Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
361 Views

  Favorite

การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

กำหนดเวลาเก็บเกี่ยวอ้อยขึ้นอยู่กับเวลาเปิดหีบของโรงงาน ซึ่งทางราชการเป็นผู้กำหนดเป็นรายปี เท่าที่ผ่านมา กำหนดให้เปิดหีบได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป แต่โรงงานส่วนมากมักจะเปิดหีบในราวปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนธันวาคม ดังนั้นเวลาเก็บเกี่ยวอ้อยจึงผันแปรไปตามเวลาเปิดหีบของโรงงานด้วย ก่อนกำหนดเปิดหีบโรงงานบางโรง โดยเฉพาะที่ซื้ออ้อยตามคุณภาพ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคุณภาพอ้อยเป็นระยะๆ ตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า แฮนด์รีแฟรกโตมิเตอร์ (hand refractometer) วัดความหวานของอ้อยโดยตรงในไร่ หรือบางทีก็เก็บตัวอย่าง เข้ามาวิเคราะห์ความหวาน ที่โรงงานน้ำตาล เมื่อเห็นว่าอ้อยนั้นมีความหวานพอก็จะสั่งให้ตัดตามกำหนด การตรวจวัดความหวาน และการตัดจะเริ่มต้นจากอ้อยตอก่อน อายุเก็บเกี่ยวของอ้อยตอประมาณ 9-12 เดือน ส่วนของอ้อยปลูกประมาณ 12-14 เดือน

 

การเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยแรงคน
การเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยแรงคน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

การเก็บเกี่ยวอ้อยส่วนใหญ่ใช้คนตัด โดยทั่วไปเก็บเกี่ยวโดยไม่เผา นอกจากจำเป็นเช่นมีโรค หรือแมลงระบาด หรือต้องการให้ทำงานได้เร็วขึ้น เพราะอ้อยเผาเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าอ้อยที่ไม่เผา การตัดเริ่มด้วยการใช้มีดริดใบออก ตัดลำต้นชิดดิน แล้วตัดยอดอ่อนทิ้งไป นำอ้อยที่ได้มัดรวมกันมัดละ 8-15 ลำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของอ้อย ที่จะบรรทุกได้สะดวก วางมัดอ้อยเป็นแถวๆ เพื่อสะดวกในการบรรทุก หลังจากนั้นจึงใช้รถบรรทุก 10 ล้อเข้าไปบรรทุกในไร่ เพื่อส่งเข้าโรงงานต่อไป โดยเฉลี่ยคนงานคนหนึ่งตัดอ้อยได้วันละ (8 ชั่วโมง) 1 ตัน

 

การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรชนิดตัดเป็นท่อนๆ
การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรชนิดตัดเป็นท่อนๆ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

ในกรณีที่เก็บเกี่ยวด้วยรถตัดอ้อย ส่วนมากจะมีการเผาก่อน แล้วใช้รถเข้าไปตัดยอดและลำต้นติดพื้นดิน จากนั้น ต้นอ้อยก็จะถูกตัดออกเป็นท่อน ท่อนละประมาณ 30 เซนติเมตร ท่อนอ้อยจะถูกส่งไปตามสายพานซึ่งมีกะพ้อผ่านพัดลม ซึ่งจะแยกสิ่งสกปรกออกก่อนที่จะถูกพ่นลงในรถบรรทุกซึ่งวิ่งเคียงคู่กัน เมื่อบรรทุกเต็มคันรถก็จะมีคันใหม่มาแทนเรื่อยไป รถตัดอ้อยตัดได้วันละประมาณ 30 ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของอ้อย และสภาพไร่ ข้อเสียของเครื่องตัดอ้อยชนิดนี้ก็คือ ต้องเผาอ้อยก่อนตัด ทำให้อ้อยเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าอ้อยสด ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องตัดอ้อยสด ซึ่งคาดว่า คงจะมีใช้ในประเทศเราในไม่ช้า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow