"ดาวศุกร์" เป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมากจนได้ชื่อว่าเป็น น้องสาวฝาแฝดกับโลก มองเห็นเป็นดวงสีขาว สว่างสุกใสที่สุดในท้องฟ้า ชาวโรมันถือว่าดาวศุกร์เป็นสัญลักษณ์ของเทพธิดาแห่งความรักและความงาม
• ดาวศุกร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย ๑๐๘ ล้านกิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ทาง ๒ ฟากฟ้า เช่นเดียวกับดาวพุธ เมื่อเห็นดาวศุกร์อยู่ในท้องฟ้าด้านตะวันออกตอนเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยแต่ก่อนจึงเรียกว่า "ดาวรุ่ง" หรือ "ดาวประกายพรึก" แต่เมื่อดาวศุกร์อยู่ในท้องฟ้าด้านตะวันตกตอนพลบค่ำ ตกลับฟ้าตามหลังดวงอาทิตย์ ผู้คนเข้าใจว่าเป็นดาวคนละดวง จึงเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" ปรากฏการณ์นี้จะเข้าใจง่ายขึ้น ถ้านึกถึงวงโคจรโลก และดาวศุกร์ในอวกาศ เนื่องจากดาวศุกร์โคจรอยู่วงในที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก เมื่อมองจากโลกเทียบกับดวงอาทิตย์ บางครั้งเราจึงเห็นดาวศุกร์ โคจรไปอยู่ทางด้านตะวันออก และบางครั้งก็อยู่ทางด้านตะวันตกของดวงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้เมื่อมองจากโลก เราจึงมองเห็นดาวศุกร์ได้ ๒ ฟากฟ้า ระยะสูงสุดในท้องฟ้าขณะดวงอาทิตย์อยู่ที่ขอบฟ้าเป็น ๔๗ องศา
• ดาวศุกร์แตกต่างจากดาวเคราะห์อื่น ๆ หลายดวง เพราะหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก สวนทางกับดาวเคราะห์อื่นในระบบสุริยะ ผู้สังเกตที่อยู่บนดาวศุกร์จึงเห็นดวงอาทิตย์ และดวงดาวเคลื่อนขึ้นจากขอบฟ้าด้านตะวันตกไปตกลับทางขอบฟ้าด้านตะวันออก นอกจากนั้นดาวศุกร์ยังหมุนรอบตัวเองช้ามาก คือ ๑ วันของดาวศุกร์นานเท่ากับ ๒๔๓ วันของโลก ขณะที่ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบหรือ ๑ ปีของดาวศุกร์ ยาวนานเป็น ๒๒๕ วันของโลก ช่วงเวลาของดาวศุกร์ ๑ วัน จึงยาวกว่าช่วงเวลา ๑ ปี อยู่ ๑๘ วัน
• เมื่อส่องกล้องโทรทรรศน์ดูดาวศุกร์ จะเห็นเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ในวันข้างขึ้นข้างแรม แต่มีขนาดเสี้ยวและความสว่างแตกต่างกัน แล้วแต่ตำแหน่งของดาวศุกร์ ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลกเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ "กาลิเลอี", "กาลิเลโอ" (Galilei, Galileo) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีสังเกตเห็นเป็นคนแรกใน พ.ศ. ๒๑๕๓ และใช้ยืนยันความคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ
• ในช่วง พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๓๗ มีการส่งยานอวกาศหลายลำไปสำรวจดาวศุกร์ แต่มนุษย์ก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับดาวศุกร์น้อยมาก เนื่องจากดาวศุกร์มีเมฆหนาทึบปกคลุมจนมองไม่เห็นพื้นผิว แม้แต่ยานอวกาศเวเนรา (Venera) ของสหภาพโซเวียต ที่ลงแตะบนพื้นผิวดาวศุกร์เพียงชั่วครู่ก่อนสูญสลายไป ก็ส่งภาพถ่ายมืดสลัวไม่ชัดเจน แต่เป็นครั้งแรกที่เปิดเผยว่าพื้นผิวบริเวณที่ยานลงจอดเต็มไปด้วยก้อนหิน และลาวาที่แข็งตัว จนเมื่อยานแมกเจลแลน (Magellan) ของสหรัฐอเมริกา โคจรสำรวจรอบดาวศุกร์ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๗ ยานได้เก็บข้อมูลด้วยระบบเรดาร์สามารถส่องทะลุชั้นเมฆหนาทึบ เปิดเผยถึงลักษณะภูมิประเทศของดาวศุกร์ ด้วยภาพถ่ายที่แตกต่างจากภาพในช่วงคลื่นแสงที่ตาคนมองเห็นได้ตามปกติ
• ต่อมา เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ยานวีนัสเอกซ์เพรส (Venus Express) เดินทางจากโลกไปโคจรสำรวจรอบดาวศุกร์ เริ่มส่งภาพถ่ายในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลตมายังโลกตั้งแต่กลาง พ.ศ. ๒๕๕๐ พบว่า บรรยากาศของดาวศุกร์มีการเคลื่อนไหว และแถบเมฆเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เมฆสว่างประกอบด้วยอนุภาคกรดกำมะถัน แต่องค์ประกอบของเมฆ ส่วนที่มืดยังไม่เป็นที่เข้าใจกัน
• ดาวศุกร์เป็นดินแดนแห่งซากภูเขาไฟ มีเถ้าและลาวาไหลทับถมอยู่ทั่วไป ภูเขาไฟขนาดต่าง ๆ กัน กระจายอยู่ทั่วดวง แต่ไม่เรียงตัวต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แสดงว่าโครงสร้างใต้เปลือกดวงไม่มีการเคลื่อนตัวเหมือนอย่างเช่น แผ่นเปลือกโลก พื้นผิวในแนวศูนย์สูตรเป็นพื้นที่สูง มีผืนทวีปใหญ่ ๒ แห่ง ขนาดราวทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลียบนโลก โดยมีแนวเขายาวเชื่อมต่อกัน นอกนั้นเป็นพื้นที่ต่ำกว่า
• ดาวศุกร์มีหลุมอุกกาบาตกระจายทั่วดวงจำนวนนับพันแห่ง พบมากในบริเวณพื้นที่ต่ำ หลุมอุกกาบาตหลายแห่งถูกลาวาไหลท่วมท้น พื้นผิวมีร่องเป็นทางยาวคล้ายกับถูกกัดเซาะยาวเหยียดหลายพันกิโลเมตร ลักษณะคล้ายแม่น้ำ หรือที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง และดินดอนปากแม่น้ำบนโลก แต่ดาวศุกร์ร้อนเกินกว่าที่จะมีน้ำเหลวอยู่ได้ และมีกระแสลมอ่อน ซากการกร่อนจึงไม่ได้เกิดจากกระแสน้ำและกระแสลม แต่เกิดจากหินหนืด และกระแสธารลาวามากมายที่ปะทุออกมาจากภูเขาไฟบนดาวศุกร์
• ถึงแม้ว่ากำเนิดของดาวศุกร์กับโลกจะคล้ายคลึงกันก็ตาม โดยต่างก็มาจากกลุ่มก้อนก๊าซต้นกำเนิดระบบสุริยะพร้อม ๆ กัน มีบรรยากาศตอนแรกเริ่มที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกำมะถัน ปะทุออกมาจากภูเขาไฟที่ระเบิดเหมือน ๆ กัน ถูกเศษดาวเคราะห์จำพวกดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง เป็นตัวนำน้ำและน้ำแข็งจากเขตชั้นนอกของระบบสุริยะพุ่งชนอยู่เสมอเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายพันล้านปี ดาวเคราะห์ทั้งคู่ ต่างมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน ปัจจุบันนอกจากขนาดที่ใกล้เคียงกันแล้ว ดาวศุกร์ไม่มีสิ่งใดคล้ายโลกอีกเลย
เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีฝุ่นกำมะถันจากการระเบิดของภูเขาไฟคละคลุ้งรวมตัวกับไอน้ำ เกิดเป็นเมฆสีเหลืองห่อหุ้มหนาทึบ และกลายเป็นฝนกรดกำมะถัน ทำให้บรรยากาศของดาวศุกร์เต็มไปด้วยก๊าซพิษที่ไม่เอื้ออำนวยต่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
เมื่อพลังงานจากดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์ลงไปกระทบพื้นผิว รังสีความร้อนบางส่วนจะสะท้อนกลับผ่านบรรยากาศแผ่ออกสู่อวกาศได้ โดยมีก๊าซในบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน ทำหน้าที่คล้ายผนังกระจกของเรือนเพาะชำ สะท้อนรังสีความร้อนบางส่วนกลับลงสู่พื้นผิว ซึ่งช่วยให้ดาวเคราะห์มีความอบอุ่น ไม่หนาวเย็นเกินไป เรียกก๊าซจำพวกนี้ว่า "ก๊าซเรือนกระจก"
เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกในดาวศุกร์ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ สารประกอบของกำมะถัน และไอน้ำในชั้นเมฆ มีปริมาณสูง และหนาทึบมาก จึงดูดจับรังสีความร้อนเก็บกักไว้ และปิดกั้นไม่ให้รังสีความร้อนหลุดหนีออกสู่อวกาศได้ ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศและบนพื้นผิวสูงมาก ดาวศุกร์สะสมความร้อนจนมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงประมาณ ๔๘๐ องศาเซลเซียส ภายใต้ความกดอากาศสูงประมาณ ๙๐ เท่า ของความกดอากาศบนพื้นผิวโลก ปัจจุบันดาวศุกร์มีสภาพร้อนระอุคล้ายเตาหลอมเหล็ก จัดเป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ชั้นในด้วยกัน และเป็นดาวเคราะห์ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นผลของสภาวะเรือนกระจกอย่างชัดเจน