Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การละเล่นของเด็กและผู้ใหญ่

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
3,394 Views

  Favorite

การละเล่นของเด็กและผู้ใหญ่

ชักเย่อ (ชักกะเย่อ)
ผู้เล่นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย มีจำนวนเท่ากัน (นอกจากจะตกลงกันเป็นพิเศษ เช่น ฝ่ายหนึ่งชาย ฝ่ายหนึ่งหญิง จะให้ชายมีจำนวนน้อยกว่าหญิงก็ได้)

วิธีเล่น นำเชือกเส้นใหญ่ที่มีความแข็งแรงพอจะทานกำลังผู้เล่นทั้งสองฝ่ายที่จะดึงเชือกนั้นมาวาง มีเส้นเขตกลาง ซึ่งจะวางเชือกให้กึ่งกลางตรงเส้นพอดี แล้วให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจับสลาก หรือไม้สั้นไม้ยาวว่า ใครจะอยู่ด้านไหน เมื่อได้สลากแล้ว ผู้เล่นจะไปยืนประจำที่ข้างเชือกที่วาง กะระยะให้ห่างกัน พอให้ไม่ชนกันได้ขณะเอนตัวดึงเชือก เมื่อวางระยะดีแล้ว ผู้เล่นจะดึงเชือกให้สูงพอเอว ผู้ตัดสินจะไปยืนตรงเส้นเขตกลาง (ซึ่งเป็นเส้นชัยด้วย) เมื่อผู้ตัดสินให้สัญญาณ ทั้งสองฝ่ายจะลงมือดึงเชือก พยายามให้อีกฝ่ายหนึ่งลู่ไปในทิศทางของตน แต่ละฝ่ายมีผู้ให้สัญญาณ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน ผู้ที่อยู่ต้นเชือก และหางเชือกเป็นคนสำคัญ ยิ่งในระหว่างดึงนั้น ถ้าผู้ใดเสียหลักยันพื้นไม่อยู่ ก็จะเสียกำลัง ความสนุกอยู่ที่ผู้ให้สัญญาณ และผู้เล่นที่มีท่าทางสีหน้าต่างๆ กัน การแพ้ชนะอยู่ที่ฝ่ายไหนสามารถดึงอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ลู่ตามไปถึงเส้นชัย จะเป็นฝ่ายชนะ การเล่นชนิดนี้ฝึกความพร้อมเพรียง ความอยู่ในระเบียบวินัย การทรงตัว และออกกำลังกาย ทั้งแขนและขา

การละเล่นแบบนี้ในภาคเหนือเรียกว่า "ยู้ส้าว" มีวิธีการเล่นเหมือนกันกับภาคกลางแต่ภาคเหนือมีคำร้องประกอบ

การเล่นชักเย่อ
การเล่นชักเย่อ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

ลูกช่วง
แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่ายเท่า ๆ กัน อุปกรณ์การเล่น ใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่ห่อเอาหญ้าแห้ง หรือวัตถุนิ่มๆ ให้เป็นลูกกลมๆ ผูกชายไว้ ยาวพอจะโยนได้

วิธีเล่น แบ่งเขตผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย ยืนห่างกันพอสมควร เริ่มต้น โยนลูกไปให้อีกฝ่ายหนึ่งรับ ถ้ารับได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะปาให้ถูกตัวคนใดคนหนึ่ง ของฝ่ายตรงข้าม ถ้าปาไม่ถูกก็พับไป ต้องโยนกลับไปให้ฝ่ายตรงข้ามให้เป็นผู้รับ ถ้าปาถูกคนไหน คนนั้นต้องไปเป็นเชลยอีกฝ่ายหนึ่ง เล่นสลับกันดังนี้ต่อไปจนเหนื่อย ฝ่ายไหนได้เชลยมาก ฝ่ายนั้นชนะ การเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกต ความว่องไว และความรับผิดชอบ ภาคอีสาน และภาคใต้มีการเล่นคล้ายกัน ต่างกันที่การโยนลูกช่วงนั้น ผู้โยนลูกช่วงเป็นผู้ขี่คอคน ซึ่งสมมุติเป็นม้า การเล่นชนิดนี้ ภาคอีสานเรียกว่า "ม้าหลังโปก" ภาคใต้เรียกว่า "ขี่ม้าโยนรับ" "ขี้ม้าโยนผ้า" ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อของคนและม้าตอนรับกัน ถ้าลูกตก ม้าเก็บได้ ก็อาจทำพยศ ให้คนตก เป็นต้น

ลูกช่วง
ลูกช่วง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

งูกินหาง
วิธีเล่น ให้คนหนึ่งเป็นพ่องู อีกคนหนึ่งเป็นแม่งู พ่องูยืนหันหน้าเข้าหาแม่งู นอกนั้นเป็นลูกงูจับเอวกันเป็นแถวยาว ความยาวของลูกงูนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้เล่น ในการเล่นมีบทพูดโต้ตอบกัน ดังนี้

พ่องู : แม่งูเอ๋ย
แม่งู : เอ๋ย (ลูกงูช่วยตอบ)
พ่องู : กินน้ำบ่อไหน
แม่งู : กินน้ำบ่อโศก
ลูกงู : โยกไปก็โยกมา (แม่งูและลูกงูโยกตัว ขยายแถวทั้งแถว)
พ่องู : แม่งูเอ๋ย
แม่งู : เอ๋ย
พ่องู : กินน้ำบ่อไหน
แม่งู : กินน้ำบ่อทราย 
ลูกงู : ย้ายไปก็ย้ายมา (วิ่งทางซ้ายทีขวาที)
พ่องู : กินน้ำบ่อไหน
แม่งู : กินน้ำบ่อหิน
ลูกงู : บินไปก็บินมา (ทำท่าบินแล้วจับเอวต่อ)
พ่องู : หุงข้าวกี่หม้อ
แม่งู : ..... หม้อ (เท่ากับจำนวนลูกงูกับแม่งู)
พ่องู : ขอกินหม้อได้ไหม
ลูกงู : ไม่ได้
พ่องู : ตำน้ำพริกกี่ครก
แม่งู : ..... ครก
พ่องู : ขอกินครกได้ไหม
ลูกงู : ไม่ได้
พ่องู : ทอดปลาทูกี่ตัว
แม่งู : ..... ตัว
พ่องู : ขอกินตัวได้ไหม
ลูกงู : ไม่ได้
พ่องู : กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว
แม่งู : กินหางตลอดหัว
 
พ่องูจะไล่จับลูกงูจากปลายแถวขึ้นมาหัวแถว แม่งูต้องพยายามป้องกัน ไม่ให้พ่องูเอาลูกงูไปได้ โดยการกางมือกั้น แล้วลูกงูต้องคอยวิ่งหนี แต่ต้องระวังไม่ให้แตกแถว เมื่อจับลูกงูได้ พ่องูจะถามลูกงูว่า
พ่องู : อยู่กับพ่อหรืออยู่กับแม่
ลูกงู : อยู่กับแม่
พ่องู : ลอยแพไป
พ่องู : หักคอจิ้มน้ำพริก
 
พ่องูก็จะจับลูกงูให้ออกจากการเล่นไปอยู่เช่นนี้จนจับได้หมด ถ้าตอบว่า "กินกลางตลอดตัว" พ่องูจะจับลูกงูตัวแรกในบริเวณกลางลำตัว ต่อๆ ไปก็เลือกจับตามใจชอบ ลูกงูต้องหลบหลีกให้ดี ถ้าแม่งูตอบว่า กินหัวตลอดหาง พ่องูต้องพยายามปล้ำกับแม่งูให้แพ้ชนะให้ได้ แล้วจับลูกตั้งแต่หัวแถวลงไปจนหมด เป็นอันจบเกม
การเล่นชนิดนี้ นอกจากให้ความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นการฝึกภาษา ถ้าเป็นการเล่นของเด็กจะมีเพียงบทโต้ตอบดังกล่าว เพื่อเป็นการเรียนรู้ในการสื่อสารในเรื่องความหมายของกริยาต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะใช้บทร้องพระนิพนธ์ของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในบทละครดึกดำบรรพ์ เรื่องอิเหนา ตอนเสี่ยงเทียน ให้เด็กร้องที่หน้าวิหารเพียง ๒ บท ต่อไปนั้นผู้เล่นก็จะใช้ปฏิภาณในการโต้ตอบจนพอใจ จึงจะวิ่งไล่จับกัน
"แม่งูเอ๋ยเจ้าไปอยู่ที่ไหนมา
ไปกินน้ำหนากลับมาเมื่อตะกี้
กินน้ำบ่อไหนบอกไปให้ถ้วนถี่
จะบอกประเดี๋ยวนี้
บอกมาซีอย่าเนิ่นช้า
ไปกินน้ำเอย ไปกินน้ำบ่อหิน (ซ้ำ)
บินไปก็บินมา ฉันรักเจ้ากินรา
บินมาบินไปเอย"
 
พ่องูจะถามซ้ำ แม่งูจะตอบว่า ไปกินน้ำบ่ออื่นๆ ร้องให้รับกัน การเล่นในภาคเหนือเรียกว่า "งูสิงสาง" วิธีเล่นคล้ายกัน แต่ไม่มีพ่องู แม่งู คนหนึ่งจะขุดดิน คนที่เหลือจับเอวกันเป็นงู ฝ่ายที่เป็นงูเดินไปรอบๆ แล้วมีการโต้ตอบกันระหว่างคนขุดดินกับงู เป็นภาษาเหนือล้อเลียนกัน ตอนแรกงูถามว่า ขุดอะไร ขอบ้าง (อ้างชื่อของในดิน เช่น แห้ว มัน) ต่อมาคนขุดดินของงูบ้าง งูไม่ให้ บอกให้ไล่จับเอา
การเล่นงูกินหาง ตอนพ่องูไล่จับลูกงูกิน
การเล่นงูกินหาง ตอนพ่องูไล่จับลูกงูกิน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

 
โค้งตีนเกวียน หรือระวงตีนเกวียน (ภาคอีสาน) 
วิธีเล่น ในภาคอีสานจะแบ่งคนเล่นเป็น สองพวก พวกหนึ่งยืน พวกหนึ่งนั่งสลับกันไป พวกที่นั่งเอาเท้ายันกันไว้ มือจับคนยืนจับกัน เป็นรูปวงกลม พวกยืนเดินไปรอบๆ พวกนั่งยกก้นพ้นพื้น หมุนไปรอบๆ ถ้าฝ่ายหนึ่งทำมือหลุด เป็นฝ่ายแพ้ ต้องเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายยืน
การเล่นชนิดนี้ภาคกลาง เรียกว่า "หมุนนาฬิกา หรือทอดกระทะ" เป็นการเล่นฝึกการทรงตัว ความพร้อมเพรียง และความอดทน
การเล่นโค้งตีนเกวียนหรือระวงตีนเกวียน
การเล่นโค้งตีนเกวียนหรือระวงตีนเกวียน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

 
จ้องเต หรือต้องเต
การเล่นจ้องเต มี ๒ ชนิด คือ จ้องเตเขย่ง และจ้องเตข้าม ทั้งสองชนิดต้องขีดเส้นบนลานเป็น ๘ ช่อง
 
จ้องเตเขย่ง 
เมื่อตกลงกันตามวิธีการเล่นว่าใครเป็นคนแรก ผู้เล่นก็จะโยนเบี้ย (ใช้วัสดุอะไรก็ได้) ไปตามช่อง ๑ ถึง ๘ ถ้าทับเส้น หรือออกนอกตาราง ที่ช่องใดก็ถือว่า "ตาย" ผู้เล่นต้องเขย่งไปเก็บเบี้ย แล้วเขย่งต่อไปจนถึงที่ที่มี ๒ ช่อง หรือ ๒ ตาคู่กัน คือช่อง ๓ และ ๔ กับ ๖ และ ๗ ก็พักเท้าได้ พอถึงหัวกะโหลกคือ ช่องที่ ๘ ก็หมุนตัวกลับเขย่งกลับไปที่เดิม ถ้าขาตก หรือเหยียบเส้น ก็ถือว่า ตาย ถ้าเล่นได้ถึงตาที่ ๓ หรือ ๔ หรือ ๖ หรือ ๗ ต้องเขย่งเก็บ ถ้าเล่นได้ถึง ๘ ตา ก็หันหลังโยนเบี้ยให้ลงช่องใด ช่องหนึ่ง ถ้าโยนได้ช่องไหนก็ได้ "บ้านพัก" ถ้าเล่นคราวต่อไปรอบ ๒ ก็พักขาที่บ้านพักนั้นได้ คนอื่นพักไม่ได้ ต้องข้ามไป แต่ถ้ารอบใด โยนบ้านพักได้ซ้ำที่ ถือว่า ไฟไหม้ต้องยกเลิกไป วิธีกันคนอื่นก็คือ พยายามโยนให้ได้บ้านพักติดๆ กัน คนอื่นก็พักไม่ได้ มีโอกาส "ตาย" ง่าย คนไหนได้ "บ้านพัก" มากก็ชนะ
 
จ้องเตข้าม 
ผู้เล่นนำเบี้ยใส่หลังเท้าเดินโยนไปตามช่อง เวลาเดินเก็บเบี้ย แล้วเดินตามช่องต่างๆ ต้องไม่ทับเส้น หรือออกนอกตาราง ด้วยวิธีเดินเงยหน้า ถ้าเหยียบเส้น ผู้ที่เล่นด้วยจะร้อง "มิด" ถ้าข้ามช่องได้ผู้ร้องจะร้องว่า "ลอ"ถ้าร้องว่า "มิด" ก็ตาย ต้องให้ผู้อื่นเล่น นอกนั้นเหมือน "ตาเขย่ง" การเล่นแบบนี้ ฝึกความสังเกต และความแม่นยำในการกะระยะโยนเบี้ย คล้ายการเล่นของภาคอีสานที่เรียกว่า "มิดลอ"
การเล่นจ้องเตชนิดต่างๆ
การเล่นจ้องเตชนิดต่างๆ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

 
ไม้หึ่ง
แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๓ - ๖ คน อุปกรณ์การเล่น ได้แก่ ไม้หึ่งสั้น เรียกว่า ลูกหึ่ง ยาวประมาณ ๑ คืบ และไม้หึ่งยาว เรียกว่า แม่หึ่ง ยาวประมาณ ๑ ช่วงแขน
วิธีเล่น ขุดหลุม ๑ หลุม กว้างพอที่จะวางลูกหึ่งขวางหลุมได้ ผู้เล่นชุดแรกเรียกว่า ฝ่ายรุก วางลูกหึ่งไว้ปากหลุม แล้วเอาแม่หึ่งงัดลูกหึ่งไปให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้ ให้ฝ่ายรับรับลูกหึ่ง ถ้าฝ่ายรับรับได้ ฝ่ายรุกตาย ต้องเปลี่ยนกัน ถ้ารับไม่ได้ ฝ่ายรับนำลูกหึ่งโยนกลับมาให้โดยแม่หึ่ง ซึ่งฝ่ายรุกจะวางพาดไว้ปากหลุม ถ้าลูกหึ่งโดนแม่หึ่ง ฝ่ายรุกตาย ถ้าไม่ถูกก็เล่นตาต่อไป การเล่นมี ๓ ตา คือ
ตาที่ ๑ อีงัด
ตาที่ ๒ อีตี ใช้แม่หึ่งตีลูกหึ่งไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้
ตาที่ ๓ อีวัด ใช้แม่หึ่งวัดระยะทางที่แม่หึ่งตีลูกหึ่งออกไปว่าไกลเท่าไร
ผู้ที่ตีได้ไกลที่สุดจะได้ขี่หลังฝ่ายตรงข้ามเท่ากับระยะทางที่ตกลงกัน และให้ฝ่ายที่ถูกขี่หลังร้อง "หึ่ง" ไปด้วย
บางแห่งกำหนดกติกาไว้ด้วยว่า หากตีไปแล้ว อีกฝ่ายรับได้ จะต้องร้องหึ่งวิ่งกลับไปมา ระหว่างจุดที่ตีได้กี่เที่ยว จนกว่าหึ่งจะหยุด จะได้ขี่หลังเท่ากับจำนวนรอบที่วิ่งได้
การเล่นแบบนี้ ภาคอีสานเรียว่า "ไม้หิง" ภาคใต้เรียกว่า "ไม้ขวิด" หรือ "ไม้อี้" การเล่นไม้หึ่งให้ประโยชน์ในการฝึกใช้มือ ฝึกความไวของประสาทตา ฝึกความมีไหวพริบ และทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
ไม้หึ่งสั้น (ลูกหึ่ง) และไม้หึ่งยาว (แม่หึ่ง)
ไม้หึ่งสั้น (ลูกหึ่ง) และไม้หึ่งยาว (แม่หึ่ง)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
การเล่นไม้หึ่ง
การเล่นไม้หึ่ง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

 
รีรีข้าวสาร
วิธีเล่น ผู้เล่น ๒ คน ยืนเอามือประสานกันเหนือศีรษะเป็นประตูโค้งหรือซุ้ม คนอื่นๆ เกาะไหล่กันลอดใต้โค้งไปเรื่อยๆ ผู้เล่น ๒ คนที่เป็นประตูจะร้องเพลงประกอบ เวลาลอดใต้ซุ้ม หัวแถวจะต้องเดินอ้อมหลังคนที่เป็นประตูครั้งละคน เมื่อจบเพลง ผู้เป็นประตูจะกระตุกแขนลง กั้นคนสุดท้ายให้อยู่ระหว่างกลาง คัดออกไป คนข้างหลังต้องระวังตัวให้ดี มิฉะนั้นตัวเองต้องออกจากการเล่น ต้องพานให้ได้หมดทุกคนจึงจะจบเกม 
บทร้องประกอบการเล่นมีว่า รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้ 
การเล่นชนิดนี้ ความสนุกสนานอยู่ที่คำร้อง จังหวะของคำร้อง และการได้ฝึกความว่องไว ไหวพริบ ที่จะต้องพยายามไม่ให้ถูกตัดออกจากการเล่น
 
มอญซ่อนผ้า
วิธีเล่น จับไม้สั้นไม้ยาวเลือกคนที่เป็นมอญ คนอื่นๆ นั่งล้อมวง และร้องเพลง คนที่เป็นมอญถือผ้าไว้ในมือ เดินวนอยู่นอกวง ระหว่างนั้นจะทิ้งผ้าไว้ข้างหลังใครก็ได้ แล้วต้องพรางไว้ ทำเป็นว่า ยังถือผ้าอยู่ เมื่อเดินกลับมาผ้ายังอยู่ที่เดิม ก็หยิบผ้าขึ้น และไล่ตีผู้นั้น ถ้าผู้ถูกไล่วิ่งหนี มานั่งที่เดิมไม่ทัน ถูกมอญตี ก็ต้องเป็นมอญแทน และหาทางวางผ้าให้ผู้อื่นต่อไป ถ้าใครรู้สึกตัวคลำพบ จะวิ่งไล่มอญไปรอบๆ วง มอญต้องรีบวิ่งหนี ถ้าคนที่ไล่ตีไม่ถูก มอญได้นั่งแทนที่ คนที่ไล่ก็ต้องเป็นมอญแทน หากตีถูก มอญคนเดิม ก็ต้องเป็นมอญต่อไป 
บทร้องประกอบการเล่นมีว่า มอญซ่อนผ้าตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ 
การเล่นชนิดนี้เล่นกันมากแทนทุกจังหวัดในภาคกลาง สำหรับเด็ก ได้ฝึกความสังเกต ออกกำลังกาย และยังมีบทร้อง ให้เกิดความสนุกสนานอีกด้วย
 
สะบ้า
สะบ้าเป็นการเล่นของไทยสมัยโบราณ เหตุที่เรียกว่า "สะบ้า" ก็เพราะนำเอาลูกสะบ้ามาเป็นเครื่องมือในการเล่น ลูกสะบ้ามีเปลือกแข็ง มีลักษณะกลม ขนาดสะบ้าที่หัวเข่าคน แบนแต่ตรงกลางนูน ล้อได้ดี การเล่นจะต้องมีลูกตั้งคือ ใช้สะบ้าลูกหนึ่งตั้งไว้ ระยะจากลูกตั้งถึงที่ตั้งต้น กะประมาณ ๖ เมตร ผู้เล่นจะเล่นทีละคนก็ได้ หรือจะเล่นเป็นคู่ก็ได้ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ผู้เล่นจะต้องเล่นตามมาตราที่กำหนดไว้คือ ตั้งต้นด้วยบทที่ง่ายที่สุดคือ "การล้อ" เรียกว่า "อีล้อ" คือ ผู้เล่นอยู่ที่เส้นตั้งต้น แล้วล้อลูกสะบ้าให้ไปใกล้กับลูกตั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วรีบตะครุบไว้ ถ้าเกินลูกตั้งไปถือว่า ตาย ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งลงมือเล่นแทน แต่ถ้าตะครุบได้ เลื่อนมาตรงลูกตั้ง แล้วใช้นิ้วดีดให้ลูกตั้ง เรียกว่า "ยิง" ถ้ายิงไม่ถูก ต้องถือว่า ตาย เปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่น ถ้าถูกก็ขึ้นบทต่อไป คือ เอาลูกสะบ้าถือไว้ที่คอ แล้วดีดให้ล้อ แล้วใช้วิธีเดียวกัน ถ้าใครยิงถูกเป้าหมาย ก็ได้ต่อบทต่อๆ ไป ถ้าผิดหรือลูกสะบ้าออกแนวนอกวง ก็ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นต่อไป ถ้าเป็นการเล่นหมู่ ผู้ที่ยิงถูกอาจไถ่ผู้ที่ยิงไม่ถูกได้ คือ ยิงแทนผู้ที่ยิงไม่ถูก เป็นการช่วยผู้เล่นร่วมชุด แต่ถ้าใครล้อเลยเขตเรียกว่า "เน่า" ก็ต้องตายทั้งชุด คือ ต้องยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นต่อ นับเป็นการฝึกการรวมหมู่พวกที่ดี การเล่นชนิดนี้ สำคัญที่เป็นการฝึกความแม่นยำในการยิงเป้าหมาย ฝึกความระมัดระวัง และกะระยะ ไม่ให้เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ เป็นการฝึกสายตาเป็นอย่างดี ท่าต่างๆ นี้ก็แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ใครจะคิดขึ้น เพราะการเล่นสะบ้ามีหลายจังหวัด นิยมเล่นทั้งหญิงชาย โดยเฉพาะภาคกลาง และภาคอีสาน การเล่นสะบ้าเท่าที่รวบรวมได้มี ๔๘ ท่า ท่าต่างๆ แต่ละจังหวัดก็แตกต่างกันไป แล้วแต่ใครจะคิดขึ้น นิยมเล่นกันมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
การเล่นสะบ้า
การเล่นสะบ้า
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

แม่ศรี
วิธีเล่น คนที่เป็นแม่ศรีแต่งตัวสวยงาม จะเลือกคนที่รำไม่เป็นนั่งบนครกตำข้าว ที่อยู่กลางวง หรือที่ใดที่เลือกไว้ให้เด่นคนเดียว แล้วนำผ้ามาปิดตา ส่วนผู้เล่นที่เหลือ ก็จะร้องเพลง เชิญแม่ศรีให้เข้าผู้ที่เป็นแม่ศรี ร้องซ้ำไปซ้ำมา จนแม่ศรีลุกขึ้นรำ 
บทแม่ศรี แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวสะ ยกมือไหว้พระ ว่าจะมีคนชม ขนคิ้วเจ้าต่อ ต้นคอเจ้ากลม ชักผ้าปิดนม ชมแม่ศรีเอย
บทนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเปลี่ยนคำว่า "ชักผ้าปิดนม" เป็น "แลไม่ลืมปลื้มอารมณ์" ในบทละครดึกดำบรรพ์ ตอนอิเหนาฉายกริช บทแม่ศรีอื่นๆ ยังพอมีอยู่ เพราะแต่ละจังหวัดก็คิดบทร้องของตนขึ้นใหม่ 
การเล่นเข้าทรงตามความเชื่อของชาวบ้านยังมีอีกหลายอย่าง ตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เชิญพ่อบุญคง เชิญพระองค์สี่ทิศ เชิญหลวงไกร ที่เชิญผีก็มี เช่น ผีมดแดง ผีสุ่ม ผีกะลา ผีลิงลม ภาคใต้เรียกว่า "การลงเชื้อ" จะเป็นเชื้อสัตว์ เช่น เชื้อมดแดง เชื้อคางคก เชื้อช้าง เชื้อยาหงส์ (พญาหงส์) มีเพลงร้องเชิญต่างๆ กัน ผู้ถูกเชื้อจะทำอาการเหมือนสัตว์นั้นๆ ภาคอีสานก็มี นางด้ง บทร้อคล้ายภาคกลาง มีผีกินเทียน ผีเข้าขวด ฯลฯ การเล่นแบบนี้ นิยมเล่นในเทศกาล ความสนุกอยู่ที่การร้องเชิญและท่าทาง ของผู้ถูกสะกดจิต แต่ในปัจจุบันเป็นการสมมุติ เพื่อความสนุกสนาน
การเล่นแม่ศรี
การเล่นแม่ศรี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

คล้องช้าง
วิธีเล่น นำครกตำข้าวมาคว่ำกลางวง ผู้คล้องช้างยืนบนครก มีผ้าทำบ่วงคล้องช้าง ผู้เล่นอื่นๆ เดินล้อมวงรอบครก ร้องเพลงคล้องช้างช้าๆ คนคล้องช้างคอยคล้องคนที่ต้องการ ถ้าคล้องได้คนไหน คนนั้นต้องไปเป็นคนคล้องแทน ความสนุกอยู่ที่การล่อหลอกคนคล้อง ผู้เล่นเป็นช้าง จะแกล้งเดินเข้าไปใกล้บ้าง ยึดผ้าบ้าง การเล่นคล้องช้าง หนุ่มสาวชอบเล่น หญิงจะคล้องชาย ชายจะคล้องหญิง
บทร้องประกอบการเล่นมีว่า
 
คล้องช้างเอามาได้เอย
เอามาผูกไว้ผูกไว้ที่ต้นครก
ช้างเถื่อนมันไม่เคย
เอาหัวไปเกยกับช้างบก
กันครกมักเล็กนัก
มันจะหักลงเอย
คล้องไหนคล้องซี
คล้องไอ้ช้างหางชี้ 
คล้องไปขี่เล่นเอย
คล้องไหนคล้องเข้า
คล้องไหนคล้องเข้า
คล้องไอ้ช้างหางยาว
มาคล้องให้เข้าคอเอย
 
ว่าว
ว่าว เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้น เพื่อความบันเทิง ที่นิยมเล่นกันเกือบทุกชาติเป็นเวลานานมาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า มีขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้คิด บางทีว่าวยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ ได้อีก การเล่นว่าวยังนิยมเล่นกันจนถึงปัจจุบันนี้ การเล่นว่าว โดยชักว่าวให้ลอยลมนิ่งอยู่กับที่ ในท้องฟ้า เพื่อดูความงาม ของว่าว
การละเล่นของไทย เพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่งของเด็กและผู้ใหญ่ ที่นิยมกันมากในทุกภาคของประเทศไทยก็คือ การเล่นว่าว ซึ่งปรากฏตามหลักฐานว่า มีมาแต่กรุงสุโขทัย เป็นว่าวที่ส่งเสียงดังด้วยในเวลาที่ลอยอยู่ในอากาศ เรียกว่า ว่าวหง่าว ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏตามหลักฐานของชาวต่างประเทศว่า "ว่าวของสมเด็จ พระเจ้ากรุงสยาม ปรากฏในท้องฟ้าทุกคืน ตลอดเวลาระยะ ๒ เดือน ในฤดูหนาว..." และยังกล่าวว่า "ว่าว เป็นกีฬาที่เล่นกันอยู่ทั่วไป ในหมู่ชาวสยาม" ที่ลพบุรี เวลากลางคืน รอบพระราชนิเวศน์ จะมีว่าวรูปต่างๆ ลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมส่องสว่าง และลูกกระพรวน ส่งเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง ในสมัย พระเพทราชา เคยใช้ว่าวในการสงคราม โดยผูกหม้อดินบรรจุดินดำเข้ากับสายป่านว่าวจุฬา ข้ามกำแพงเมือง แล้วจุดชนวนให้ระเบิดไหม้เมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ
โอกาสที่จะเล่นว่าว จากหลักฐานข้างต้นจะเห็นได้ว่า ว่าวเป็นการละเล่น เพื่อความบันเทิงของคนไทยทุกชั้น นับตั้งแต่ องค์พระมาหากษัตริย์ถึงคนสามัญ แล้วยังใช้ประโยชน์อื่นได้อีก และเล่นกันในหน้าหนาวตอนกลางคืน ปัจจุบันนิยมเล่นกัน ทั้งในหน้าหนาว และหน้าร้อน การเล่นว่าวต้องอาศัยกระแสลมเป็นสำคัญ กระแสดลมที่แน่นอนจะช่วยให้เล่นว่าวได้สนุก กระแสลมนี้มี ๒ ระยะ คือ
ฤดูหนาว หรือหน้าหนาว ลมจะพัดจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล คือ พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังปรากฏในสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาว่า เล่นว่าวในหน้าหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์
ฤดูร้อน หรือหน้าร้อน จะมีลมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลพัดสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ หรือเรียกกันว่า ลมตะเภา ชาวไทยภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ นิยมเล่นว่าวในระยะนี้คือ ประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน และมักจะเรียกกระแสลมที่พัดมาทางทิศนี้ว่า "ลมว่าว"
การเล่นว่าว
การเล่นว่าว
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ว่าวที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงฝีมือ
ว่าวที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงฝีมือ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

ว่าวที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงฝีมือ
ว่าวที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงฝีมือ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ว่าวที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงฝีมือ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

 
วิธีเล่นว่าวของไทย 
คนไทยในภาคต่างๆ ทุกภาคนิยมเล่นว่าวมาก วิธีเล่นมีอยู่ ๓ วิธี คือ 
๑. ชักว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่ เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่างๆ 
๒. บังคับสายชักให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ นิยมกันที่ความงาม ความสูง และบางทีก็คำนึงถึงความไพเราะของเสียงว่าวอีกด้วย 
ในการเล่นว่าวทั้งสองวิธีนี้ ไทยเราได้ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ ตามความนิยมในท้องถิ่นมานานแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ มีว่าวรูปแบบใหม่จากต่างประเทศมาปะปนด้วย ว่าวแบบดั้งเดิมของภาคต่างๆ บางอย่างยังปรากฏอยู่ บางอย่างก็หาดูไม่ได้แล้ว ว่าวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย และมีทุกภาคคือ ว่าวจุฬา ส่วนว่าวปักเป้านั้น แม้จะเล่นกันในภาคกลาง แต่ก็เป็นที่รู้จักกันมาก
ภาคตะวันออก ได้แก่ ว่าวดุ๋ยดุ่ย ว่าวหัวแตก และว่าวใบไม้ (ใบกระบอก)
๓. การต่อสู้ทำสงครามกันบนอากาศ การเล่นว่าวแบบนี้ แตกต่างจากชาติอื่น ทั้งตัวว่าว และวิธีที่จะต่อสู้คว้ากัน การแข่งขันว่าวจุฬากับปักเป้านั้น ว่าวปักเป้ามีขนาดเล็กกว่าว่าวจุฬาประมาณครึ่งหนึ่ง การแข่งขันแบบนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีการแข่งขันว่าวจุฬา และปักเป้า ในภาคกลางของประเทศไทยมาจนปัจจุบันนี้ 
ภาคเหนือ มีรูปแบบคล้ายว่าวอีลุ้มของภาคกลาง ต่อมาได้รับรูปแบบใหม่ๆ จากภาคกลาง
การแข่งขันว่าว การแข่งขันว่าวเป็นกีฬาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง เป็นศิลปะที่ต้องใช้ความสามารถของผู้เล่น เป็นอย่างมาก ทั้งผู้ทำว่าว และผู้ชักว่าว ต้องใช้ความประณีต ความแข็งแรง ความมีไหวพริบ และข้อสำคัญ ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงด้วย พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงสนับสนุนว่าวไทยตลอดมา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ว่าวประทุน ว่าวหาง (นิยมเล่นกันมาก) ว่าวอีลุ้ม และว่าวคากตี่ (ว่าวจุฬา) ในงานบุญของภาคนี้ จะมีการแข่งขันว่าว ในด้านความงามและเสียงไพเราะ ในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันว่าวกัน ๒ ประเภท ประเภทแรก คือ การแข่งขันว่าวจุฬา และปักเป้า คว้ากันบนอากาศ อีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทการละเล่น การแข่งขันเป็นการประกวดฝีมือในการประดิษฐ์ ซึ่งจะแยกเป็นด้านความสวยงาม ความคิด ความตลกขบขัน และความสามารถในการชักให้ว่าวแสดงความสามารถสมรูปทรง และให้สูงเด่นมองเห็นได้ชัด
ว่าว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ว่าว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ว่าว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow