Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบซื้ออ้อยของโรงงาน

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
452 Views

  Favorite

ระบบซื้ออ้อยของโรงงาน

การซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ซื้อโดยอาศัยน้ำหนักอย่างเดียว เรียกว่า ซื้อตามน้ำหนัก กับซื้อโดยอาศัยน้ำหนัก และความหวาน เรียกว่า ซื้อตามคุณภาพ

ก. การซื้อตามน้ำหนัก 

วิธีนี้กำหนดราคาตายตัวตามน้ำหนักซึ่งคิดเป็นตัน ส่วนราคาจะเป็นเท่าใดนั้นก็แล้วแต่จะตกลงกันเป็นปีๆ ไป ระหว่างชาวไร่ และโรงงานโดยมีรัฐบาลเป็นตัวกลาง หรือเป็นผู้ชี้ขาด ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาได้ตกลงราคาตันละ 300 บาท วิธีนี้นับว่าสะดวกดี แต่ไม่เป็นธรรม ตามทฤษฎีการซื้อขาย วิธีนี้ไม่ว่าอ้อยจะมีคุณภาพ หรือความหวานเท่าใด ก็จะต้องได้ราคาเท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติชาวไร่มักจะถูกโรงงานบางโรง ตัดราคาอ้อยถึงตันละ 10-20 บาท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนแต่อย่างใด สาเหตุที่โรงงานมักจะยกเป็นข้ออ้างในการตัดราคาอ้อย มีหลายประการ เช่น อ้อยอ่อน อ้อยยอดยาว อ้อยสกปรก อ้อยไหม้ไฟ หรืออ้อยค้างหลายวัน เป็นต้น การซื้อขายวิธีนี้ชาวไร่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ เพราะอ้อยที่โรงงานถือว่ามีคุณภาพต่ำจะถูกตัดราคา แต่มิได้เพิ่มราคาให้สำหรับอ้อยที่มีคุณภาพสูง

โรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทย 38 โรง ในจำนวน 43 โรงที่เปิดทำการในปี 2520-21 ซื้ออ้อยโดยวิธีนี้ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ทางราชการมีโครงการที่จะเปลี่ยนจากการซื้อตามน้ำหนัก ไปเป็นการซื้อตามคุณภาพทั้งประเทศภายในเร็วๆ นี้

ข. ซื้อตามคุณภาพ 

การซื้อขายอ้อยถ้าจะกล่าวให้ตรงกับความเป็นจริงก็คือ การซื้อขายน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยนั้นนั่นเอง ดังนั้นอ้อยที่มีน้ำตาลมากกว่าก็ควรจะได้ราคาสูงกว่า ในทางกลับกัน อ้อยที่มีน้ำตาลน้อยว่าก็ควรจะได้ราคาต่ำกว่า ดังนี้ เป็นต้น จึงนับว่าวิธีการซื้อตามคุณภาพเป็นธรรม ทั้งแก่ชาวไร่ และโรงงาน 

ในฤดูหีบปี พ.ศ. 2520-21 จากโรงงานที่เปิดทำการทั้งหมด 43 โรงมีเพียง 5 โรงเท่านั้น ที่ซื้ออ้อยตามคุณภาพ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐวิสาหกิจเสีย 4 โรง คือ โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง โรงงานน้ำตาลไทยอุตรดิตถ์ โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี และโรงงงานน้ำตาลชลบุรี ส่วนอีกโรงหนึ่ง คือ โรงงานน้ำตาลมหาคุณ ซึ่งเป็นของเอกชนตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี 

การซื้ออ้อยตามคุณภาพโดยทั่วไปมีหลายระบบ แต่ประเทศไทยใช้ระบบ ซีซีเอส (C.C.S.) ซึ่งเป็นระบบของประเทศออสเตรเลีย ซีซีเอส ย่อมาจากคำเต็มว่า Commercial Cane Sugar หมายถึง "ปริมาณของน้ำตาลซูโครสที่มีอยู่ในอ้อยจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถสกัดออกมาได้ในรูปของน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยโรงงานที่มีมาตรฐานสมมุติซึ่งสูงมาก" ดังนั้น ซีซีเอส จึงเป็นค่า "ตามทฤษฎี" เท่านั้น ทั้งนี้เพราะไม่สามารถที่จะหาโรงงานที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 100 ได้นั่นเอง 

เพื่อให้เข้าใจง่าย ซีซีเอส หมายถึง ค่าร้อยละของน้ำตาลซูโครส ที่ผลิตได้จากอ้อยจำนวนหนึ่ง เช่น อ้อยที่มี ซี ซี เอส 10 หนัก 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) จะสามารถให้น้ำตาลซูโครสได้สูงสุด 100 กิโลกรัม ในทำนองเดียวกันอ้อยที่มี ซีซีเอส 9 และ 11 หนัก 1 ตันเท่ากัน จะให้น้ำตาลซูโครสสูงสุด 90 และ 110 กิโลกรัม ตามลำดับ 

ในการหาค่า ซีซีเอส นั้น จะต้องทราบค่า วิเคราะห์ทางคุณภาพ 3 อย่างของอ้อย คือ 
1. ค่าบริกซ์ *1(Brix) ในน้ำอ้อยจากลูกหีบ แรก 
2. ค่าโพล *2(Pol) ในน้ำอ้อยจากลูกหีบแรก 
3. ค่าร้อยละของชานอ้อยหรือไฟเบอร์ (Fiber) ในอ้อยนั้น 

จากนั้น ก็นำค่าที่ได้มาคำนวณหา ซีซีเอส ต่อไปตามลำดับดังนี้ 

ก. หาค่าบริกซ์ในอ้อย 

จากการวิเคราะห์ทางคุณภาพอ้อย ตามข้อ (1) นั้นได้ค่าบริกซ์ในน้ำอ้อย ซึ่งจะต้องเปลี่ยน เป็นค่าบริกซ์ในอ้อย จากสูตร
 

 บริกซ์ในอ้อย = บริกซ์ในน้ำอ้อย x ( 100-(ไฟเบอร์+3)) / 100 


ข. หาค่าโพลในอ้อย 

ค่าโพลที่ได้จากการวิเคราะห์คุณภาพอ้อย เป็นค่าโพลในน้ำอ้อย ต้องเปลี่ยนเป็น ค่าโพลในอ้อย จากสูตร 
 

โพลในอ้อย = โพลในน้ำอ้อย x ( 100-(ไฟเบอร์+5)) / 100


ค. หาค่าสิ่งเจือปนในอ้อย 

จากสูตร 
 

สิ่งเจือปนในอ้อย = บริกซ์ในอ้อย - โพลในอ้อย 


ง. หาค่า ซีซีเอส 

จากสูตร 
 

ซีซีเอส = โพลในอ้อย - (สิ่งเจือปนในอ้อย / 2 )


หรืออาจจะใช้ค่าที่ได้จากการวิเคราะห์ทาง คุณภาพของอ้อยตามที่กล่าวข้างบนมาคำนวณ ซีซี เอส โดยตรง จากสูตร

 

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

การซื้ออ้อยตามซีซีเอสนี้ ราคาต่อตัน ของอ้อยจะผันแปรไปตามค่าซีซีเอสของอ้อย โดยทั่วไปโรงงานกำหนด ซีซีเอส 10 เป็นมาตรฐาน ส่วนราคานั้นเป็นไปตามความตกลงที่ได้กล่าวแล้ว ในเรื่องการซื้ออ้อยตามน้ำหนัก เช่น ถ้าตกลงราคาอ้อยตันละ 300 บาท โรงงานจะจ่ายราคาอ้อย ที่มีซีซีเอส 10 ตันละ 300 บาท เท่ากับที่ซื้อตามน้ำหนัก และเมื่อซีซีเอสเพิ่มขึ้น หรือลดลง ราคาต่อตันของอ้อยก็จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามส่วน การกำหนดราคาแต่ละหน่วยของซีซีเอสที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานนั้น ทางโรงงานเป็นผู้กำหนด เท่าที่ปรากฏ เมื่อซีซีเอสสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน 1 หน่วย เช่น ซีซีเอส 11 หรือ 9 ราคาอ้อยก็จะสูงขึ้น หรือต่ำลงตันละ 10-20 บาท ดังนี้เป็นต้น
 

* 1 บริกซ์ หมายถึงค่าร้อยละโดยน้ำหนักของของแข็งที่ละลายน้ำ (น้ำตาลและสิ่งเจือปน) ที่มีอยู่ในอ้อยนั้น

* 2 โพล (pol หรือ polarization) เป็นค่าร้อยละโดยน้ำหนักโดยประมาณ แต่ใกล้เคียงของน้ำตาลซูโครสที่วัดด้วยโพลาริมิเตอร์ (polarimeter)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow