การก่อตัวและแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อน
พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนที่ละติจูด ๕ - ๒๐ องศาเหนือและใต้ ซึ่งน้ำในมหาสมุทรบริเวณนั้นอุ่นพอ ที่จะทำให้เกิดการระเหยของน้ำขึ้น พายุหมุนเขตร้อนสามารถก่อตัวได้ ต่อเมื่อพื้นมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงกว่า ๒๖ - ๒๗ องศาเซลเซียส และบรรยากาศบริเวณนั้นสงบ ซึ่งมักอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนในซีกโลกเหนือ ภายใต้สภาวะดังกล่าว น้ำทะเลจำนวนมากจะระเหยไปในบรรยากาศ ต่อมา ไอน้ำดังกล่าวกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กจำนวนมาก แล้วกลายเป็นเมฆ และฝนต่อไป โดยในกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำนั้นจะมีการคายพลังงานแฝงออกมา พลังงานนี้ เมื่อรวมกับแรงที่เกิดจากการหมุนตัวของโลก หรือแรงคอริออลิสแล้ว ก็จะเป็นตัวการขับเคลื่อนพายุหมุนเขตร้อน ทั้งนี้ พายุหมุนเขตร้อนตามปกติจะไม่เกิดบริเวณเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากไม่มีแรงคอริออลิสพอที่จะทำให้เกิดการหมุนของลมพายุ
ขั้นตอนแรกของการเกิดพายุหมุนเขตร้อน คือ การก่อตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำอย่างแรง ที่เกิดขึ้นในกระแสลมค้า ที่พัดจากตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งมีกระบวนการพาความร้อนเกิดขึ้น เนื่องจากพัดผ่านพื้นน้ำที่อุ่นมาก ทำให้การระเหยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ๒๖ - ๒๗ องศาเซลเซียส ขณะที่อากาศลอยสูงขึ้นไป ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของเมฆ และในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยพลังงานแฝงจำนวนมากสู่บรรยากาศ นอกจากนี้อากาศอุ่นเหนือพื้นทะเลที่เคลื่อนตัวลอยสูงขึ้นไปดังกล่าว ทำให้เกิดบริเวณความกดอากาศต่ำใกล้พื้นน้ำ ซึ่งเป็นตัวการ ทำให้เกิดลมที่หมุนพัดพาเข้าสู่บริเวณดังกล่าว ลมที่หมุนจะพัดหอบเอาอากาศที่มีความชื้นสูงจากพื้นมหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเกิดพายุหมุนได้ แล้วพัฒนาต่อไปเป็นพายุดีเปรสชัน พายุเขตร้อน และพายุไต้ฝุ่น ตามความแรงของลมหมุนนี้
พายุหมุนเขตร้อนมีแหล่งกำเนิดที่พบบ่อย คือ
๑. บริเวณด้านตะวันตกในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ
๒. บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย
๓. บริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย
๔. น่านน้ำในเขตร้อนใกล้ทวีปออสเตรเลีย
๕. น่านน้ำเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณด้านตะวันตกของประเทศเม็กซิโก และอเมริกากลาง
๖. เขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า เกิดพายุหมุนเขตร้อนในบริเวณทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกในซีกโลกใต้ และบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกในซีกโลกใต้ เพราะในบริเวณดังกล่าวน้ำค่อนข้างเย็นเป็นบริเวณกว้าง ส่วนบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้งทะเลจีนใต้เป็นบริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนชุกที่สุด หรือประมาณ ๓๐ กว่าลูกในทุกๆ ปี