วรรณคดีไทยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมีที่มาจากวรรณคดีท้องถิ่นภาคกลาง เนื่องจากเป็นวรรณคดีที่ใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารจึงมักถือเป็นตัวแทนของวรรณคดีในประเทศไทยและใช้เป็นแบบเรียนวิชาวรรณคดีไทยในโรงเรียนทั่วประเทศ วรรณคดีภาคกลางมีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งแต่งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน ในบางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อเป็นคำสอน เช่น สุภาษิตสอนหญิง โคลงโลกนิติ กฤษณาสอนน้อง บางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น มหาเวสสันดรชาดก ปฐมสมโพธิกถา และชาดกเรื่องอื่น ๆ บางเรื่องก็เสนอเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย และสามกรุง บางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อใช้ขับร้องเป็นทำนองหรือเพื่อประกอบการแสดง เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครเรื่องอิเหนา บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บางเรื่องแต่งขึ้นสำหรับสวด เรียกว่า กลอนสวด บางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธี เช่น ประกาศโองการแช่งน้ำ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและบททำขวัญซึ่งใช้ในพิธีทำขวัญ ภาคกลางมีวรรณคดีนิราศจำนวนมาก กวีแต่งขึ้นเพื่อต้องการบรรยายอารมณ์และความรู้สึกที่ต้องจากคนรักเพื่อเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง วรรณคดีภาคกลางแต่งขึ้นโดยใช้คำประพันธ์หลากหลาย ได้แก่ โคลง ร่าย ฉันท์ กาพย์ และกลอน วรรณคดีลายลักษณ์ของภาคกลางที่ยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนเพลงและนิทานที่ถือว่าเป็นวรรณคดีมุขปาฐะของภาคกลางก็มีอยู่หลายประเภท เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นสำหรับเด็ก และเพลงสำหรับขับร้องเวลาที่ทำงานในทุ่งนา เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงสงฟาง ฯลฯ นิทานภาคกลางที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น เรื่องพญากงพญาพาน เรื่องตาม่องล่าย เนื่องจากวรรณคดีของภาคกลางเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในที่นี้จึงจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับวรรณคดีท้องถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งยังไม่ค่อยมีผู้รู้จักมากนัก