Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อุตุนิยมวิทยา

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
6,945 Views

  Favorite

อุตุนิยมวิทยา

 

อุตุนิยมวิทยา คือ วิทยาศาสตร์ของบรรยากาศ และ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของอากาศ เช่น ฝน พายุ ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ เป็นต้น อุตุนิยมวิทยาเป็นวิชาสาขาหนึ่งของวิชาภูมิฟิสิกส์ (geophysics) การศึกษาอุตุนิยมวิทยาต้องอาศัยวิชาคำนวณฟิสิกส์ และ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศตามระดับต่าง ๆ บนพื้นดิน และ ตามบริเวณต่าง ๆ ของโลก

อุตุนิยมวิทยาแบ่งออกเป็นสาขาใหญ่ ๆ ได้ดังต่อไปนี้คือ 

  • อุตุนิยมวิทยาไดนามิก (dynamic meteorology) 
  • อุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศ (synoptic meteorology) 
  • ภูมิอากาศ (climatology) 

อุตุนิยมวิทยาไดนามิกและอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศ


การศึกษาอุตุนิยมวิทยาไดนามิก และ อุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศเป็นการศึกษาปรากฏการณ์หรือลักษณะอากาศปัจจุบันหรือในระยะเวลาใกล้ ๆ ซึ่งเรียกว่า "กาลอากาศ" (weather) ในการศึกษาอุตุนิยมวิทยาไดนามิกต้องอาศัยการศึกษากฎ และ ทฤษฎีกลศาสตร์ของของเหลว (fluid mechanics of hydrodynamic) เพื่อที่จะนำมาอธิบายพฤติการณ์ของบรรยากาศในขณะนั้น และ เพื่อการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าส่วนการศึกษาอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศนั้นอาศัยการศึกษาข้อมูลตรวจอากาศจากบริเวณกว้าง ๆ เพื่อที่จะทราบสภาวะของบรรยากาศ และ เพื่อการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าอุตุนิยมวิทยาไดนามิกเป็นการศึกษาด้านทฤษฎีส่วนอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศเป็นการศึกษาลักษณะของอากาศในปัจจุบันหรือประจำวัน ซึ่งเรียกว่า "กาลอากาศ


ภูมิอากาศ


ภูมิอากาศ หมายถึง การศึกษาสภาพของบรรยากาศ ลมฟ้าอากาศหรืออากาศประจำถิ่นของบริเวณใดบริเวณหนึ่งเพื่อที่จะนำไปช่วยในการพยากรณ์อากาศ และ นำไปใช้เป็นประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ จากคำอธิบายนี้ จะเห็นได้ว่า ภูมิอากาศก็คือผลเฉลี่ยระยะยาวของอุณหภูมิ ฝน ลม และสารประกอบอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ ของกาลอากาศนั่นเองหรืออาจจะกล่าวได้ว่า กาลอากาศ คือ พฤติการณ์หรือปรากฏการณ์ของกาลอากาศปัจจุบันส่วนภูมิอากาศเป็นผลเฉลี่ยของกาลอากาศในระยะยาว (ตามธรรมดาตั้งแต่ ๓๐ หรือ ๓๕ ปีขึ้นไป) ตัวอย่างเช่น วันนี้กาลอากาศของกรุงเทพมหานครมีฝนตกส่วนกรุงเทพมหานครนั้นอยู่ในภูมิอากาศของโซนร้อน และ ชื้น เป็นต้น 


ทำไมเราจึงต้องศึกษาอุตุนิยมวิทยา


อากาศซึ่งหุ้มห่อโลกของเราเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งอย่างหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตเพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้อากาศสำหรับหายใจจึงจะมีชีวิตอยู่ได้นอกจากนี้ธุรกิจประจำวันเกือบทุก ๆ อย่างของมนุษย์ย่อมขึ้นอยู่กับภาวะของอากาศเสมอในธุรกิจบางอย่างภาวะของอากาศมีส่วนข้องอยู่ด้วยเพียงเล็กน้อยแต่ในธุรกิจบางอย่างภาวะของอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มากบางครั้งอากาศอาจจะทำให้เกิดภัยอันตราย และ ความเสียหายได้มากหรืออาจจะทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ฉะนั้นไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรอากาศย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพนั้นเสมอไม่มากก็น้อย เช่น 

ถ้าเราเป็นเกษตรกรเราย่อมอยากจะทราบว่าดินฟ้าอากาศในบริเวณนั้น ๆ เป็นอย่างไรมีฝนมากน้อยเพียงใดการกระจายของฝนตกเป็นอย่างใด และ พืชที่เราจะทำการเพาะปลูกนั้นเหมาะสมกับสภาวะของอากาศในบริเวณนั้นหรือไม่ 

ถ้าเราทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบินเราย่อมต้องการทราบสภาวะของอากาศในขณะที่จะออกบินเพราะความปลอดภัยในการเดินทางขึ้นอยู่กับสภาวะของอากาศด้วยบริการอุตุนิยมวิทยาสำหรับการบินจึงมีไว้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และ อีกประการหนึ่งเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินอากาศข่าวอุตุนิยมวิทยานั้นมีประโยชน์ต่อการบินหลายอย่างนับตั้งแต่การวางแผนการบินสำหรับระยะทางไกลจนถึงการให้คำแนะนำชี้แจงลักษณะอากาศแก่นักบินทุก ๆ ครั้งที่บินสำหรับการบินระหว่างประเทศหน่วยอุตุนิยมมีบริการข่าวอากาศซึ่งจัดทำเป็นแผนที่และภาพต่าง ๆ พร้อมด้วยคำอธิบายชี้แจงและแนะนำอย่างย่อ ๆ เพื่อให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ และ นักบิน เพราะในการพิจารณาถึงสภาวะอากาศสำหรับเส้นทางบินนั้นสารประกอบอุตุนิยมวิทยา เช่น อุณหภูมิ ทิศ และ ความเร็วลม ทัศนวิสัย ความสูงของฐานเมฆ ความปั่นป่วนของอากาศ เหล่านี้มีผลกระทบกระเทือนต่อประสิทธิภาพของเครื่องบินบางครั้งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้อย่างมาก

 

ภาวะอากาศเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกด้าน
ภาวะอากาศเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกด้าน

 

การดำเนินกิจการของโครงการอวกาศก็เช่นกันต้องอาศัยการพยากรณ์อากาศอย่างแม่นยำเพราะการที่จะส่งจรวดขึ้นไปต้องอาศัยลักษณะอากาศที่ดีไม่มีพายุแรงหรือฝน และ การที่นักบินอวกาศจะกลับลงมายังพื้นดินได้เจ้าหน้าที่ของศูนย์อวกาศบนพื้นดินต้องเตรียมหาบริเวณพื้นที่ที่อากาศดี ไม่มีฝน ไม่มีพายุรุนแรง มิฉะนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของนักบินอวกาศได้

ในบางครั้งลักษณะอากาศที่เลวร้ายได้นำผลเสียหายมาสู่ประเทศชาติต่าง ๆ ได้เสมอ เช่น พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น เมื่อพายุไต้ฝุ่นนี้ผ่านไปในบริเวณใดอาจะทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นเสียชีวิตเป็นจำนวนร้อย และ ทรัพย์สมบัติเสียหายเป็นเงินหลายร้อยล้านบาทได้ เช่น เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ พายุไซโคลนพัดเข้าประเทศบังคลาเทศทำให้ประชาชนตายประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow