ทฤษฎีของการแพร่กระจายของมะเร็ง
ในปัจจุบันนี้มีทฤษฎีที่เชื่อกันมาก ๓ ทฤษฎี คือ
๑. ทฤษฎีทางกลศาสตร์ (mechanical theory)
โดยเซลล์หลุดจากกันได้ง่ายแล้วแทรกตัวเข้าตามผนังของหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง (diapedsis) เหมือนเม็ดเลือดขาวหรือจากการแตกของหลอดเลือดทำให้เซลล์มะเร็งเข้าในกระแสเลือดหรือกระแสน้ำเหลืองได้
๒. ทฤษฎีของการเลือกเฉพาะ (selective affinity theory)
ลักษณะของอวัยวะที่แพร่กระจายจะมีความสำคัญและควบคุมลักษณะของการแพร่กระจายอวัยวะบางอย่างเหมาะที่จะเป็นตำแหน่งที่แพร่กระจายของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งของกระดูกมักจะแพร่กระจายไปที่ปอดหรือมะเร็งของปอดมักจะแพร่กระจายไปที่สมอง เป็นต้น
๓. ทฤษฎีการเปลี่ยนรูป (transformation theory)
คือ ดีเอ็นเอจีโนม (DNA genome) จะเข้าไปในเซลล์ปกติและร่วมกับมีการบกพร่องในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง
เนื่องจากว่าทฤษฎีแรกมีผู้เชื่อถือกันมากที่สุดฉะนั้นพอจะสรุปวิธีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเมื่อเซลล์มะเร็งหลุดจากก้อนมะเร็งแล้วได้ ๔ วิธี คือ
๑. โดยทางกระแสเลือด
เซลล์มะเร็งจะหลุดเข้ากระแสเลือดแล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง ฯลฯ
๒. โดยทางกระแสน้ำเหลือง
เซลล์มะเร็งหลุดเข้าหลอดน้ำเหลืองแล้วไปเจริญเติบโตในต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตได้มาก ๆ และจากต่อมน้ำเหลืองนี้เซลล์มะเร็งอาจจะแพร่กระจายเข้าสู่หลอดเลือดอีกทอดหนึ่งก็ได้
๓. โดยการฝังตัวของเซลล์มะเร็ง (implantation)
โดยเซลล์มะเร็งหลุดจากตำแหน่งเดิมและไปเจริญที่ส่วนอื่นอาจจะเป็นการหลุดโดยธรรมชาติหรือการหลุดโดยการกระทำของแพทย์ เช่น ขณะผ่าตัดเป็นต้น
๔. โดยการไปจับหรือรวมตัวตามพื้นผิวของผนังเยื่อบุ (transcoelomic)
โดยเซลล์มะเร็งหลุดจากก้อนมะเร็งและไปงอกตามพื้นผิวของเยื่อบุต่าง ๆ เหมือนกับต้นกาฝากที่แพร่จากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปยังกิ่งติด ๆ กัน เช่น ตาม พื้นผิวของเยื่อบุช่องท้องช่องปอดเป็นต้น