธิพลของพายุจรแต่ละประเภทดังกล่าวแล้ว เกิดน้ำไหลบ่าบนผิวดิน และไหลลงสู่ลำธารและแม่น้ำ มีปริมาณมาก จนบางปีถึงกับเกิดน้ำท่วมใหญ่ และเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในท้องที่ต่างๆ

 

พื้นที่ลุ่มน้ำถูกบุกรุกถากถาง

 

 

ส่วนพายุหมุนจากอ่าวเบงกอลจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และพัดผ่านเข้ามาตามแนวทิศตะวันตกของประเทศไทย ในบางปี โดยนำฝนมาตก ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสะแกกรัง ฯลฯ หากปีใดพายุดังกล่าวมีกำลังแรง ก็จะนำฝนมาตกตามแนวทาง ที่พายุพัดผ่าน และทำให้เกิดอุทกภัยในระยะช่วงต้นฤดูฝนได้

 

สภาพของฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยทั่วไปจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อจำนวนน้ำที่เกิดขึ้น ในลำธารและแม่น้ำ ปริมาณจะน้อยหรือมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับความเข้มของฝนที่ตก ระยะเวลาที่ฝนตก และการแผ่กระจายของฝนที่ตก ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังรายละเอียดซึ่งได้กล่าวแล้ว ในเรื่องการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร

๒. ลักษณะและส่วนประกอบของพื้นที่ลุ่มน้ำ 

๒.๑ รูปร่างของพื้นที่ลุ่มน้ำ 

เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดน้ำท่วมมากหรือน้อยแตกต่างกัน ดังนี้ 

๑) พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีรูปร่างคล้าย รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่า "ลุ่มน้ำรูปขนนก" จะ เกิดปัญหาน้ำท่วมหรืออุทกภัยในบริเวณที่ลุ่ม ไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะน้ำฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ของแต่ละแควสาขาจะทยอยไหลลงสู่ลำน้ำสาย ใหญ่ในเวลาที่ไม่พร้อมกัน

๒) พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีรูปร่างค่อน ข้างกลม หรือเป็นรูปพัดเรียกว่า "ลุ่มน้ำรูปกลม" จะมีลำน้ำสาขาไหลลงสู่ลำน้ำสายใหญ่ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง จากโดยรอบเป็นรัศมีของวงกลม พื้นที่ลุ่มน้ำลักษณะนี้ น้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ มักจะไหลมารวมกันที่ลำน้ำสายใหญ่ ในเวลาใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่บริเวณ ลำน้ำสาขาบรรจบกันเสมอ 

๓) พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มน้ำสองส่วนรวมกัน เรียกว่า "ลุ่มน้ำรูปขนาน" มักจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ตอนล่าง จากจุดบรรจบของพื้นที่ลุ่มน้ำสองส่วนนั้น

 

แผนภาพแสดงพื้นที่ลุ่มน้ำรูปร่างต่างๆ

 

๒.๒ สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำ 

ขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำ ความยาว และความกว้างของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยเฉลี่ย ระดับความสูง ความลาดชันของลำน้ำ และความลาดชัน ของพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งแนวทิศทางของพื้นที่ลุ่มน้ำ ล้วนมีอิทธิพลโดยตรง ต่อการเกิดน้ำท่า และการเกิดน้ำท่วมตามที่ลุ่มต่างๆ เมื่อมีฝนตกหนักเสมอ 

๒.๓ ชนิดของดิน สภาพพืชที่ขึ้น ปกคลุมพื้นที่และความเสื่อมโทรมของพื้นที่ลุ่มน้ำ 

ชนิดและขนาดของเม็ดดิน ลักษณะการเกาะรวมตัว และการทับถมของดินตามธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่จะทำให้การไหลซึมของน้ำ ลงไปในดิน มีปริมาณมากหรือน้อยแตกต่างกัน เช่น ดินทรายและกรวดจะสามารถรับน้ำให้ซึมลงไปในดิน ได้มากกว่าดิน ที่มีเนื้อละเอียดประเภทดินเหนียว ซึ่งยอมให้น้ำซึมผ่านผิวดินลงไปได้น้อยมาก ดังนั้น เมื่อฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่ผิวดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว น้ำฝนเกือบทั้งหมดก็จะไหลไปบนผิวดิน ลงสู่ที่ต่ำ ลำธาร และแม่น้ำทันที และเป็นเหตุทำให้เกิดอุทกภัยขึ้นได้โดยง่าย

ส่วนพืชที่ปกคลุมดินและสภาพการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาน้ำท่วม ตามท้องที่ต่างๆ ไม่น้อยเช่นเดียวกัน เช่น การบุกรุกแผ้ว ถางป่าไม้อันเป็นทรัพยากรหลักในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วไป โดย ปราศจากการควบคุม ย่อมทำให้ผิวดินส่วนใหญ่ ขาดสิ่งปกคลุมในการช่วยดูดซึมน้ำ หรืออาจทำให้ผิวดินนั้นแน่นขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เกิดน้ำไหล บ่าไปบนผิวดินอย่างรวดเร็ว จนกัดเซาะพังทลาย ดินผิวหน้าให้เสื่อมคุณภาพ และอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน ในบริเวณพื้นที่ลาดชันตอน ล่างได้ 

๓. น้ำทะเลหนุน 

โดยทั่วไป พื้นที่ราบลุ่มตามบริเวณสองฝั่งแม่น้ำที่อยู่ห่างจากปากอ่าว หรือทะเลไม่ไกลนัก ระดับน้ำในแม่น้ำบริเวณนั้น มักจะอยู่ในอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลหนุนตลอดเวลา เมื่อน้ำที่ไหลหลากลงมาตามแม่น้ำคราวใด มีปริมาณมาก และตรงกับฤดูกาล หรือช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมและอุทกภัย แก่พื้นที่ทำการเกษตร และในเขตที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรงเสมอมา

 

ในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน พื้นที่ชายทะเลที่มีระดับน้ำสูงใกล้ตลิ่ง จะเกิดภาวะน้ำท่วมเสียหาย (ในภาพคือ บริเวณถนนธนบุรี-ปากท่อ มองเห็นคันดินกั้นน้ำ ขนานไปกับถนน)

 

๔. การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม 

พื้นที่หลายแห่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมของพื้นที่บริเวณนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิม 

๔.๑ การขยายตัวของเขตชุมชน และการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ 

พื้นที่ส่วนใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ที่ราษฎรใช้ทำการเกษตรนั้น ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่ม มีแอ่งน้ำ หนอง บึง และลำคลองธรรมชาติ เพื่อรับน้ำเข้า และระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างสะดวก หรือมีความสมดุลตามสภาพธรรมชาติดี โดยไม่มีน้ำท่วมขัง ครั้นเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม หรือที่อยู่อาศัย จึงมีการถมดินปรับพื้นที่ สร้างถนน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขยายตัวออกไปเป็นบริเวณกว้าง เป็นเหตุให้แอ่งน้ำ หนอง บึง และลำคลองธรรมชาติทั้งหลาย ต้องถูกทำลายหมดไป และมูลเหตุสำคัญก็คือ ภายในเขตชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่หลายแห่ง มักไม่ได้สร้างระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพขึ้นแทน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่มีฝนตกหนัก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังนาน และความเสียหายย่อมบังเกิดติดตามมา

๔.๒ แผ่นดินทรุด 

พื้นที่ในเขตเมือง หรือชุมชน ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนั้น มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่เป็นประจำ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวิธีการแก้ไข ด้วยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภค และเพื่อการอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมาก ในแต่ละปี วิธีการดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้แรงดันของน้ำในแหล่งน้ำบาดาลที่ระดับลึกนั้น มีค่าลดต่ำลงมาก จากนั้นน้ำในชั้นดิน ซึ่งทับอยู่บนชั้นกรวดทรายที่เป็นแหล่งน้ำบาดาล จะถ่ายเทไหลเข้าไปในชั้นกรวดทรายด้านล่างตามธรรมชาติ เมื่อน้ำในช่องว่างของดินสูญหายไปมากขึ้นๆ ชั้นดินดังกล่าวจะค่อยๆ ยุบตัวลงทีละน้อย จนเกิดแผ่นดินทรุด ทำให้ผิวดินเป็นแอ่ง มีระดับต่ำกว่าปกติในบริเวณกว้าง เช่น พื้นที่หลายแห่งในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังนาน หลังจากเกิดฝนตกหนัก เพราะการระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ไม่ สะดวกเหมือนแต่ก่อน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow