วรรณคดีท้องถิ่นได้เนื้อเรื่องและแนวความคิดมาจากหลายแหล่ง ดังนี้
คือ พุทธประวัติและชาดก ดังจะเห็นว่าเรื่องปฐมสมโพธิกถาซึ่งมีเนื้อเรื่องเป็นพุทธประวัติพบในหลายถิ่น ชาดกจากพระไตรปิฎกซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติ เป็นพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะชาดก ๑๐ เรื่อง ที่เรียกว่า ทศชาติ คือ เตมีย์ ชนก สุวรรณสาม เนมิราช มโหสถ ภูริทัต จันทกุมาร นารท วิธุรบัณฑิต เวสสันดร นอกจากนิยมนำมาวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังแล้ว กวีและนักเขียนท้องถิ่นก็ได้นำมาแต่งเป็นวรรณคดีโดยใช้ภาษาถิ่น นอกจากนี้กวีและนักเขียนท้องถิ่นยังได้แนวคิดจากชาดกในการนำนิทานและตำนานพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ มาแต่งเป็นชาดกพื้นบ้านและนิทานคำสอนเป็นจำนวนมาก วรรณคดีสำคัญของอินเดียที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเป็นที่มาของวรรณคดีท้องถิ่น ได้แก่ เรื่อง รามายณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากพบในหลายประเทศในภาคกลางของไทยก็มีการนำเรื่องราวจากรามายณะมาแต่งเป็นวรรณคดีรามเกียรติ์หลายฉบับ เช่น พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในท้องถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็พบว่ามีการนำเรื่องราวจากรามายณะไปแต่งเป็นวรรณคดีส่วนใหญ่เป็นการแต่งขึ้นจากเรื่องเล่าที่เป็นวรรณคดีมุขปาฐะมาก่อน ทำให้รามายณะหรือรามเกียรติ์ฉบับท้องถิ่นมีเรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมากบางถิ่นนำไปแต่งเป็นชาดกก็มี
เช่น ตำนานอุรังคธาตุซึ่งเป็นตำนานพระธาตุพนมและผาแดงนางไอ่ เล่าถึงความเป็นมาของหนองหานทั้งสองเรื่องเป็นวรรณคดีที่แพร่หลายทางภาคอีสานตำนานพระบรมธาตุเมืองนครและเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกาซึ่งเป็นวรรณคดีภาคใต้ ตำนานพระยาเจืองและตำนานพระเจ้าเลียบโลกซึ่งพบในล้านนา ตัวอย่างวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประวัติของบุคคล เช่น โคลงมังทรารบเชียงใหม่ เล่าถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อครั้งที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและคร่าวฮ่ำครูบาศรีวิชัยบรรยายคุณความดีของครูบาศรีวิชัย
วรรณคดีท้องถิ่นหลายเรื่องมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบทอดกันมานานในแต่ละท้องถิ่น เช่น เรื่องดาวลูกไก่และเต่าน้อยอองคำ ของล้านนา เรื่องนายดั่น ของภาคใต้ เรื่องเชียง เหมี้ยง เรื่อง ปลาแดกปลาสมอ และเรื่อง ขูลูนางอั้ว ของอีสานและลาว
การพิมพ์วรรณคดีจากภาคกลางออกเผยแพร่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทำให้วรรณคดีภาคกลางหลายเรื่องแพร่หลายเข้าไปในท้องถิ่นเป็นแรงบันดาลใจให้กวีท้องถิ่นบางคนนำไปแต่งขึ้นใหม่ โดยใช้ภาษาและฉันทลักษณ์ท้องถิ่น เช่น เรื่องพระอภัยมณี เรื่องโคบุตร และเรื่องลักษณวงศ์ของสุนทรภู่ ที่มีผู้นำเรื่องราวไปแต่งขึ้นใหม่เป็นสำนวนท้องถิ่นในหลายถิ่นรวมทั้งเรื่องศรีธนญชัยซึ่งเป็นเรื่องขำขันที่แพร่หลายในภาคกลาง มีจุดเด่นอยู่ที่การเล่นคำหรือการจับไหวพริบในการใช้คำพูดมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องเชียงเหมี้ยงซึ่งเล่ากันอย่างแพร่หลายในล้านนาและภาคอีสาน แต่ก็ไม่ตรงกันทีเดียว เมื่อมีการพิมพ์กาพย์ศรีธนญชัยออกเผยแพร่ทางล้านนาก็ได้นำเรื่องศรีธนญชัยไปแต่งเป็นคร่าวซอ (ออกเสียงว่า ค่าวซอ) เรื่องศรีธนญชัย โดยใช้ภาษาท้องถิ่นและฉันทลักษณ์ท้องถิ่น
วรรณคดีท้องถิ่นบางเรื่องมีที่มาจากชีวิตส่วนตัวของกวีซึ่งอาจเกี่ยวกับความผิดหวังในชีวิตรักหรือหน้าที่การงาน เช่น ผลงานของพญาพรหมโวหาร ๒ เรื่อง คือคร่าวสี่บทและคำจ่ม คร่าวสี่บทเป็นบทประพันธ์ที่กวีถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจที่หญิงคนรักจากไปได้อย่างลึกซึ้งกินใจ ส่วนคำจ่มก็เขียนด้วยความรู้สึกแค้นเคืองน้อยใจเพราะคิดว่าถูกกลั่นแกล้งจากชนชั้นสูง