Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การละเล่นของผู้ใหญ่

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
967 Views

  Favorite

การละเล่นของผู้ใหญ่

คำว่า "ผู้ใหญ่" ในสมัยก่อนหมายถึง ผู้ซึ่งย่างเข้าสู่วัยรุ่น ค่านิยมในสมัยก่อนนั้น เด็กหญิงชายพอเข้าสู่วัยรุ่นจะถูกแยกจากกัน นับตั้งแต่ความเป็นอยู่ในครอบครัว และในสังคมทั่วไป การละเล่นในวัยนี้ จึงมักจะเล่นแยกเป็นหญิงฝ่ายหนึ่ง ชายฝ่ายหนึ่ง เป็นส่วนมาก การเล่นเฉพาะชายก็มีบ้าง ปัจจุบันการเล่นแบบสากลเข้ามาแทนที่ การละเล่นแบบไทยจึงมีอยู่น้อยมาก
การละเล่นของผู้ใหญ่ในชีวิตประจำวัน มักจะเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคกลาง จะเกี่ยวกับการทำนาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ทำงานเคร่งเครียด ก็มีการเล่นไปด้วย เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ และเป็นโอกาสให้หนุ่มสาวได้หยอกล้อสนิทสนม ฉะนั้นการเล่นในชีวิตประจำวันจึงเป็นประเภทเพลงพื้นเมือง ซึ่งมีการโต้ตอบกันเป็นเพลง ใช้ปฏิภาณในทางภาษา เนื้อหาจะเกี่ยวกับสภาพของงานนั้นๆ แม้ผู้ใหญ่ที่มีอายุเกินวัยหนุ่มสาว ก็เล่นสนุกสนานไปด้วย 
การละเล่นประเภทนี้จะนำมาเสนอเฉพาะภาคกลาง ซึ่งแสดงความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน แม้ในยามทำงานก็นำลักษณะนี้ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการทำให้เกิดความสนุกสนาน คลายความเหนื่อยยาก รูปแบบของการประพันธ์เป็นรูปกลอนหัวเดียว คือ ลงสัมผัสท้ายคำกลอนเป็นเสียงเดียว และมีการร้องซ้ำคำ คงจะเพื่อให้มีเวลาคิดโต้ตอบ และเพื่อให้ผู้อื่นร่วมสนุกร้องเป็นลูกคู่ด้วย ทุกคนมีส่วนร่วมในการเล่น ผู้ที่มีความสามารถในการละเล่นแบบนี้ ถ้าเป็นชายเรียกว่า พ่อเพลง ถ้าเป็นหญิงเรียกว่า แม่เพลง แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้ ศิลปะเพื่อความบันเทิงกลายรูปเป็นการแสดงชนิดหนึ่ง ใช้ชม ผู้ฟังมิได้มีอารมณ์สนุกสนานไปด้วย อีกประการหนึ่งก็เพราะ วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เครื่องทุ่นแรงเข้ามาแทนที่ การละเล่นเหล่านี้จึงค่อยๆ หมดไป แต่ถ้าจะอนุรักษ์ และส่งเสริมให้ถูกทาง โดยสร้างความเข้าใจในคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ของการละเล่นบางอย่าง เลือกสรรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม กับสังคมนั้นๆ ก็จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเป็นไทย ให้อยู่ในจิตใจของคนไทยตลอดกาล

 

การละเล่นเพลงพื้นเมือง
การเล่นเพลงพื้นเมือง เพลงพื้นเมืองที่เล่นกันในชีวิตประจำวันต่อไปนี้ เป็นเพลงที่เล่นกันในเวลาเกี่ยวข้าว ที่ชาวบ้านจะมารวมกัน ช่วยกันทำงาน ด้วยอัธยาศัยไมตรี ตามวัฒนธรรมไทย จึงมีการเล่นสนุกสนานตามโอกาส การร้องเล่นกันนั้น ใครร้องเพลงเป็น และเสียงดี ก็จะเป็นต้นเสียง 
เพลงที่ร้องเล่นกันตอนเกี่ยวข้าว ก็จะมีเพลงเกี่ยวข้าว เพลงร้อยชั่ง และเพลงเต้นกำ (รำเคียว) เป็นต้น

 

เพลงเกี่ยวข้าว
เป็นเพลงโต้ตอบกันขณะเกี่ยวข้าวกลางนา ร้องไปทำงานไป มีลูกคู่รับเป็นทอดๆ

เพลงร้อยชั่ง
เป็นเพลงซึ่งร้องโต้ตอบกันขณะเกี่ยวข้าว โต้ตอบกันไปเรื่อยๆ มีลูกคู่รับ ตัวอย่าง เพลงร้อยชั่ง "ตัวพี่รักน้องหวัง จะมาขอ ทั้งแม่ทั้งพ่อเขาว่ายังเล็ก (เอื้อน) เล่นกะโหลกกะลา (ลูกคู่รับวุ้ยวุ้ย) ตามประสาเด็กเด็ก เอย แม่ร้อยชั่งเอย" 

เพลงเต้นกำ (รำเคียว) 
ชาวบ้านจะเล่นตอนหยุดพักหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ตอนตกหน้า (คันนา)" หญิงชายแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย มือขวาถือเคียว มือซ้ายถือรวงข้าว ร้องรำหยอกล้อกันเป็นสนุกสนาน ทั้งเนื้อร้อง และท่ารำจะประสมประสานกัน (แต่ไม่ใช้แบบนาฎศิลป์) แต่ละคู่มีลูกคู่ร้องรับ และให้จังหวะ กรมศิลปากรได้เคยไปรับการถ่ายทอดฝึกฝนจากชาวบ้าน และนำมาแสดงให้ชม จนเป็นที่แพร่หลาย

การเล่นเพลงเต้นกำ (รำเคียว)
การเล่นเพลงเต้นกำ (รำเคียว)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เพลงสงฟาง 
ต่อมาเมื่อเก็บเกี่ยว และนวดข้าว ด้วยวิธีให้วัวหรือควายย่ำรวงข้าวให้เมล็ดหลุดแล้ว ก็จะสงฟางให้เมล็ดข้าวร่วงหลุดออกมา ตอนนี้ ชาวบ้านก็จะมารวมช่วยกันแต่ละบ้าน ขณะทำงานก็เล่นเย้าแหย่กัน ด้วยการร้องโต้ตอบกัน

ตัวอย่างเพลงสงฟาง "สงเถิดนะแม่สง แม่คิ้วต่อคอระหง เชิญแม่สงฟาง (เอย) สงเถิด นะแม่สง แม่สูงละลิ่วคิ้วก่ง มาช่วยกันสงฟาง (เอย)" มีลูกคู่รับ

การเล่นเพลงสงฟาง
การเล่นเพลงสงฟาง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เพลงพานฟาง 
เพลงนี้จะร้องเล่นกันตอนเขี่ยฟางที่ไม่มีเมล็ดไปรวมกัน หรือที่เรียกกันว่า "ลอมฟาง" เนื้อร้องคล้ายเพลงสงฟาง แต่เปลี่ยน "สง" เป็น "พาน" เช่น พานเถิดนะแม่พาน แม่อ้วนม่อต้อเหมือนคอหม้อตาล มาช่วยกันพานฟางเอย (ลูกคู่รับวรรคสอง และวรรคสาม)

เพลงสงคอลำพวน
หลังจากการลอมฟางแล้ว ฟางบางส่วนจะเป็นเศษปนกับข้าวเปลือก เศษฟางนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ลำพวน" ต้องเก็บให้หมด เพลงที่ร้องเล่นกันตอนนี้ จึงเรียกว่า "เพลงสงคอลำพวน" มักจะมีการเกี้ยวพาราสีเป็นการชวนให้ทำงาน

เพลงเตะข้าว 
หลังจากเก็บเศษฟางหมดแล้ว จะจับมือกันเตะข้าวเปลือกที่เรี่ยราดมารวมกันกลางลาน ขณะเตะข้าวไปก็ร้องเล่นกันไป จึงเรียกว่า เพลงเตะข้าว เนื้อร้องมิได้เกี่ยวกับเตะข้าว แต่เป็นการเกี้ยวพาราสี

เพลงชักกระดาน 
เป็นเพลงร้องประกอบขณะที่กวาดข้าวเปลือกมากองรวมกันไว้ เพื่อเก็บเข้าฉาง ด้วยวิธีใช้ไม้กระดานเจาะรูสองข้างเอาเชือกร้อย เป็นแผ่นไม้สำหรับโกยข้าว คนหนึ่งกดคอกระดานอยู่กับพื้น คนอื่นๆ ช่วยกันดึงเชือกกวาดได้ทีละมากๆ ขณะชักกระดานไป ร้องเพลงไป เป็นที่สนุกสนาน ทำให้หายเหนื่อย ทำได้นาน และได้งานมาก
จากเพลงต่างๆ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นอกจากเพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคีแล้ว ยังแสดงความมีน้ำใจ และได้เห็นความประหยัด ความขยันขันแข็งของคนไทย ถ้าทุกคนยังมีวัฒนธรรมประจำใจในด้านเหล่านี้ จะประกอบกิจการใด ก็จะได้ผลดี เศรษฐกิจของชาติจะเจริญ วัฒนธรรมทางจิตใจกับเศรษฐกิจมีส่วนสัมพันธ์ กันมาก

 

การละเล่นอื่นๆ
ในสมัยโบราณ หญิงชายย่างเข้าสู่วัยรุ่น ไม่นานก็จะเปลี่ยนเข้าสู่วัยครองเรือน ภารกิจในการทำมาหากิน และอื่นๆ มีมากขึ้น การพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง จึงมักจะเป็นไปในรูปงานอดิเรก แล้วแต่ใจชอบ ซึ่งก็เรียกว่า การเล่น เช่น การสะสมสิ่งต่างๆ ได้แก่ ของโบราณ ดวงตราไปรษณียากร ฯลฯ การสะสมต้นไม้บางชนิด การเลี้ยงสัตว์บางชนิดไว้ดูเล่น เช่น นกเขา สุนัข แมว ฯลฯ ซึ่งบางคนคิดว่า เป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่ความจริงเล่นกันมาแต่ยังหนุ่ม ฝ่ายหญิงก็มักจะชอบเย็บปักถักร้อย ทำให้ได้ของใช้ในบ้านด้วย เพลิดเพลินด้วย การละเล่นในยามว่างของผู้ใหญ่นี้ จะไม่รวมถึงกีฬา หรือการพนัน เช่น หมากรุก ไพ่ กระบี่กระบอง ชนวัว ชนไก่ 
สำหรับชายมีการละเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่า เป็นการออกกำลังในชีวิตประจำวัน คือ "ตะกร้อ" ซึ่งมักจะติดวงเล่นกันตามลานบ้าน หรือลานวัด แต่ในปัจจุบันจัดเป็นกีฬาประเภทออกกำลังกาย เพราะมีการแข่งขันกันทั้งระดับชาติ และระดับนานาประเทศ

 

การเล่นตะกร้อ 
ตะกร้อเป็นการละเล่นของไทยมาแต่โบราณ แต่ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าสมัยใด คาดว่า ราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาติอื่นที่ใกล้เคียงก็มีการเล่นตะกร้อ คนเล่นไม่จำกัดจำนวน เล่นเป็นหมู่หรือเดี่ยวก็ได้ ตามลานที่กว้างพอสมควร

วิธีเล่น การเล่นหมู่ ผู้เล่นจะล้อมเป็นวง ผู้เริ่มต้นจะใช้เท้าเตะลูกตะกร้อ ไปให้อีกผู้หนึ่งรับ ผู้รับจะต้องมีความว่องไว ในการใช้เท้ารับ และเตะส่งไปยังอีกผู้หนึ่ง จึงเรียกวิธีเล่นนี้ว่า เตะตะกร้อ ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อ ที่จะเตะไปยังผู้ใด ถ้าผู้เล่นทั้งวงมีความสามารถเสมอกัน จะโยนและรับไม่ให้ตะกร้อถึงพื้นได้เป็นเวลานานมาก กล่าวกันว่า ทั้งวัน หรือทั้งคืนก็ยังมี แต่ผู้เล่นยังไม่ชำนาญ ก็โยนรับได้ไม่กี่ครั้ง ลูกตะกร้อก็ตกถึงพื้น

ท่าเตะ ท่าเตะตะกร้อมีหลายท่าที่แสดงให้เห็นถึงความงดงาม และความว่องไว ตามปกติจะใช้หลังเท้า แต่นักเล่นตะกร้อจะมีวิธีเตะ ที่พลิกแพลง ใช้หน้าเท้า เข่า ไขว้ขา (เรียกว่า ลูกไขว้) ไขว้ขาหน้า ไขว้ขาหลัง ศอก ข้อสำคัญคือ ความเหนียวแน่น ที่ต้องรับลูกให้ได้เป็นอย่างดี เมื่อลูกมาถึงตัว ผู้เล่นมักฝึกการเตะตะกร้อด้วยท่าต่างๆ

ลีลาของการเตะตะกร้อ มี ๔ ท่า คือ การเตะเหนียวแน่น (การรับให้ได้อย่างดี) การเตะแม่นคู่ (การโต้ตรงคู่) การเตะดูงามตา (ท่าเตะสวย มีสง่า) การเตะท่ามาก (เตะได้หลายท่า)

ตะกร้อติดบ่วง การเตะตะกร้อติดบ่วงใช้บ่วงกลมๆ แขวนไว้ให้สูงสุด แต่ผู้เล่นจะสามารถเตะให้ลอดบ่วงไปยังผู้อื่นได้ กล่าวกันว่า บ่วงที่เล่นเคยสูงสุดถึง ๗ เมตร และยิ่งเข้าบ่วงจำนวนมากเท่าไร ยิ่งแสดงถึงความสามารถ

การติดตะกร้อ (เล่นเดี่ยว) การเล่นตะกร้อที่มีชื่อเสียงมากของไทยคือ การติดตะกร้อ เป็นศิลปะของการเล่นตะกร้อ คือ เตะตะกร้อให้ไปติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องถ่วงน้ำหนักให้อยู่นาน แล้วใช้อวัยวะส่วนนั้นส่งไปยังส่วนอื่น โดยไม่ให้ตกถึงพื้น เช่น การติดตะกร้อที่หลังมือ ข้อศอก หน้าผาก จมูก เป็นต้น นับว่าเป็นศิลปะที่น่าชม ผู้เล่นต้องฝึกฝนอย่างมาก

การเตะตะกร้อเป็นการเล่น ที่ผู้เล่นได้ออกกำลังกายทุกสัดส่วน ฝึกความว่องไว ความสังเกตมีไหวพริบ ทำให้มีบุคลิกภาพดี มีความสง่างาม และการเล่นตะกร้อนับได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง

ลูกตะกร้อ
ลูกตะกร้อ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
การเล่นตะกร้อหมู่
การเล่นตะกร้อหมู่
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ท่าเตะตะกร้อท่าต่างๆ :  ท่าไขว้ขา
ท่าเตะตะกร้อท่าต่างๆ : ท่าไขว้ขา 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
การติดตะกร้อที่หลังมือ
การติดตะกร้อที่หลังมือ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow