Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลี้ยงปลากัดของคนไทย

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
2,484 Views

  Favorite

การเลี้ยงปลากัดของคนไทย

       การกัดปลานับเป็นเกมกีฬาที่นิยมกันในหมู่คนไทยมาเป็นเวลานาน อันที่จริงแล้วปลาที่ใช้ในเกมกีฬาการกัดปลาของชาวไทยนั้นนอกจากปลากัดแล้วยังมีปลาอีก ๒ ชนิดที่นำมากัดแข่งขันกัน คือ ปลาหัวตะกั่ว และ ปลาเข็ม แต่ไม่แพร่หลายและเป็นที่นิยมเท่าปลากัด ทั้งนี้เนื่องจากปลากัดนอกจากจะมีลีลาการต่อสู้ที่เร้าใจและอดทนแล้วยังเป็นปลาที่สวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาที่พองตัวเพื่อต่อสู้ในระยะแรก ๆ ปลากัดที่แข่งขันเป็นปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อมาจึงได้เริ่มมีการนำปลากัดมาเลี้ยงเพื่อใช้ในการกัดแข่งขันและเริ่มมีการผสมพันธุ์เพาะเลี้ยงปลากัด เพื่อให้ได้ปลาที่อดทน กัดเก่ง สีสวยงาม ซึ่งได้เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นก็มีการผสมพันธุ์ปลากัดให้เป็นปลาสวยงามและเป็นปลาสวยงามชนิดแรกที่คนไทยนิยมเลี้ยง การเพาะเลี้ยงปลากัดจึงแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นการกีฬาหรือการพนันและอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม
       ในการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันจะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ของปลากัดครีบสั้นหรือ ปลาลูกหม้อ เป็นหลักเพื่อให้ได้ปลาที่กัดเก่ง อดทน และมีขนาดใหญ่ ในระยะหลัง ๆ ได้มีการนำปลากัดพื้นเมืองในภาคใต้มาผสมบ้างเพื่อสร้างลูกผสมที่กัดเก่งและมีการใช้กลวิธีการหมักปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ดินจอมปลวก และอื่น ๆ เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลาซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เกล็ดแข็งกัดเข้าได้ยากควบคู่ไปกับการคัดเลือกพันธุ์

 

ปลากัด


       ส่วนการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม นอกจากจะพัฒนาให้ได้สีที่สวยงามและรูปแบบใหม่ ๆ แล้ว ก็ได้มีการพัฒนาสร้างสายพันธุ์ปลากัดครีบยาวที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลากัดจีน ซึ่งมีครีบยาวใหญ่สวยงามในระยะหลังนี้ได้มีการพัฒนารูปทรงของครีบแบบต่าง ๆ และมีการพัฒนาปลากัดครีบสั้นให้เป็นปลาสวยงามโดยพัฒนาสีสันให้สวยขึ้นและพัฒนาปลาลูกหม้อให้มีสีใหม่ ๆ จนในที่สุดก็มีการผสมระหว่างปลากัดครีบสั้นกับปลากัดครีบยาวเพื่อสร้างลักษณะที่สวยงาม

 

ปลากัดลูกหม้อ
นักเพาะพันธุ์ปลากัดได้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัดลูกหม้อให้มีสีสันสวยงาม จนกลายเป็นสินค้าส่งออก

 

ปลากัดลูกหม้อ
นักเพาะพันธุ์ปลากัดได้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัดลูกหม้อให้มีสีสันสวยงาม จนกลายเป็นสินค้าส่งออก


       เมื่อก่อนนั้นนักเพาะพันธุ์ปลากัดในประเทศไทยสนใจเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดลูกหม้อให้กัดเก่งเพื่อการกัดแข่งขันเป็นหลัก ปลากัดครีบยาวหรือปลากัดจีนจึงขาดการปรับปรุงพันธุ์โดยสิ้นเชิงโดยผู้เพาะพันธุ์มุ่งจะผลิตให้ได้จำนวนมาก ๆ เพื่อส่งขายโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพจนในช่วงหนึ่งปลากัดครีบยาวจากประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับคุณภาพค่อนข้างต่ำ ในพ.ศ. ๒๕๓๘ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาฟื้นฟูสายพันธุ์ปลากัดในเมืองไทยโดยได้เริ่มจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงสายพันธุ์และมาตรฐานปลากัดในระดับสากล และได้จัดประกวดปลากัดขึ้นครั้งแรกในงานวันเกษตรแห่งชาติที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จากนั้นมาก็มีการจัดประกวดต่อเนื่องกันมาทุกปีโดยชมรมและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ทั้งปลากัดลูกหม้อและปลากัดจีนเพื่อเป็นปลาสวยงามกันอย่างเต็มที่ทำให้ได้ปลากัดลูกหม้อที่มีสีสันสวยงามทั้งสีเดียว สีผสม และลวดลายต่าง ๆ จนในปัจจุบันรูปแบบสีสันของปลากัดลูกหม้อได้พัฒนาไปอย่างมากมายในทุกโทนสีและกลายเป็นปลาสวยงามอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายประชาชนจำนวนมากหันมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลากัดทั้งปลากัดสำหรับกัดแข่งขันและปลากัดสวยงามจนทำให้ปลากัดมีความสวยงามกลายเป็นสินค้าส่งออกอย่างหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันแหล่งเพาะเลี้ยงปลากัดที่สำคัญของประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดนครปฐม กรุงเทพฯ ราชบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow