Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นภาคเหนือหรือล้านนา

Posted By Plookpedia | 09 มิ.ย. 60
5,931 Views

  Favorite

การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นภาคเหนือหรือล้านนา

      วรรณคดีลายลักษณ์ในล้านนามีอยู่เป็นจำนวนมากส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปเอกสารตัวเขียนคือเป็นใบลานและสมุดข่อย ตัวอักษรที่ใช้ในล้านนามี ๒ แบบ แบบหนึ่งคือ ตัวอักษรที่ดัดแปลงจากอักษรมอญ ซึ่งเรียกว่า ตัวเมืองหรือตัวธรรม พบแพร่หลายในภาคอีสานของไทยในประเทศลาว ในเชียงตุงของประเทศพม่าและในสิบสองพันนาของมณฑลหยุนหนานประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยมักใช้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่งคือ ตัวขอมเมืองหรือไทยนิเทศ เป็นตัวอักษรที่รับมาจากอักษรสุโขทัยมักใช้เขียนเรื่องทางโลก

 

กฎหมายสมัยพญามังราย
กฎหมายสมัยพญามังราย ที่บันทึกลงในสมุดสาด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมือง ซึ่งดัดแปลงมาจากอักษรมอญ

 

      วรรณคดีลายลักษณ์ยุคต้นของล้านนาเท่าที่พบเขียนขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๐ - ๒๑๐๐ โดยมักแต่งเป็นภาษาบาลีพระสงฆ์ในล้านนาสมัยก่อนมีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีมากเรื่องที่แต่งเป็นภาษาบาลีมีหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ จามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยประวัติพระพุทธศาสนาในหริภุญชัยและในเชียงใหม่ จักรวาลทีปนีเป็นการประมวลความรู้เกี่ยวกับจักรวาลและโลกตามคติพระพุทธศาสนาและเวสสันตรทีปนีซึ่งอธิบายเรื่องเวสสันดรชาดก  ส่วนวรรณคดีที่แต่งเป็นภาษาท้องถิ่นในยุคนี้ยังพบไม่มากนักที่น่าจะถือได้ว่าแต่งในยุค ได้แก่ วรรณคดีคำสอนเรื่อง คำสอนพญามังราย วรรณคดีนิทานเรื่อง อุสาบารสและนิราศหริภุญชัย คำสอนพญามังรายแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร่ายเนื้อหาเป็นคติธรรมคำสอนสำหรับเจ้านายและคนทั่วไป เรื่องอุสาบารสเป็นนิทานที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในล้านนาและอีสาน แต่งเป็นโคลงสี่ดั้นเนื้อเรื่องรับมาจากวรรณคดีของอินเดียตัวละครเอกชื่อว่า ท้าวบารสกับนางอุสา ส่วนนิราศหริภุญชัยแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ บรรยายการเดินทางของกวีซึ่งร่วมขบวนเกวียนจากเชียงใหม่ไปบูชาพระธาตุที่เมืองหริภุญชัยหรือลำพูนในปัจจุบัน กวีบรรยายสถานที่ต่าง ๆ และธรรมชาติที่ได้พบเห็นในขณะเดินทางควบคู่ไปกับพรรณนาความรักความอาลัยหญิงคนรักใช้ถ้อยคำภาษาที่สื่อความหมายได้ชัดเจนเล่นเสียงเล่นคำอย่างไพเราะ   ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗ อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าวรรณคดีสำคัญในยุคนี้เท่าที่พบมีไม่มากนัก แต่ก็มีเนื้อหาหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบกับพม่า ได้แก่ เรื่องโคลงมังทรารบเชียงใหม่ กล่าวถึงการเกิดสงครามกับพม่าและการกวาดต้อนผู้คนจากเชียงใหม่ไปพม่า นับเป็นบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้เรื่องหนึ่ง วรรณคดีเรื่องนี้แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพกวีซึ่งคาดว่าเป็นชนชั้นสูงพรรณนาความรู้สึกเสียดายเมืองเชียงใหม่ที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและความยากลำบากขณะเดินทางได้อย่างซาบซึ้งกินใจ วรรณคดีเรื่องนี้ยังมีลักษณะเป็นนิราศด้วยเพราะกวีจะบรรยายสถานที่ที่เดินทางผ่านพร้อมกับพรรณนาความรักความอาลัยหญิงคนรัก ส่วนคร่าวซอสงครามอโยธยาม่าน (พ.ศ. ๒๒๒๘) นับเป็นวรรณคดีที่แต่งด้วยคำประพันธ์ที่เรียกว่า คร่าวซอ ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในขณะนี้ วรรณคดีนิทานที่แต่งเป็นโคลงคือ โคลงพรหมทัต ซึ่งระบุว่าแต่งถวายเจ้านายฝ่ายหญิงและวรรณคดีนิราศคือ นิราศดอยเกิ้ง  วรรณคดีคำสอนของล้านนาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ โคลงเจ้าวิทูรสอนโลก มีเนื้อหาสอนคนทุกระดับแต่งเป็นโคลงสี่ แต่ไม่ปรากฏระยะเวลาแต่งที่ชัดเจน  ภายหลังมีผู้นำมาดัดแปลงโดยเปลี่ยนบทต้นและบทท้ายตั้งชื่อใหม่ว่า โคลงพระลอสอนโลก ฉบับหนึ่งอีกฉบับหนึ่งได้เพิ่มโคลงสามและโคลงสองโดยเปลี่ยนชื่อเป็น โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน

 

จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องสุวรรณสามชาดก
จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องสุวรรณสามชาดก ในพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ


       เมื่ออาณาจักรล้านนาได้เป็นอิสระจากพม่าและอยู่ในฐานะประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ การแต่งวรรณคดีโดยใช้คำประพันธ์รูปแบบคร่าวซอเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเรื่อยมาจนกระทั่งถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ วรรณคดีที่แต่งเป็นคร่าวซอส่วนใหญ่เป็นวรรณคดีนิทาน ประเภทนิทานมหัศจรรย์มีอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งมุ่งให้คติธรรมทางพระพุทธศาสนาด้วย วรรณคดีประเภทนี้จะเน้นเรื่องกรรมแสดงให้เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตัวละครเอก ต้องผจญชะตากรรมถูกกลั่นแกล้ง อาจต้องพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนรักแต่ในที่สุดก็ได้กลับมาพบกันและได้ดีโดยได้เป็นเจ้าเมืองครองบ้านเมืองอย่างมีความสุข  ในขณะที่ตัวละครฝ่ายร้ายถูกลงโทษอย่างรุนแรง เรื่องที่แพร่หลายมีทั้งที่เป็นนิทานชาดกจากนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก เช่น เรื่อง ฉัททันต์ สุวรรณสาม พระสุธน สุทธนู สังข์ทอง นางสิบสอง นกกระจาบ (เรื่องสรรพสิทธิ์) วรรณคดีนิทานจำนวนมากเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่โดยเลียนแบบชาดก เรื่องที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ หงส์หิน ซึ่งโครงเรื่องคล้ายกับเรื่องสังข์ศิลป์ชัย นอกจากนี้มีเรื่องอื่น ๆ เช่น เจ้าสุวัต จำปาสี่ต้น ก่ำกาดำ มูลละกิตติ บัวระวงศ์ แตงอ่อน ตัวละครเอกในบางเรื่องมีพ่อหรือแม่เป็นสัตว์ เช่น ช้างโพง นางผมหอมและสุชวัณณะ นางเอกมีพ่อเป็นช้าง กำพร้าบัวตองนางเอกมีแม่เป็นสุนัข ตัวละครเอกในบางเรื่องเป็นลูกของคนยากจนแต่ในภายหลังได้ดี เช่น เรื่อง อ้ายร้อยขอด กวีล้านนาบางคนใช้คำประพันธ์ที่เรียกว่า คร่าวซอ ในการแต่งวรรณคดีที่มีเนื้อหาอย่างอื่น เช่น พญาพรหมโวหาร ใช้แต่งบทรำพันด้วยความเศร้าโศกเสียใจที่หญิงคนรักจากไปที่รู้จักกันในชื่อ คร่าวสี่บท กวีบางคนใช้แต่งสดุดีเกียรติคุณของบุคคลสำคัญ เช่น คร่าวซอเจ้าราชวงศ์ คร่าวซอเรื่องพ่อเจ้าอินทวิชยานนท์กับราชเทวีทิพเกสร กวีในยุคนี้ที่รู้จักกันดีคือ พญาโลมาวิสัยและพญาพรหมโวหารซึ่งแต่งเรื่องหงส์หินและคร่าวสี่บท  เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จมาประทับที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งวรรณคดีบทละครเรื่องน้อยไจยา โดยบทร้องเป็นร้อยกรองท้องถิ่น ต่อมามีการตั้งโรงพิมพ์ที่เชียงใหม่หลายแห่งทำให้วรรณคดีล้านนาแพร่หลายในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากไม่ได้มีการถ่ายทอดให้แก่เยาวชนจึงทำให้เยาวชนรุ่นหลังมีโอกาสเรียนรู้วรรณคดีในท้องถิ่นของตนน้อย

 

จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องหงส์หิน
จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องหงส์หิน วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี อ.เด่นชัย จ.แพร่
(ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๒)


      วรรณคดีมุขปาฐะของล้านนาประเภทเพลงพื้นบ้านซึ่งยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็กและเพลงที่มีการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง เรียกว่า "ซอ" พ่อเพลงแม่เพลงซึ่งเรียกว่า "ช่างซอชาย" และ "ช่างซอหญิง" จะขับร้องโต้ตอบกันเป็นทำนองต่าง ๆ  โดยมีเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบคือ สะล้อและซึง บางจังหวัดมีปี่ด้วยเนื้อหาที่ซออาจเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะ  บางครั้งก็นำบางตอนจากวรรณคดีมาถ่ายทอดช่างซอชายและหญิงจะสมมติตนเองเป็นตัวละครเอก ในวรรณคดีบางเรื่อง เช่น เรื่อง เจ้าสุวัต หงส์หิน สุธนมโนห์รา            บัวระวงศ์ และขับร้องโต้ตอบกัน บางทีก็เป็นการเกี้ยวพาราสีเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมหรือล้อเลียนสังคม ส่วนนิทานพื้นบ้านก็มีอยู่หลายประเภท เช่น ตำนานสถานที่ ตำนานบุคคลสำคัญ นิทานที่นิยมเล่าสู่กันฟัง เช่น เรื่อง นางอุทธลา ซึ่งมีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องปลาบู่ทองของภาคกลาง นิทานที่มีเนื้อเรื่องขบขันซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากคือ เรื่องเชียงเหมี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องขำขันมีจุดเด่นอยู่ที่การเล่นคำและแสดงไหวพริบคล้ายเรื่องศรีธนญชัยของภาคกลางดังกล่าวแล้ว

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow