การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ก่อนอื่นเราควรทราบว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่ ๒ ประเภท ด้วยกัน คือ ทรัพยากรที่ไม่ มีการชดใช้แทนที่ (non-renewable resources) เช่น สินแร่บางประเภท น้ำมัน ฯลฯ เมื่อใช้ก็หมดไป และทรัพยากรที่มีการชดใช้แทนที่ (renewable resources) ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีชีวิต เช่น ปลา ต้นไม้ ฯลฯ สำหรับทรัพยากรประเภทหลัง หากมีการใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะบังเกิดผล ประโยชน์เรื่อยไป เพราะทรัพยากรดังกล่าวสามารถมีการชดใช้แทนที่ โดยที่สิ่งซึ่งมีชีวิตเหล่านั้น เมื่อโตเต็มวัย ก็สามารถสืบพันธุ์ ให้ลูกหลานออกมาได้ ดังนั้น คำว่าอนุรักษ์ทรัพยากรจึงมีความหมายกว้างขวาง แต่พอสรุปง่ายๆ ว่าเป็นการ กระทำทุกรูปแบบเพื่อให้ทรัพยากรดังกล่าว ผลิดอกออกผลและบังเกิดประโยชน์แก่มนุษย์เราอย่าง เต็มที่เรื่อยๆ ไปหากกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับทรัพยากรประมงของเรา ถ้าเราพิจารณาถึงปลาประชากรหนึ่ง ซึ่งไม่มีการจับเลย ปลาในประชากรน ี้ก็จะมีการดำเนินชีวิตไปในปีหนึ่งๆ และเกิดสมดุลในประชากรตามแผนผังที่ ๑
จะเห็นได้ว่าในกรณีที่เราไม่จับปลาขึ้นมาใช้ประโยชน์ ปลาเหล่านี้ก็จะตายไปเองตามกฎ แห่งธรรมชาติ เช่น แก่ตาย บางตัวเป็นโรค อาหารไม่พอเพียงถูกศัตรูทำลาย เป็นต้น
หากประชากรของปลาดังกล่าวถูกมนุษย์นำขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ปริมาณน้ำหนักของ ปลาที่เหลือรอดในปีต่อไป ก็จะเป็นไป ดังแผนผังที่ ๒
ตามหลักการง่ายๆ ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ถ้าเราจับปลาส่วนหนึ่งที่มีปริมาณพอ เหมาะขึ้นมาใช้ให้บังเกิดประโยชน์ ก็จะไม่เกิดผลเสียหายแก่ประชากรปลาแต่อย่างใด เพราะปลา เหล่านี้จะตายไปเองตามธรรมชาติ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ปลาที่เหลืออยู่ มีอาหารพอเพียง และมีการเจริญเติบโตดียิ่งขึ้น แต่ถ้าเราจับปลามากเกินควรแล้ว จะทำให้สมดุลดังกล่าวเสียไป และจะส่งผลกระทบกระเทือนไปยังจำนวนลูกหลานที่จะเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องกันไป ตลอดจน อัตราการเจริญเติบโตของปลาในประชากรนั้นๆ ด้วย
เพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรดังกล่าวให้บังเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด เราอาจจะพิจารณาวาง มาตรการบางอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ปลามีลูกหลานเพิ่มมากขึ้นในประชากร หรือพิจารณาหาวิธี การทำให้การเจริญเติบโตเร็วขึ้น หรืออาจช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรู ฯลฯ หรือวางมาตรการควบ คุมการประมงที่เหมาะสม เช่น กำหนดจำนวนและขนาด ของเรือประมง ควบคุมทำการประมง ในระยะใดระยะหนึ่ง กำหนดเขตหรือบริเวณทำการประมง หรือห้ามทำการประมงในเขตที่หวง ห้ามเพื่อสงวนไว้เป็นที่วางไข่ และหลบซ่อนของลูกปลาวัยอ่อน ควบคุมหรือห้ามการใช้เครื่องมือ บางประเภท เช่น ห้ามการใช้วัตถุระเบิดหรือไฟฟ้าจับปลา ตั้งโควตา (quota) เพื่อกำหนดปริมาณ ที่พึงจะจับได้ เหล่านี้ เป็นต้น วิธีการที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจก็คือ การเร่งรัด พัฒนาการคัดเลือกพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงปลาในน้ำจืดและในบริเวณชายฝั่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตและ วางโครงการระยะยาว ในการให้การศึกษาอบรมเยาวชนให้เล็งเห็น และฝังใจในความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ เพื่อให้ผลิดอกออกผลเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป