Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
501 Views

  Favorite

มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร 

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ ฟรองซัวส์ แวงซองต์ ราสปายส์ (Francois Vincent Raspail) ได้กล่าวไว้ว่า "เซลล์ของร่างกายมนุษย์นอกจากจะเป็นรากฐานของการมีชีวิตและสุขภาพแล้วเซลล์ยังเป็นรากฐานของโรคภัยไข้เจ็บและความตายด้วย" นั่นคือ การเกิดมะเร็งก็จะมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์เช่นกัน โดยจะเกิดความพิการ หรือผิดปกติที่ยีน (gene) ภายในโครโมโซม (chromosome) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดนิวคลีอิกและเป็นรหัสชีวิตที่จะควบคุมลักษณะและหน้าที่การทำงานของเซลล์และการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ความพิการหรือผิดปกติเช่นนี้ทำให้เซลล์แบ่งตัวโดยไม่ยอมหยุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของร่างกายนักวิจัยเป็นจำนวนมากทั่วโลกต่างก็ได้พยายามที่จะค้นคว้าวิจัยว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งและก็ยังไม่สามารถจะสรุปแน่นนอนได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่แต่ก็พอจะสรุปได้ว่ามีเหตุส่งเสริมที่สำคัญ ๒ อย่างร่วมกันอันจะทำให้เซลล์นั้น ๆ ทำงานผิดปกติไปคือ

 

๑. เหตุส่งเสริมหรือปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย ซึ่งได้แก่ 
ก. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล 
ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีมากน้อยแตกต่างกันโดยปกติเซลล์มะเร็งสามารถจะสร้างสารต่าง ๆ ออกมาในรูปของโปรตีนและโพลีเปปไทด์ (polyepeitdes) หลาย ๆ ชนิดซึ่งจะพบได้ที่พื้นผิวหรือผนังของเซลล์มะเร็งเรียกว่าทูเมอร์แอสโซซิ เอตแอนติเจน (tumour associated antigen, TAA) หรือทูเมอร์สเปซิฟิกทรานส์แพลนเตชันแอนติเจน (tumour speciflc transplantation antigen, TSTA) ตามปกติร่างกายของคนเราสามารถจะรับรู้แอนติเจนชนิดนี้จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จะมาต้านแอนติเจนนี้ได้จะโดยสาเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะค้นพบหรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านแอนติเจนนี้ได้ก็จะเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น

ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่แตกเป็นแผล และไปกดเส้นเลือดที่คอ
ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่แตกเป็นแผล และไปกดเส้นเลือดที่คอ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

 

ข. เชื้อชาติ 
ทุกชนชาติเป็นมะเร็งได้เหมือนกันแต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากเฉพาะบางเชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากส่วนมะเร็งโพรงจมูกพบมากในชาวจีน เป็นต้น

ค. เพศ 
มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับแต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศหญิง เช่น มะเร็งของช่องปากมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น และมะเร็งบางชนิดก็จะพบได้เท่า ๆ กันทั้งสองเพศ

ง. อายุ
มะเร็งบางชนิดพบมากในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งของเนื้อเยื่อที่เรียกว่าซาร์โคมา (sarcoma) ในขณะที่มะเร็งของเยื่อบุที่เรียกว่าคาร์ซิโนมา (carcinoma) จะพบมากในคนอายุมากและมะเร็งบางชนิดก็จะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา (retinoblastoma) มะเร็งของไตแบบวิล์ม (Wilm's tumour) เป็นต้น 

มะเร็งลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมาที่พบเฉพาะในเด็ก
มะเร็งลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมาที่พบเฉพาะในเด็ก
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9


 

 

จ. กรรมพันธุ์ (genetics) 
มีมะเร็งหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรรมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมาถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นมะเร็งเหล่านี้แล้วพี่น้องหรือลูกหลานก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งนั้น ๆ ได้มากขึ้น

ฉ. ความผิดปกติต่าง ๆ 
เช่น ในกรณีที่เป็นไฝหรือปานดำมีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย (maligmant melanoma) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดาก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้

ไฝดำที่ปลายจมูกกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย
ไฝดำที่ปลายจมูกกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

๒. เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่ 
ก. สารกายภายต่าง ๆ (physical agents) 
ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง เช่น ผู้ที่มีฟันเกเวลาเคี้ยวอาหารฟันจะไปครูดกับเยื่อบุภายในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้มหรือลิ้นนาน ๆ ไปทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อบุในช่องปากหรือมะเร็งของลิ้นได้

ฟันเกไปครูดเยื่อบุภายในของริมฝีปากล่าง เป็นแผลเพิ่งเริ่มกลายเป็นมะเร็ง
ฟันเกไปครูดเยื่อบุภายในของริมฝีปากล่าง เป็นแผลเพิ่งเริ่มกลายเป็นมะเร็ง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ฟันปลอมที่ไม่กระชับเวลาเคี้ยวอาหารจะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปากอาจจะทำให้เกิดมะเร็งของเหงือกหรือเพดานปากได้

ก้อนนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะได้ 

การดื่มสุราที่มีดีกรีของแอลกอฮอล์สูง ๆ โดยไม่เจือจางจะทำให้มีการระคายของเยื่อบุบริเวณแอ่งไพริฟอร์ม (pyriform) ข้าง ๆ กล่องเสียงทำให้เกิดมะเร็งบริเวณนี้ได้ 

ผู้ที่นิยมรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนจัดจะมีการระคายบริเวณหลอดอาหารทำให้เกิดมะเร็งของหลอดอาหารได้ 

สารต่าง ๆ ที่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อการเสริมสวยก็มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งได้จากการระคายเฉพาะที่ 

อวัยวะเพศชายที่หนังหุ้มปลายไม่เปิดจะเกิดการระคายจากขี้เปียก (smegma) ทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะเพศได้ 

การกระทบกระแทกการฉีกขาดของปากมดลูก เช่น ผู้ที่มีอาชีพโสเภณีการคลอดบุตรหลาย ๆ คนหรือการมีกะบังลมหย่อนในหญิงสูงอายุทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ง่าย 

รังสีต่าง ๆ (ionizing radiation) การได้รับรังสีในปริมาณน้อย ๆ แต่ได้รับบ่อยเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งได้เกือบทุกอวัยวะ 

 

ข. สารเคมี (chemical agents) 
ในปัจจุบันนี้มนุษย์เราโดยเฉพาะชาวไทยนอกจากจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษแล้วมนุษย์เรากำลังลอยคออยู่ในทะเลของสารที่ทำให้เกิดมะเร็งซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า "สารก่อมะเร็ง" (carcinogen) อีกด้วยเมื่อเร็วๆ นี้ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานถึงสารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งมากถึง ๔๕๐ ชนิด โดยส่วนใหญ่สารต่าง ๆ เหล่านี้แฝงตัวมาในธรรมชาติในรูปของอาหารพืชหรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น เคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน (hydrocarbon) ที่ใช้ทำยารักษาโรคใช้ในอุตสาหกรรมเคมีควันไอเสียของเครื่องยนต์ เป็นต้น

 

การรับประทานหมากการจุกยาฉุนบริเวณริมฝีปากนอกจากจะมีการระคายเรื้อรังแล้วยังมีสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งของช่องปากได้

หมากพลูมีสารก่อมะเร็ง
หมากพลูมีสารก่อมะเร็ง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

การสูบบุหรี่จัดควันบุหรี่มีสาร ๓.๔ เบนซ์ไพรีน (3, 4 benzpyrine) ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ 

สีย้อมผ้าต่าง ๆ เช่น สีอะนีลีน (aniline dye) หรือ สีอะโซ (azo dye) เช่น สีเหลือง [(butter yellow -4, dinethylamino azobenzene)] ซึ่งใช้ย้อมสีเนยเทียมหรือนำไปผสมอาหาร ขนมหรือลูกกวาดต่าง ๆ เพราะมีราคาถูกและมีสีสดสวยแทนที่จะใช้สีซึ่งสกัดมาจากพืชเหมือนสมัยก่อนสีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะมะเร็งของทางเดินน้ำดีได้

สารหนูซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของยารักษาโรค เช่น ยาจีนรักษาโรคผิวหนังชนิดเรื้อนกวางแต่กลับเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้ 

สารไนโตรซามีน (nitrosamines) ซึ่งพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หมักทุกชนิด เช่น ปลาร้า แหนม หมูส้ม ปลาส้มหรืออาหารที่เข้าดินประสิวเหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งตับมะเร็งกระเพาะอาหารได้ความร้อนจะทำลาย (denature) สารไนโตรซามีนได้ฉะนั้นอาหารประเภทนี้ถ้าทำให้สุกเสียก่อนก็จะปลอดภัย 

อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์รมควันหรือเนื้อสัตว์ที่ย่างจนไหม้เกรียม 

ดีดีทีนอกจากจะมีพิษโดยตรงต่อมนุษย์แล้วดีดีทียังเปลี่ยนสภาพในร่างกายเป็นสารไดโนโตรซามีนซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไนโตรซามีนอีกด้วย 

 

ค. ฮอร์โมน (hormones) 

มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมจะมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรนหรือมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น ฮอร์โมนเหล่านี้มักจะอยู่ในยารักษาโรค 

ง. เชื้อไวรัส 

มีไวรัสหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ไวรัสเหล่านี้เรียกว่า "ไวรัสที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง" (oncogenic viruses, tumour viruses) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามลักษณะของกรดนิวคลีอิก คือ ไวรัสดีเอ็นเอและไวรัสอาร์เอ็นเอเมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วก็จะมีการเพิ่มจำนวน (productive infection) หรืออาจจะไม่เพิ่มจำนวนก็ได้แต่จะสามารถทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างไปได้ (transformation) จากการที่ยีนหรือดีเอ็นเอของไวรัส (viralgnome หรือ viral DNA) ไปแทนที่ดีเอ็นเอของเซลล์ 

ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไวรัสทำให้เกิดมะเร็งในคนแต่ก็มีประจักษ์พยานหลายอย่างที่ทำให้คิดว่าไวรัสอาจจะเป็นสาเหตุหรือเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิดในคน เช่น ไวรัวอีบีวี (epstein-barr virus) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งโพรงหลังจมูกและมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเบอร์คิตต์ (burkitt's lymphoma) หรือไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ชนิดที่ ๒ (herpes simplex virustype 2) ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งปากมดลูกมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด มะเร็งเต้านมก็มีประจักษ์พยานว่าน่าจะเกิดจากไวรัสเช่นกัน 

จ. สารพิษ (toxin) 
โดยเฉพาะสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราแอสเพอร์จิลลัสฟลาวัส (aspergilus flavus) ซึ่งชอบขึ้นในอาหารประเภทถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วลิสงอาหารประเภทข้าวต่าง ๆ มันสำปะหลังนอกจากนี้ยังเคยมีรายงานการตรวจพบสารอะฟลาทอกซินในน้ำนมวัว มะพร้าวและน้ำมันถั่วลิสงสารพิษนี้ทำให้เกิดมะเร็งตับได้โดยตรง 

ฉ. พยาธิบางชนิด 
เช่น พยาธิใบไม้ในตับซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งตับบางชนิดได้ 

ช. ภาวะขาดอาหาร 
โรคตับแข็งซึ่งเกิดจากการขาดอาหารโปรตีนจะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย

สารต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือสารที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้เท่านั้นและร่างกายจะต้องได้รับสารเหล่านั้นในปริมาณค่อนข้างมากในระยะเวลานาน ๆ ด้วยและประการสำคัญที่สุดคือการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเกิดเป็นมะเร็งได้นั้นย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานต่อโรคมะเร็งของบุคคลนั้น ๆ เป็นสำคัญและยังจะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะด้วยฉะนั้นการที่รับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราวจึงไม่น่าจะต้องวิตกแต่อย่างใด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow