Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นอีสาน

Posted By Plookpedia | 09 มิ.ย. 60
1,986 Views

  Favorite

การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นอีสาน

      เมื่อกล่าวถึงวรรณคดีท้องถิ่นอีสานส่วนใหญ่หมายถึง วรรณคดีของชนกลุ่มวัฒนธรรมไทย - ลาว ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในภาคอีสานประชากรกลุ่มนี้ในอดีตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านช้างพูดภาษาเดียวกันและใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันคือ ใช้อักษรธรรมแบบล้านนาในการเขียนเรื่องราวทางศาสนาและใช้ตัวอักษรไทยน้อยหรืออักษรลาวสำหรับเขียนเรื่องทางโลก วรรณคดีลายลักษณ์ที่เผยแพร่อยู่ในท้องถิ่นอีสานหลายเรื่อง เช่น แตงอ่อน สังข์ศิลป์ชัย กาฬะเกดหรือกาละเกด ขุนทึง ขูลูนางอั้ว นกกระจอก พระลักพระลาม เสียวสวาด เป็นวรรณคดีที่รับมาจากลาวสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรล้านช้างและเนื่องจากอาณาจักรล้านช้างเคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนา วรรณคดีหลายเรื่องของอาณาจักรล้านช้างจึงตรงกับวรรณคดีของอาณาจักรล้านนาวรรณคดีที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างคือ มหากาพย์เรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่อสดุดีท้าวเจืองซึ่งเป็นวีรบุรุษและเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ล้านนา

 

หนังสือเจี้ย (สมุดข่อย) เรื่องตำราขอดสิม
หนังสือเจี้ย (สมุดข่อย) เรื่องตำราขอดสิม ซึ่งใช้ตัวอักษรธรรมอีสาน ในการบันทึกเรื่องราวทางศาสนา
(ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม ๑๔)

 

      อย่างไรก็ตามมีกวีชาวอีสานหลายคนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นในท้องถิ่นของตนส่วนมากเป็นพระภิกษุหรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) นอกจากปริวรรตวรรณคดีที่มาจากลาว เช่น กาพย์ปู่สอนหลานและกาพย์หลานสอนปู่ เป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันแล้วยังมีผลงานการประพันธ์อีกหลายเรื่อง เช่น สิริจันโทยอดคำสอน โลกนิติคำกาพย์ คำกลอนพระยาฉัททันต์ กาพย์พระใหญ่ เขาพระงาม กวีท้องถิ่นอีกผู้หนึ่งคือขุนพรหมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) ซึ่งงานประพันธ์บางเรื่องแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลจากภาคกลาง เช่น กาพย์เบญจศีล โลกนิติคำกลอน พระนล กามนิต หิโตปเทศ มีผลงานปริวรรตวรรณคดีจากลาวเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบัน ๒ เรื่อง คือ เสียวสวาดและสังข์ศิลป์ชัย บุคคลที่มีบทบาทเผยแพร่วรรณคดีท้องถิ่นอีสานให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือพระอริยานุวัตร (อารี เขมจารี)และนายปรีชา พิณทอง ซึ่งได้รวบรวมและปริวรรตวรรณคดีจากอักษรไทยน้อยและอักษรธรรมนำมาพิมพ์เผยแพร่หลายเรื่องวรรณคดีที่เผยแพร่ในภาคอีสานมีทั้งที่เป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนา เช่น มหาเวสสันดรชาดก และชาดกเรื่องอื่น ๆ วรรณคดีพิธีกรรม เช่น บททำขวัญต่าง ๆ นอกจากนี้มีวรรณคดีนิทานวรรณคดีคำสอนและวรรณคดีตำนานคำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณคดีอีสานมีทั้งร่าย กาพย์ และโคลง

 

ภาพในวรรณคดีที่ใช้แคน
ภาพในวรรณคดีที่ใช้แคน แสดงให้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน
(ภาพจากหนังสือจิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

 

      วรรณคดีมุขปาฐะของอีสานประเภทเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก และเพลงร้องโต้ตอบกัน ระหว่างชายหญิงที่เรียกว่า "หมอลำ" ซึ่งมีหลายทำนองและมีเนื้อหา ต่าง ๆ มีทั้งการให้คติคำสอนทางด้านศีลธรรมและจริยธรรม การเกี้ยวพาราสีและการนำเรื่องราวจากวรรณคดีมาถ่ายทอดเป็นเพลงโดยใช้แคนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านในการบรรเลงประกอบ นิทานพื้นบ้านที่นิยมเล่าในภาคอีสานมีหลายประเภทที่เป็นตำนานเล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ เช่น ตำนานหนองหาน ตำนานพระธาตุก่องข้าวน้อย เรื่องขำขันที่แพร่หลายมาก ได้แก่ เรื่องของเชียงเหมี้ยงซึ่งมีเค้าโครงเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องเชียงเหมี้ยงที่เล่าในล้านนาและเรื่องศรีธนญชัยที่เล่าในภาคกลาง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow