เหตุการณ์พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงในประเทศไทย
บริเวณเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก รวมทั้งทะเลจีนใต้และอ่าวไทย มีพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรง ถึงระดับพายุไต้ฝุ่นทุกๆ ปี แต่ไม่บ่อยนักที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยโดยผ่านปลายแหลมญวน ส่วนในทะเลอันดามัน พายุไซโคลนที่ก่อตัว บางครั้งก็เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นทะเล ที่เป็นอุปสรรคหรืออันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะการเดินเรือประมงชายฝั่ง รวมทั้งบางครั้งอาจทำให้เกิดฝนตกหนัก ในพื้นที่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทยด้วย
หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่แม้มีอัตราลมที่หมุนรอบตัวเองไม่รุนแรงพอที่จะเป็นพายุดีเปรสชัน ก็อาจเคลื่อนที่ และนำฝนเข้าสู่พื้นที่ของประเทศไทยได้เช่นกัน ดังเช่น การเกิดอุทกภัยในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ และการเกิดอุทกภัยในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นอกจากนี้ แม้ว่าพายุหมุนเขตร้อนยังไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่ในบางครั้งพายุเหล่านี้มีอิทธิพล ทำให้ลมมรสุมที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรง และพัดหอบเอาความชื้นเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง และเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ เช่น ในกรณีของอุทกภัยน้ำก้อ-น้ำชุน ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เหตุการณ์การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง แต่กำลังลมสูงสุดน้อยกว่าพายุดีเปรสชัน ได้ก่อตัวขึ้นในบริเวณอ่าวไทย แล้วเคลื่อนตัวช้าๆ จากนอกชายฝั่งเข้าสู่บริเวณจังหวัดสงขลา ทำให้กลุ่มเมฆปกคลุม และฝนตกต่อเนื่องในจังหวัดสงขลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่มีมากเกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำของตัวอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งมีข้อจำกัดจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น คันถนน ทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ในตอนกลางดึกของวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ในกรณีอุทกภัยที่เกิดที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่นั้น ในต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวในทะเลอันดามัน ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ได้เคลื่อนผ่านด้านตะวันตกของประเทศไทย แล้วเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ผ่านจังหวัดสุโขทัยและแพร่ ทำให้มีเมฆฝนปกคลุมในบริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน และเกิดฝนตกชุกหนาแน่น จนทิวเขาที่อยู่รอบๆ ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยไม่สามารถรองรับ และอุ้มน้ำไว้ได้ ดังนั้น ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ น้ำป่าจำนวนมากได้ทะลักบ่าจากภูเขาสูงลงถล่มหลายหมู่บ้าน ในตำบลแม่พุง ตำบลสรอย และตำบลป่าสัก อำเภอวังชิ้น บางแห่งระดับน้ำสูงถึง ๒ เมตร ทำลายบ้านเรือนรวม ๑๙๓ หลัง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑๗,๐๙๓ คน มีผู้เสียชีวิต ๓๔ คน บาดเจ็บ ๕๘ คน สูญหายไป ๔ คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย ประมาณ ๔๐ ล้านบาท นับเป็นความเสียหายอย่างหนักครั้งแรกในรอบ ๕๐ ป ของจังหวัดแพร่
ถัดมาเพียง ๓ เดือน ได้เกิดอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักเป็นเวลานานสืบเนื่องมาจากพายุเขตร้อน “อุซะงิ” ในทะเลจีนใต้ บริเวณตอนใต้ของเกาะไหหลำ ได้เคลื่อนตัวขึ้นชายฝั่งประเทศเวียดนาม และเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น นำพาฝนตกชุกเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน บริเวณทิวเขาของจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ ฝนที่ตกนี้ไม่ได้มาจากพายุโดยตรง ในที่สุด เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ น้ำป่าปริมาณมากมายจากภูเขาสูงในเขตอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ไหลหลากลงมา ทำให้เกิดการพังทลายของแนวดินตามไหล่เขาหลายสิบแนวในเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดเป็นโคลนดินที่อุ้มน้ำ พัดพาทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ให้ไหลลงสู่ที่ราบเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว ในตำบลน้ำก้อ และตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ถล่มบ้านเรือนราษฎรเสียหายกว่า ๒,๐๐๐ หลังคาเรือน มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๒๖ คน และสูญหาย ๑๑ ราย
ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลักษณะอากาศในประเทศไทยมักมาจากทะเลจีนใต้ ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน พายุหมุนเขตร้อนนี้ แม้มีความรุนแรงระดับพายุไต้ฝุ่นขณะอยู่ในทะเลจีนใต้ แต่มักอ่อนกำลังลงเมื่อขึ้นฝั่ง เนื่องจากการสูญเสียพลังงานและอิทธิพลจากความฝืดของพื้นทวีป ดังนั้น พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย และมีอิทธิพลโดยตรงจึงมักเป็นเพียงพายุดีเปรสชัน ที่มีอัตราเร็วลมไม่รุนแรงมาก และส่งผลให้ฝนตกไม่หนักมาก แต่ต่อเนื่องเป็นบริเวณกว้าง พายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทย และทำความเสียหายอย่างมากมายต่อทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชน ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ พายุเขตร้อน “แฮร์เรียต” (Harriet) ที่พัดผ่านอ่าวไทยเข้าฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และพายุไต้ฝุ่น“เกย์” (Gay) ที่พัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่อำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม - ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒
พายุหมุนเขตร้อนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงอีกลูกหนึ่ง คือ พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยลูกแรก ที่มีความรุนแรง ถึงระดับพายุไต้ฝุ่น พายุนี้เริ่มก่อตัวเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ในบริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย และเคลื่อนตัวขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ เดิมพายุลูกนี้ มีทิศทางมุ่งเข้าหาฝั่ง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมา ในตอนเช้าของวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พายุนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นจนถึงระดับพายุไต้ฝุ่น และเปลี่ยนทิศทางไปทางเหนือ พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ได้เคลื่อนตัวผ่านฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัทยูโนแคลในอ่าวไทย ทำให้เรือขุดเจาะชื่อ “ซีเครสต์” (Sea Crest) พลิกคว่ำ มีเจ้าหน้าที่ประจำเรือเสียชีวิต ๙๑ คน พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ได้ทวีกำลังแรงเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุถึง ๑๐๐ นอต ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง อำเภอปะทิวกับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในตอนเช้าของวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ปรากฏว่า นอกจากทำให้มีผู้เสียชีวิต และทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในพื้นที่ของจังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่แล้ว พายุนี้ยังส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งจังหวัดตามชายฝั่งทะเลตะวันออกด้วย มีผู้เสียชีวิตกว่า ๕๐๐ คน สูญหายกว่า ๔๐๐ คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า ๑ หมื่นล้านบาท เรือกสวนไร่นาเสียหายกว่า ๙ แสนไร่ เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ ๕๐๐ ลำ ศพลูกเรือลอยเกลื่อนทะเล และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย