การประมงของประเทศไทยและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงของประเทศของเรา
ประเทศไทยเป็นประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจอยู่บนรากฐานของเกษตรกรรมและการใช้ทรัพยากร ทางธรรมชาติของประเทศ การประมงจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก เพราะกิจการประมง ทำให้อุตสาหกรรมใกล้เคียงเจริญขึ้น และให้อาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสูงแต่มีราคาถูกแก่ประชาชนภายในประเทศซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้รัฐได้รับเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยการจัดส่งผลิตภัณฑ์ประมง เช่น กุ้ง ปลาแช่เย็น ปลากระป๋อง ฯลฯ ไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาดุลการค้าระหว่างประเทศทางหนึ่ง
เนื่องจากประชาชนในประเทศของเราได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สงบลง ในอัตราสูงถึงร้อยละ ๓.๒ ต่อปี การประมงของประเทศจึงได้มีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการประมงทะเลได้ขยายตัวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากสถิติของกรมประมง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั่วราชอาณาจักร มีจำนวน ๓๔๐,๐๐๐ ตัน แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งสิ้นเพิ่มขึ้น (ในปริมาณที่ลดลง) เป็น ๑,๗๙๗,๐๐๐ ตัน
เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว การประมงน้ำจืดมีความสำคัญต่อประเทศมาก ชาวไร่ชาวนาหาปลา โดยใช้เครื่องมือ ที่ใช้มาแต่โบราณกาล เช่น ลอบ เบ็ด แห สวิง ยอ บ่อล่อ เป็นต้น สำหรับชาวประมงที่อยู่ตามหมู่บ้านชายทะเลก็หากิน โดยทำการประมงใกล้ฝั่งในน้ำลึกไม่เกิน ๑๕ เมตร โดย ใช้ลอบ โพงพาง โป๊ะ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือประจำที่แทบทั้งสิ้น และเรือที่ใช้หาปลาก็เป็น เรือใช้ใบมีขนาดความยาวประมาณ ๓-๖ เมตร
ต่อมาเมื่อความต้องการปลาเป็นอาหารมีเพิ่มขึ้น ชาวประมงเริ่มรู้จักใช้อวนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็มีการใช้เครื่องมือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า อวนตังเก ในการจับปลาฝูง เช่น ปลาทู ปลาลัง ส่วนชาวประมงที่มีทุนทรัพย์น้อยก็เริ่มใช้อวนลอยเพื่อหาปลา
ในระยะ ๒๕ ปีที่ผ่านมาการประมงทะเลได้รุดหน้าไปไกลมาก ได้มีการใช้เครื่องมือจับ ปลาที่มีประสิทธิภาพสูง คือ เครื่องมืออวนลากแบบต่างๆ เรือที่ใช้หาปลา ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น และเป็นเรือใช้เครื่องยนต์แทบทั้งสิ้น ขนาดของเรือได้เพิ่มขึ้นจาก ๖-๗ เมตร เป็นประมาณ ๓๐ เมตร ในปัจจุบัน อาณาบริเวณการทำการประมงได้แผ่ขยายไปในทะเลจีนตอนใต้ และในทะเลอันดามัน
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการประมงทะเลและจับปลาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ ปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ในปัจจุบันผลิตผลจากการประมงทะเลมีปริมาณสูงขึ้นถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของอวนลาก อย่างรวดเร็วได้ทำให้ประชากรของปลาและสัตว์น้ำหน้าดินในอ่าวไทยลดน้อยถอยลงเป็นลำดับจน เป็นที่น่าวิตกกว่า หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงดังกล่าวแล้ว ทรัพยากรดังกล่าว ก็จะไม่ให้ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศต่อไป กรมประมงซึ่งเป็นส่วนราช การของประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จึงได้วางโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นโครงการระยะยาว ที่จะวางมาตรการที่เหมาะสมและถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรดังกล่าว ผลิดอกออกผลบังเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่แก่ประเทศของเราเรื่อยๆ ไป