วิธีการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม
วิธีการป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วม มีอยู่หลายวิธี โดยแต่ละวิธี จะมีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ ความสามารถในการป้องกัน หรือบรรเทาน้ำท่วม การส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม และธรรมชาติ ตลอดจนค่าลงทุน และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณา และศึกษารายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวให้รอบคอบเสียก่อน
วิธีการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
๑. การก่อสร้างคันกั้นน้ำเลียบลำน้ำ
เป็นวิธีการป้องกันน้ำท่วมที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดความสูงไม่มากนัก ให้มีแนวขนานกับลำน้ำ และอยู่ห่างจากขอบตลิ่งเข้าไปเป็นระยะพอประมาณ เพื่อกั้นน้ำที่มีระดับสูงกว่าตลิ่ง ไม่ให้ไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่ต่างๆ ตามที่ต้องการ
การป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการก่อสร้าง คันกั้นน้ำเลียบลำน้ำ จึงนับเป็นวิธีการป้องกันน้ำ มิให้ไหลล้นตลิ่งออกไปท่วมพื้นที่ ให้ได้รับความเสียหายโดยตรง เหมือนกับการเสริมสร้างขอบ ตลิ่งของลำน้ำในบริเวณนั้นให้มีระดับความสูง มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มเนื้อที่หน้าตัดของลำน้ำ ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะระบายน้ำไหลหลากจำนวน มาก ให้ไหลผ่านพื้นที่บริเวณนั้นไปโดยไม่ท่วม พื้นที่ดังกล่าวให้ได้รับความเสียหายเช่นแต่ก่อน
ในการวางโครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำ มีหลักเกณฑ์ทางวิชาการที่สมควรพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสม ดังนี้
๑.๑ ความสูงของคันกั้นน้ำ
คันกั้นน้ำที่สร้างจะต้องมีระดับหลังคันสูงพ้นระดับน้ำท่วมสูงสุด ซึ่งคาดว่า จะเกิดขึ้นตามรอบปีที่กำหนดในการออกแบบเสมอ สำหรับในกรณีที่มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำเลียบตามแนวสองฝั่งลำน้ำ ขนาดความสูง และระยะห่างของคันกั้นน้ำที่บริเวณสองฝั่งลำน้ำ จะต้องมีการพิจารณาร่วมกัน ให้มีความเหมาะสมในด้านต่างๆ กล่าวคือ ในกรณีก่อสร้างคันกั้นน้ำ เลียบไปตามแนวสองฝั่งลำน้ำ คันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงไม่มาก จะต้องสร้างให้มีแนวที่ห่างจากตัวตลิ่งของลำน้ำเข้าไปมากๆ โดยให้มีพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม ตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำเป็นบริเวณกว้าง มากกว่าการก่อสร้างคันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงมาก ซึ่งสร้างอยู่ตามแนวใกล้ขอบตลิ่ง ส่วนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และค่าดูแลรักษา คันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงมาก ย่อมจะเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง รวมทั้งค่าดูแลรักษา มากกว่าคันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงไม่มากนัก ดังนั้น ในการวางโครงการ จึงต้องมีการพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจศาสตร์ ร่วมกับทางด้านวิศวกรรม เพื่อเปรียบเทียบถึงค่าลงทุนในการก่อสร้าง กับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จากการป้องกันพื้นที่ขอบตลิ่ง ในกรณีก่อสร้างคันกั้นน้ำ ซึ่งมีขนาดความสูงแตกต่างกันด้วย เพื่อพิจารณากำหนดขนาดความสูง และแนวคันกั้นน้ำได้อย่างเหมาะสม
๑.๒ ขนาดของคันกั้นน้ำ
คันกั้นน้ำ ส่วนใหญ่จะก่อสร้างด้วยดินถมบดอัดแน่น โดยมีรูปร่างลักษณะเหมือนกับเขื่อนดิน แต่คันกั้นน้ำจะทำหน้าที่กักกั้นน้ำอยู่เป็นครั้งคราว จึงมีความแตกต่างไปจากเขื่อนดินที่ต้องกักกั้นน้ำไว้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ คันกั้นน้ำจึงมีลักษณะคล้ายกับคันดินถนนทั่วไป ที่ทำหน้าที่กักกั้นน้ำไว้ด้วยเป็นครั้งคราวนั่นเอง
ในการออกแบบเพื่อกำหนดขนาดและ รูปร่างของคันกั้นน้ำ มีหลักเกณฑ์โดยทั่วไปว่า จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของตัวคันกั้นน้ำ เพื่อให้มีสภาพคงทนใช้งานได้นานปี ตัวคันกั้นน้ำ จะต้องมีขนาดและความเอียงลาดของคันดินทั้งสองด้าน ที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง ในการทรงตัวอยู่ ได้เสมอ โดยไม่เลื่อนทลายทั้งในช่วงเวลาที่ทำ การกักกั้นน้ำและในขณะที่น้ำมีระดับลดต่ำลง อย่างรวดเร็ว ขนาดของคันกั้นน้ำที่มีความมั่นคง แข็งแรงเพียงพอนั้น โดยทั่วไปควรมีความลาดเท ในอัตราส่วน ตั้ง:ราบ = ๑:๓ สำหรับลาดคัน ด้านที่กั้นน้ำ และตั้ง:ราบ = ๑:๒.๕ สำหรับ ลาดคันอีกด้านหนึ่ง ส่วนความกว้างของหลัง คันกั้นน้ำในกรณีให้รถยนต์วิ่งได้ควรมีขนาดกว้าง ไม่น้อยกว่า ๔.๐๐ เมตร แต่สามารถลดขนาด ความกว้างให้เหลือเพียง ๒.๕ เมตร ได้ เมื่อไม่ ต้องการใช้หลังคันเป็นทางรถวิ่ง
๑.๓ ระบบระบายน้ำภายในพื้นที่ หลังคันกั้นน้ำ
เนื่องด้วยคันกั้นน้ำที่ก่อสร้างมักจะตัดผ่านร่องน้ำ และทางน้ำต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างท่อระบายน้ำ หรือประตูระบายน้ำ เพื่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้สะดวก พร้อมกับติดตั้งบานประตูบังคับน้ำไว้ทุกแห่ง เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอก เข้าไปท่วมพื้นที่ด้านในอีกด้วย
๒. การก่อสร้างทางผันน้ำ
โดยการก่อสร้างทางผันน้ำ หรือขุดคลองสายใหม่ เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อผันน้ำทั้งหมด หรือน้ำเฉพาะบางส่วน ที่จะล้นตลิ่ง แล้วทำให้เกิดน้ำท่วม ออกไปจากลำน้ำให้ไหลไปตามทางผันน้ำ ที่ขุดขึ้นใหม่ ไปลงลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเล ตามความเหมาะสม มีหลักการดังนี้
๒.๑ โดยทั่วไปนิยมการผันน้ำเฉพาะส่วนที่จะไหลล้นตลิ่ง ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมออกไปจากลำน้ำ โดยที่น้ำส่วนใหญ่ ซึ่งมีระดับไม่ล้นตลิ่งนั้น ยังคงปล่อยให้ไหลอยู่ในลำน้ำเดิมตามปกติ สำหรับวิธีการผันน้ำในรูปแบบนี้ ที่บริเวณปากทางแยกเข้าลำน้ำสายใหม่ จะต้องสร้างอาคาร เพื่อควบคุมบังคับน้ำให้ไหลเข้าสู่ลำน้ำสายใหม่ ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยอาคารควบคุมบังคับน้ำดังกล่าว อาจสร้างเป็นแบบฝาย ซึ่งสามารถควบคุมน้ำให้ไหลเข้าลำน้ำสายใหม่ได้โดยอัตโนมัติ หรือสร้างประตูระบายน้ำ ที่ควบคุมบังคับน้ำ โดยบานประตู ซึ่งเปิดและปิดได้ตามความเหมาะสม
๒.๒ ในกรณีที่ต้องการผันน้ำทั้งหมด ให้ไหลไปตามทางน้ำที่ขุดใหม่ ควรขุดลำน้ำสายใหม่ แยกออกจากลำน้ำสายเดิม ตรงบริเวณที่ลำน้ำเป็นแนวโค้ง โดยกำหนดให้ท้องลำน้ำที่ขุด มีระดับเสมอกับท้องลำน้ำเดิมเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้น จึงนำดินที่ขุดจากลำน้ำใหม่ ไปถมปิดลำน้ำสายเดิม พร้อมกับเกลี่ย และบดอัดดินให้แน่นจนเต็มโดยตลอด เพื่อที่จะได้นำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นต่อไป
ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาวางโครงการ สำหรับกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น จึงมี เกณฑ์ทางด้านวิศวกรรม ที่จะต้องมีการศึกษา และวิเคราะห์ในทุกด้านอย่างละเอียดรอบคอบ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ วัตถุประสงค์ ประโยชน์ และค่าลงทุน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ ดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่งต่อไป จนถึงขั้น การก่อสร้าง
๓. การปรับปรุงสภาพลำน้ำ
โดยการปรับปรุง และตกแต่งลำน้ำ เพื่อช่วยให้น้ำสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือมีความเร็วของกระแสน้ำ ที่ไหลเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่ในฤดูน้ำหลาก น้ำจำนวนมากที่ไหลตามลำน้ำ จะได้มีระดับลดต่ำไปจากเดิม เป็นการช่วยบรรเทาความเสียหาย อันอาจจะเกิดเนื่องมาจากน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไป ในการเพิ่มความสามารถของลำน้ำ เพื่อให้น้ำจำนวนมากไหลไปได้อย่างสะดวก หรือน้ำไหลด้วยความเร็ว ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมนั้น เราจะต้องปรับปรุงสภาพลำน้ำ ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทำการตกแต่งลาดตลิ่ง และท้องลำน้ำ ให้มีความขรุขระน้อยกว่าเดิม เพิ่มเนื้อที่หน้าตัดของลำน้ำ โดยการขุดและขยายให้ลำน้ำมีขนาดโตขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงลำน้ำ ให้มีความลาดชัน โดยการขุดทางน้ำใหม่ที่มีความยาวน้อยลง ดังวิธีการต่อไปนี้
๓.๑ โดยการขุดลอกลำน้ำในบริเวณที่ตื้นเขิน ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย กำจัดวัชพืช และรื้อทำลายสิ่งกีดขวาง ทางน้ำไหลออกไปจนหมด ซึ่งเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ช่วยให้น้ำไหลผ่านตามลำน้ำได้สะดวก และสามารถระบายน้ำจำนวนมาก ให้ผ่านไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓.๒ ในกรณีที่ลำน้ำมีแนวโค้งมากเป็นระยะทางไกล อาจพิจารณาขุดทางน้ำใหม่ ลัดจากลำน้ำบริเวณด้านเหนือโค้ง ไปบรรจบกับลำน้ำเดิม ที่บริเวณด้านท้ายโค้ง ให้มีแนวตรงกลมกลืนกับลำน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นทางน้ำใหม่ ที่แบ่งน้ำจำนวนมาก ให้ไหลผ่านไปเองอย่างสะดวก เนื่องจากมีความลาดชันมากกว่าลำน้ำเดิม ที่มีแนวโค้ง ส่วนลำน้ำเดิม ซึ่งมีแนวโค้งนั้น เมื่อมีน้ำไหลผ่านน้อยลง อาจเกิดการตื้นเขิน หรือมีขนาดเล็กลงไปเองตามธรรมชาติ
วิธีการปรับปรุงสภาพลำน้ำ ทั้งโดย วิธีการขุดลอกปรับปรุงตัวลำน้ำ และโดยการขุด ทางสายน้ำใหม่ตามที่กล่าวมา เป็นการเปลี่ยน- แปลงสภาพธรรมชาติของลำน้ำซึ่งอาจมีผลทำให้ กระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งตอนใดตอนหนึ่งจนพังทลาย ติดตามด้วยการทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สิน บ้านเรือนราษฎร นอกจากนั้นวิธีการปรับปรุง ลำน้ำเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพนี้ ส่วนใหญ่จะ เป็นการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาน้ำท่วมเฉพาะ บริเวณเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบ หรือเพิ่มความเสียหาย ให้กับพื้นที่ทางด้านท้ายลำน้ำ ลงไปก็ได้ จึงต้องมีการพิจารณาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม
๔. การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ
โดยการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติ ระหว่างหุบเขา หรือเนินสูง ที่บริเวณต้นน้ำของลำน้ำสายใหญ่ หรือตามแควสาขา เพื่อกักกั้นน้ำที่ไหลมามากในฤดูน้ำหลาก เก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อน ทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำขนาดต่างๆ เรียกว่า "อ่างเก็บน้ำ" ซึ่งน้ำที่เขื่อนเก็บกักไว้นี้ จะระบายออกจากอ่างเก็บน้ำทีละน้อยๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อการเพาะปลูกพืชของพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ในช่วงเวลาที่ฝนไม่ตก หรือในฤดูแล้ง ครั้นเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนปีต่อไป อ่างเก็บน้ำก็จะมีปริมาตรว่าง สำหรับรองรับน้ำไหลหลากจำนวนมากในระยะฤดูฝนนั้น เข้ามาเก็บไว้ได้ โดยเก็บน้ำที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วม หรือน้ำที่จะไปทำความเสียหายให้กับพื้นที่ทางด้านท้ายเขื่อน เก็บสำรองไว้ใช้ ให้เป็นประโยชน์ในด้านอื่นต่อไป
เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างกันโดยทั่วไป มีหลายประเภทหลายขนาดแตกต่างกัน โดยเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่บางแห่ง สามารถให้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น การผลิตไฟฟ้า การชลประทาน การคมนาคมทางน้ำ การเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง ในอ่างเก็บน้ำ และการบรรเทาน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งเราเรียกเขื่อนลักษณะนี้ว่า "เขื่อนอเนกประสงค์"
ในการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เรา สามารถสร้างเขื่อนได้ด้วยวัสดุประเภทต่างๆ เช่น คอนกรีตล้วน คอนกรีตเสริมเหล็ก ดินถมบด อัดแน่น และหินถมอัดแน่น เป็นต้น ซึ่งเขื่อน เก็บกักน้ำทุกแห่งที่สร้างขึ้น จะกำหนดหรือเลือกให้เป็นเขื่อนประเภทใดนั้น ส่วนใหญ่จะต้องพิจารณา ให้เหมาะสมกับสภาพของฐานราก สภาพของภูมิประเทศที่เขื่อนนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนชนิดและจำนวน ของวัสดุที่จะมีให้ใช้ก่อสร้างได้ โดยเขื่อนจะต้องมีทั้งความมั่นคงแข็งแรงและราคาถูกที่สุด
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้ก่อสร้าง เขื่อนเก็บกักน้ำกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ แล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในด้านการชลประทานเป็นหลัก และเพื่อประโยชน์ต่างๆ แบบอเนกประสงค์ โดยที่อ่างเก็บน้ำทุกแห่งเหล่านั้น จะทำหน้าที่เก็บน้ำ ซึ่งไหลมามากในฤดูฝนไว้ และช่วยบรรเทาการเกิดน้ำท่วมที่อาจทำความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูก และชุมชน ซึ่งอยู่ทางด้านท้ายเขื่อนได้ด้วย อาทิ
๔.๑ เขื่อนเก็บกักน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล ตามพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำ สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๒๖๕ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อประโยชน์ในด้านการชลประทาน และการผลิต ไฟฟ้าเป็นหลัก สำหรับการบรรเทาน้ำท่วม อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ สามารถช่วยบรรเทาน้ำท่วมในเขต พื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งลำน้ำแม่งัด และแม่น้ำปิง จนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเป็นประจำให้หมดไป
๔.๒ เขื่อนเก็บกักน้ำภูมิพล และอ่างเก็บน้ำ สร้างปิดกั้นแม่น้ำปิงที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๑๓,๔๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อประโยชน์ในด้านการผลิตไฟฟ้า การชลประทาน การคมนาคมทางน้ำ ฯลฯ สำหรับในด้านการบรรเทาน้ำท่วมที่เคยทำความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูก ในบริเวณพื้นที่ลุ่มสองฝั่งแม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยาเสมอนั้น อ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลที่มีขนาดใหญ่นี้ ช่วยเก็บกักน้ำที่ไหลหลากตอนฤดูฝนตกหนักไว้ ไม่ให้ไหลเทลงมาทันทีทันใด จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน แล้วทำความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นที่ลุ่ม ดังแต่ก่อน
๔.๓ เขื่อนเก็บกักน้ำสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่านที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๙,๕๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อประโยชน์ในด้านการผลิตไฟฟ้า การชลประทาน การคมนาคม ทางน้ำ ฯลฯ สำหรับในด้านการบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถลดอุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นทุกปีในบริเวณทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ในเขตหลายจังหวัดได้เกือบทั้งหมด และยังร่วมกับอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล ช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตทุ่งราบแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ลดน้อยลงด้วย | |
๔.๔ เขื่อนเก็บกักน้ำอุบลรัตน์ และอ่างเก็บน้ำสร้างปิดกั้นลำน้ำพองที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๒,๕๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อประโยชน์ในด้านการผลิตไฟฟ้า และการชลประทานเป็นหลัก สำหรับการบรรเทาน้ำท่วม อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ สามารถบรรเทาน้ำท่วมที่เคยเกิดเป็นประจำในบริเวณที่ราบสองฝั่งลำน้ำพอง ในเขตจังหวัดขอนแก่น ให้ลดน้อยลงได้ ๔.๕ เขื่อนเก็บกักน้ำลำปาว และอ่างเก็บน้ำสร้างปิดกั้นลำน้ำปาวที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๑,๓๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อประโยชน์ในด้านการชลประทานเป็นหลัก ในด้านการบรรเทาน้ำท่วม อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถบรรเทาน้ำท่วม ที่เคยเกิดเป็นประจำในบริเวณที่ราบสองฝั่งลำน้ำปาว ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ลดน้อยลงได้เช่นกัน |
๔.๖ เขื่อนเก็บกักน้ำศรีนครินทร์ และอ่างเก็บน้ำ สร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่ ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๑๗,๗๔๕ ล้านลูกบาศก์เมตร กับเขื่อนเก็บกักน้ำเขาแหลมและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสร้างปิดกั้นแม่น้ำแควน้อย ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีความจุอ่างเก็บน้ำ ประมาณ ๗,๔๕๐ ล้าน ลูกบาศก์เมตร การก่อสร้างโครงการทั้งสองนี้ ให้ประโยชน์มาก ในด้านการผลิตไฟฟ้า การชลประทาน การคมนาคมทางน้ำ ฯลฯ สำหรับในด้านการบรรเทาน้ำท่วม ที่เคยทำความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูก ตามบริเวณพื้นที่ลุ่มสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองทุกปีนั้น อ่างเก็บน้ำทั้งสองสามารถเก็บกักน้ำจำนวนมหาศาล ที่ไหลหลากตอนฤดูฝนตกหนัก จากแควทั้งสองไว้ได้ น้ำจำนวนมาก จึงไม่ไหลเทลงมา ทำให้เกิดน้ำท่วม แล้วทำความเสียหายให้กับเขตชุมชน และพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นที่ลุ่มตามสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ดังแต่ก่อน | |
๕. การก่อสร้างคันกั้นน้ำโอบล้อมพื้นที่ เป็นวิธีการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่โดยตรง โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำโอบล้อมพื้นที่ทั้งหมดไว้ เช่น การป้องกันน้ำท่วมสถานที่ราชการ โรงงานอุตสาหกรรม และสวนผลไม้ของราษฎร ที่อยู่ในบริเวณ ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ส่วนน้ำฝนที่ขังอยู่ภายในพื้นที่ จะระบายออกไปตามท่อระบายน้ำ หรือโดยการสูบน้ำออกไป ตามความเหมาะสม ๖. การอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยการใช้ ดูแลรักษา และปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม ประกอบด้วยการอนุรักษ์ป่าไม้ ร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยวิธีการต่างๆ ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในเรื่องการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร เพื่อปรับปรุงพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยทั่วไป ให้สามารถดูดซึมน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกัน มิให้น้ำฝนไหลบ่าตามลาดพื้นดิน ลงสู่ลำธาร และลำห้วยต่างๆ อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมาก เป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร และที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่าง ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ |