Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัจจัยสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณคดีท้องถิ่น

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
2,729 Views

  Favorite

ปัจจัยสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณคดีท้องถิ่น

      มูลเหตุที่มีการสร้างสรรค์วรรณคดีอย่างมากมายในท้องถิ่นต่าง ๆ มาจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ พระพุทธศาสนา ชนชั้นสูงในท้องถิ่น และวิถีชีวิตในท้องถิ่น

พระพุทธศาสนา

       พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยและกลายเป็นศาสนาหลักของชนชั้นปกครองและประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ตลอดมา ซึ่งในสมัยก่อนวัดคือศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียน พระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ การประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการสร้างสรรค์ศิลปกรรมในแขนงต่าง ๆ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และวรรณคดี 

 

ประเพณีการบวช
ประเพณีการบวชมีส่วนสำคัญในการสร้างกวีและนักเขียน รวมทั้งวรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

 

        ในด้านวรรณคดีพระพุทธศาสนามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณคดีท้องถิ่นหลายประการกล่าวคือ ในด้านผู้แต่งประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการสร้างกวีและนักเขียน ทั้งนี้เพราะการบวชเรียนช่วยให้พระสงฆ์อ่านออกเขียนได้และมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา กวีและนักเขียนในท้องถิ่นต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงมักเป็นพระภิกษุหรือผู้ที่เคยบวชเรียน  ในด้านเนื้อหาของวรรณคดีเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธประวัติ ชาดก เรื่องพระมาลัย และหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ นับเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์วรรณคดี การสำรวจวรรณคดีในท้องถิ่นต่าง ๆ พบว่าส่วนใหญ่เป็นวรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ความเชื่อและประเพณีบางอย่าง เช่น ความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการสร้างพระคัมภีร์หรือการสร้างหนังสือไว้ในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในทุกท้องถิ่นมีส่วนอย่างมากที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์และการสืบทอดวรรณคดี  ชาวบ้านเชื่อว่าการมีส่วนในการสร้างพระธรรมเพื่อถวายวัดเป็นพุทธบูชามีอานิสงส์ให้ได้ขึ้นสวรรค์ได้พบพระศรีอริยเมตไตรย์ตลอดจนมีปัญญาสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงจนกระทั่งถึงพระนิพพานในที่สุด ในท้องถิ่นต่าง ๆ ในแต่ละปีจะมีประเพณีทานธรรมโดยชาวบ้านจะจ้างผู้ที่สามารถเขียนหนังสือได้ให้แต่งหรือคัดลอกพระธรรมถวายวัด วรรณคดีท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ปรากฏนามผู้แต่งเพราะผู้แต่งไม่ต้องการชื่อเสียง การสร้างสรรค์วรรณคดีถือกันว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลทางศาสนาอย่างหนึ่งบนใบลานจึงอาจไม่ระบุนามผู้แต่งแต่ระบุนามผู้คัดลอกหรือนามชาวบ้านผู้จ้างคัดลอกหรือจ้างให้แต่ง ความเชื่อเรื่องอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดกก็มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกปีจะมีประเพณีการฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกซึ่งเรียกกันว่า เทศน์มหาชาติ พระสงฆ์ที่เทศน์มหาชาติจะต้องฝึกจนสามารถเทศน์ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เนื่องจากการเทศน์มหาชาติจัดขึ้นทุกปีจึงได้มีผู้แต่งมหาเวสสันดรชาดกสำนวน  ใหม่ ๆ ขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังได้ฟังสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากเดิม  เราจึงพบวรรณคดีเรื่องมหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดกในทุกภาคแต่ละภาคก็มีหลายสำนวนเฉพาะ ในล้านนาได้พบมหาเวสสันดรชาดกจำนวนกว่า ๑๐๐ สำนวน  กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์วรรณคดีท้องถิ่น

 

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดกในทุกภาค

 

ชนชั้นสูงในท้องถิ่น

       ท้องถิ่นบางแห่งเคยมีฐานะเป็นราชธานี เช่น เชียงใหม่เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนามีหลักฐานว่าเจ้านายล้านนาบางองค์อุปถัมภ์และส่งเสริมให้กวีหรือนักเขียนสร้างสรรค์วรรณคดี วรรณคดีล้านนาบางเรื่องจึงแต่งโดยกวีที่เป็นชนชั้นสูง สังเกตจากการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่ประณีต สละสลวย ใช้ศัพท์หรูหราแสดงให้เห็นถึงความรู้และความเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ เห็นได้ชัดว่าเป็นผลงานของนักปราชญ์ราชบัณฑิตไม่ใช่ผลงานของชาวบ้านธรรมดา เช่นเดียวกับวรรณคดีอีสานบางเรื่องที่รับมาจากลาวมีลักษณะเป็นวรรณคดีราชสำนักแต่งโดยกวีซึ่งเป็นชนชั้นสูงในราชสำนักลาวในสมัยโบราณ

วิถีชีวิตในสังคมท้องถิ่น

       วิถีชีวิตในสังคมท้องถิ่นเป็นวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงานสมาชิกในสังคมมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน  การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว นอกจากมีการพูดคุยกันอย่างสนุกสนานแล้ว บางครั้งยังมีการเล่านิทานนิยายหรือร้องเพลงโต้ตอบกันในช่วงที่พักผ่อนก็อาจอ่านวรรณคดีกัน ชาวบ้านในสมัยก่อนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออกแต่สามารถรับรู้วรรณคดีได้โดยมีผู้อ่านหรือขับร้องเป็นเพลงให้ฟัง  ในภาคใต้บางแห่งหลังจากชาวนาไถนาตอนเช้าแล้วในช่วงพักผ่อนหลบแดดอยู่ใต้ร่มไม้ก็มีการนำวรรณคดีมาอ่านสู่กันฟัง  ในภาคอีสานสมัยก่อนญาติจะอ่านวรรณคดีให้หญิงที่คลอดบุตรและอยู่ไฟฟังช่วยให้เพลิดเพลินผ่อนคลายความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานในสังคมท้องถิ่นเมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช และงานศพ ก็จะเป็นโอกาสให้สมาชิกในสังคมมาพบปะสังสรรค์ฟังการขับร้องเพลงพื้นบ้านและฟังการอ่านวรรณคดี  ในภาคกลางมีการลอยเรือร้องเพลงเรือโต้ตอบกันในสมัยที่ยังไม่มีโทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์ การฟังและการอ่านวรรณคดีนับว่าเป็นความบันเทิงที่สำคัญของชุมชน เนื่องจากการฟังการอ่านวรรณคดีเรื่องเดิมซ้ำ ๆ อาจทำให้ผู้ฟังผู้อ่านเบื่อหน่ายจึงได้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องใหม่ ๆ ขึ้น เพื่อใช้อ่านสู่กันฟัง

 

การทำนา
การทำนาเป็นภาระที่เหน็ดเหนื่อย ในช่วงพักผ่อน อาจมีการอ่านวรงรณคดี หรือเล่านิทานสู่กันฟัง

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow