สถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทย
ฤดูกาลของการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้หรืออ่าวไทยนั้น เกิดในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม หรือพฤศจิกายน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม มักไม่ปรากฏมากนัก อาจมีเพียง ๑ - ๒ ลูก แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน อาจมีถึง ๓ - ๔ ลูก พายุที่เกิดในช่วงนี้มักจะขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนาม แล้วค่อยๆ อ่อนกำลังลงตามลำดับ ไม่มีอันตรายจากลมแรง แต่พายุที่เกิดในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ส่วนใหญ่จะผ่านมาทางตอนใต้ของปลายแหลมญวน หากเป็นพายุใหญ่เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่น พายุเขตร้อน“แฮร์เรียต” และพายุไต้ฝุ่น “เกย์” ที่ได้กล่าวมาแล้ว
ส่วนพายุหมุนเขตร้อนในทะเลอันดามัน เกิดได้ใน ๒ ช่วงเวลาของปี คือ ในเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมช่วงหนึ่ง และในกลางเดือนตุลาคมถึงธันวาคมอีกช่วงหนึ่ง โดยเกิดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน และเกิดมากรองลงมาในเดือนพฤษภาคม
ช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม รองลงมาคือเดือนกันยายน จำนวนพายุหมุนเขตร้อน ที่เข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีประมาณ ๓ ลูกต่อปี
ตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ปรากฏว่า พายุหมุนเขตร้อนที่มีกำลังแรงเป็นพายุเขตร้อนหรือพายุไต้ฝุ่น เมื่อเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๔ - พ.ศ. ๒๕๔๘ มีรวมทั้งหมด ๑๒ ลูก คือ
๑. พายุไต้ฝุ่น “เว้” (Vae)
ก่อตัวเป็นพายุดีเปรสชันเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ค่อนไปทางใต้ และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเขตร้อน และพายุไต้ฝุ่นตามลำดับ พายุนี้ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ขณะที่ยังมีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่น ต่อมา พายุนี้ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยด้านจังหวัดตราด ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม เมื่ออ่อนกำลังลงเป็นพายุเขตร้อน ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายแห่งในจังหวัดชลบุรี จันทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเรือใบล่มในทะเลจำนวนหนึ่งด้วย
๒. พายุเขตร้อน “แฮร์เรียต” (Harriet)
เริ่มก่อตัวเป็นพายุดีเปรสชันเหนือทะเลจีนใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้วเคลื่อนตัวสู่อ่าวไทยตอนล่าง เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พร้อมกับทวีกำลังเป็นพายุเขตร้อน แล้วเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคใต้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส รวม ๑๒ จังหวัด มีผู้เสียชีวิต ๙๓๕ คน บ้านเรือนพังทลายกว่า ๕๐,๐๐๐ หลัง ไร่นาเสียหายนับแสนไร่ รวมค่าเสียหายกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท
๘. พายุไต้ฝุ่น “เบกกี” (Becky)
ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และมีกำลังแรงเป็นพายุเขตร้อนในวันต่อมา แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ต่อมา ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น และวันที่ ๒๙ สิงหาคม ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ขณะอ่อนกำลังลงเป็นพายุเขตร้อน ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่เขตประเทศไทย ในบริเวณจังหวัดหนองคาย แล้วผ่านเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านจังหวัดน่าน ก่อนที่จะอ่อนกำลัง เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณจังหวัดแพร่
พายุนี้ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบน เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน และสิ่งสาธารณูปโภค รวมทั้งไร่นาจำนวนมาก
๙. พายุไต้ฝุ่น “เฟรด” (Fred)
ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ และทวีกำลังเป็นพายุเขตร้อน แล้วพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่น ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุเขตร้อน หลังจากเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ผ่านจังหวัดสกลนครและอุดรธานี แล้วอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันที่บริเวณจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม จากนั้นเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดเลย และอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในจังหวัดเพชรบูรณ์ในตอนค่ำวันเดียวกัน พายุนี้ ทำให้เกิดฝนตกหนักมาก ในช่วงวันที่ ๑๗ - ๑๙ สิงหาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
๑๐. พายุเขตร้อน “ฟอร์เรสต์” (Forrest)
ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมา ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ได้ทวีกำลังแรงขึ้น เป็นพายุดีเปรสชัน และพายุเขตร้อน แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และไปขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะเป็นพายุเขตร้อน เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ต่อมา ได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา แล้วลงสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พายุนี้ ขณะเคลื่อนตัวอยู่ในอ่าวไทย จะทำให้เกิดคลื่นลมแรงจัด และเมื่อเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง ก็ทำความเสียหายอย่างมากมายให้แก่บ้านเรือน และไร่นา ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ประเมินค่าความเสียหายมากกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท
๑๑. พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” (Linda)
ก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก และมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเขตร้อน ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ก่อนจะเคลื่อนตัวผ่านปลายเเหลมญวนเข้าสู่อ่าวไทย ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน และทวีกำลังแรงขึ้น เป็นพายุไต้ฝุ่น ต่อมา เคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทย และอ่อนกำลังเป็นพายุเขตร้อนก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน แล้วเคลื่อนตัวผ่านประเทศพม่าไปลงทะเลอันดามัน
พายุนี้ทำให้บริเวณอ่าวไทยมีลมแรงและคลื่นจัด เรือประมงอับปางหลายสิบลำ และเกิดฝนตกหนักในจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และระนอง เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในบริเวณดังกล่าว มูลค่าความเสียหายมากกว่า ๒๐๐ ล้านบาท
๑๒. พายุไต้ฝุ่น “จันทู” (Chanthu)
ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ต่อมาเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนล่าง ในวันที่ ๙ มิถุนายน ก่อนมีกำลังแรงเป็นพายุเขตร้อน เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน แล้วทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุไต้ฝุ่น ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และอ่อนกำลังลงเป็นพายุเขตร้อนในวันเดียวกัน จากนั้นพายุนี้ ได้เคลื่อนตัวผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าสู่ประเทศไทย บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี และหนองคาย จากนั้น เข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกครั้ง โดยอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พายุนี้ ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือน และไร่นาเป็นอันมาก ประเมินค่าความเสียหายกว่า ๗๐ ล้านบาท