Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บรรยากาศทำหน้าที่เป็นร่มกำบัง

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
828 Views

  Favorite

บรรยากาศทำหน้าที่เป็นร่มกำบัง
   

นอกจากความสำคัญหลายประการของอากาศดังที่ได้กล่าวมาแล้วบรรยากาศยังทำหน้าที่เป็นร่มบังรังสีที่ร้อนแรงจากดวงอาทิตย์โดยบรรยากาศชั้นสูงได้ดูดรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ไว้เกือบหมดรังสีคลื่นสั้นนี้เป็นอันตรายต่อพืช และ ผิวหนังของมนุษย์ยิ่งกว่านั้นในเวลากลางคืน บรรยากาศ ซึ่งมีไอน้ำอยู่ด้วยยังทำหน้าที่เป็นร่มหรือหลังคากั้นความร้อนซึ่งจะหนีออกไปจากโลกได้ด้วยถ้าหากว่าไม่มีบรรยากาศแล้วอุณหภูมิของโลกคงคล้ายอุณหภูมิของดวงจันทร์ คือ ในเวลากลางวันอุณหภูมิสูงสุดของโลกอาจจะพุ่งขึ้นสูงกว่า ๑๐๐ องศาเซลเซียส* และ ในเวลากลางคืนอุณหภูมิต่ำสุดของโลกจะดิ่งลงต่ำถึง -๑๘๐ องศาเซลเซียส ในลักษณะเช่นนี้บรรยากาศจึงทำหน้าที่คล้ายกับเรือนกระจกที่ใช้ปลูกต้นไม้เมืองร้อนในเขตหนาว คือ เรือนกระจกยอมให้รังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านเข้ามาได้แต่จะกั้นความร้อนของโลกซึ่งเป็นรังสีคลื่นยาวไม่ให้ออกไปจากเรือนกระจกฉะนั้นภายในเรือนกระจกจึงอบอุ่นอยู่เสมอสามารถทำให้ต้นไม้เมืองร้อนเติบโตในเขตหนาวได้ 

นอกจากนี้แล้วอาจจะกล่าวได้ว่าบรรยากาศยังทำหน้าที่เป็นตะแกรงใสหรือเครื่องรับการตกของอุกกาบาตแล้วทำให้อุกกาบาตเกิดการเผาไหม้ด้วยในวันหนึ่ง ๆ อาจจะมีผงอุกกาบาตตกมายังโลกได้ถึง ๑๐๐ ล้านเม็ด อุกกาบาตนี้มีตั้งแต่เม็ดเล็กมาก ๆ จนถึงขนาดใหญ่แต่ส่วนมากอุกกาบาตเหล่านี้จะถูกเผาไหม้หมดไปด้วยความร้อนซึ่งเกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศ


กลจักรบรรยากาศ 


ดวงอาทิตย์ โลก บรรยากาศ และ ไอน้ำ ทั้ง ๔ สิ่งนี้ เป็นองค์ประกอบใหญ่ของกลจักรบรรยากาศ (atmospheric engine) อันมหึมาซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียน (circulation) และ เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของบรรยากาศหรือกาลอากาศ (weather phenomena) ขึ้นในโลกของเราดวงอาทิตย์ทำหน้าที่คล้ายเป็นเตา เชื้อเพลิง ส่งความร้อนมายังพื้นโลก บริเวณพื้นโลกที่ได้รับความร้อนมากกว่า เช่น ที่บริเวณศูนย์สูตรก็จะทำให้บรรยากาศของบริเวณนั้นร้อนขึ้นเกิดการขยายตัว และ ลอยสูงขึ้นไปอากาศในบริเวณพื้นโลกที่ได้รับความร้อนน้อยกว่า และ เย็นกว่าก็จะเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่กรรมวิธีนี้ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศขึ้นนอกจากนี้แล้วการหมุนรอบตัวของโลกประมาณทุก ๆ ๒๔ ชั่วโมง การเอียงของแกนหมุนของโลกการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ ๓๖๕ ๑/๒ วัน รวมทั้งคุณสมบัติ และ ความแตกต่างของผิวพื้นดินและพื้นน้ำของโลกทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะทำให้การหมุนเวียนของบรรยากาศ ภูมิอากาศ และ ปรากฏการณ์ของบรรยากาศเกิดความยุ่งยากขึ้นนานาประการ และ แตกแยกออกไปเป็นหลายต่อหลายชนิด เช่น ลม ฝน พายุฟ้าคะนอง พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น

* เซลเซียส (Celsius) ชื่อหน่วยอุณหภูมิเดิมเรียกว่า เซนติเกรด ต่อมาเปลี่ยนเป็นเซลเซียสเพื่อเป็นเกียรติคุณแก่ แอนเดอรส์ เซลซิอัส (Anders Celsius, ค.ศ. ๑๗๐๑ - ๑๗๔๔, นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดน) ผู้คิดมาตราอุณหภูมิเซลเซียสขึ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow