Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาระสุขภาพของอาการแพ้ แต่ไม่ใช่คนขี้แพ้

Posted By Plook Panya | 23 มิ.ย. 59
5,133 Views

  Favorite

ทำไมบางคนถึงมีอาการแพ้ขนสัตว์ หรือแพ้อาหารบางชนิด ในขณะที่หลาย ๆ คนกลับไม่แพ้อะไรเลย หรือว่าคนที่แพ้จะเป็นคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ? 

 

ภาพ : Pixabay
ภาพ : Pixabay


โลกที่มีประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ใช่ว่าทุกคนจะแข็งแรงเหมือนกันหมด บางคนกลับแพ้หรืออ่อนแอต่อบางสิ่ง ในขณะที่ก็มีอีกหลายคนไม่รู้สึกอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อาการเหล่านี้บ้างก็เริ่มเป็นตั้งแต่เด็ก และหายไปเองเมื่อตอนโตขึ้น แต่บางคนเริ่มมาแพ้ตอนโต และมีอีกหลายคนแพ้ตอนแก่ ในหลายกรณีรักษาไม่หาย อย่างเหตุการณ์น่ากลัวที่เพิ่งเป็นข่าวช็อกโลกไม่นานมานี้ คือ อาการแพ้ถั่วของคนในสหรัฐที่ไปทานอาหารในร้านอาหารแขก อย่างที่รู้ ๆ กัน ว่าอาหารแขกมีส่วนประกอบของถั่วลิสงอยู่เป็นจำนวนมาก และที่ทราบกันดีคือชาวคอเคซอยด์จำนวนมากแพ้ถั่ว โดยเฉพาะถั่วลิสง โดยมีอัตราส่วนประชากรที่แพ้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าชนชาติอื่น เรื่องน่าเศร้าในกรณีนี้ คือ ร้านอาหารนี้สมควรใช้อัลมอนด์แทนถั่วลิสงในการประกอบอาหารหากลูกค้าแจ้งว่าแพ้ถั่วลิสง แต่ด้วยความสะเพร่าหรือความตั้งใจในการลดต้นทุนก็ไม่ทราบได้ที่ทำให้มีถั่วลิสงปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และทำให้ผู้แพ้ที่รับประทานต้องเข้าโรงพยาบาลและมีผู้เสียชีวิต

อาการแพ้ต่อบางสิ่งบางอย่าง ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นเป็นคนขี้แพ้หรืออ่อนแอแต่อย่างใด แต่มันคือกลไกอย่างหนึ่งของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารบางชนิดอย่างรวดเร็ว โดยพิจารณาว่าสิ่งสิ่งนั้นเป็นภัยคุกคาม ส่งสัญญาณแจ้งเตือน และพยายามกำจัดออกไปให้เร็วที่สุด สรุปแล้วอาการแพ้ ภาวะภูมิแพ้ หรือ ภาวะภูมิตอบสนองไวเกินไป คือการที่ร่างกายตอบสนองทางด้านภูมิคุ้มกันมากเกินพอดีต่อสารใดสารหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสารกระตุ้นการตอบสนองของภูมิแพ้ เรียกว่า Allergen ซึ่งทำให้เกิดอาการอักเสบ เนื้อเยื่อทำลายตัวเอง หรืออาการข้างเคียงอื่น ๆ โดยแบ่งเป็นหลายรูปแบบ
 

ภาพ : Pixabay
ภาพ : Pixabay


ชนิดของภูมิแพ้สามารถแบ่งได้จากกลไกที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งแต่ละชนิดเกิดจากกลไกของร่างกายต่างชนิดกัน ที่ปฎิเสธสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสัมผัสกับร่างกาย แต่อาจให้ผลหรือความรุนแรงที่แสดงออกมาคล้ายกัน

Type I Hypersensitivity จะเกิดอาการในทันทีที่สัมผัสสารกระตุ้น เช่น การแพ้เกสรดอกไม้ ฝุ่น ยา อาหารต่าง ๆ ซึ่งความรุนแรงจะแตกต่างไปขึ้นอยู่กับชนิดการสัมผัส การสูดดมอาจจะเกิดอาการเพียงแค่การจาม บวม เป็นไข้ แต่หากนำเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานหรือการฉีดอาจจะแพ้รุนแรงกว่า เนื่องจากไม่สามารถกำจัดออกได้เร็วพอ
Type II คือการแพ้เซลล์แปลกปลอม มักเกิดกับการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือภาวะเลือดแม่กับลูกในครรภ์ไม่เข้ากัน ซึ่งเกิดเป็นอาการอักเสบ และเซลล์แตกตัว
Type III มักเกิดกับการแพ้ยา เซรุ่มแก้พิษต่าง ๆ จุลินทรีย์ วัคซีน หรือการแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เกิดเป็นการตกตะกอนของ Antigen-antibody complex อยู่ภายในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต ผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดเลือดตก เลือดคั่งภายใน 
Type IV เป็นภูมิแพ้แบบช้า ค่อย ๆ เกิดภายใน 2-3 วันหลังสัมผัสกับ Allergen เช่น อาการแพ้สารเคมีในผงซักฟอก ยาย้อมผม 
 

ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีอาการแพ้ไม่สามารถจำแนกอาการแพ้หรือต้นเหตุได้ง่ายเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น เพราะว่าอาการมักไม่ได้เกิดขึ้นทันที ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่สัมผัสโดยตรง แต่อาจจะเป็นสารประกอบที่อยู่ภายใน อาจจะไม่ได้เคยเป็นมาก่อน ยกตัวอย่าง ผู้ที่คิดว่าตนเองแพ้อากาศเย็น อันที่จริงอาจจะไม่ได้แพ้อากาศหนาวเย็น แต่อาจเป็นฝุ่นหรือเกสร หรือสปอร์จากราบางชนิดที่มักจะลอยมาตามลมในช่วงฤดูหนาว ผู้ที่แพ้เนื้อหมูหรือเนื้อแดงอาจจะไม่ได้แพ้เนื้อหมูจริง ๆ แต่เป็นสารเร่งเนื้อแดงที่ถูกใช้ในระหว่างการเลี้ยงหมูเพื่อให้เนื้อหมูมีสีแดงน่ารับประทาน  

บ่อยครั้งอาการแพ้มักไม่ได้รุนแรงแต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็น และหลาย ๆ ครั้งมันยากที่จะวิเคราะห์หาสาเหตุ หากผู้ที่เป็นไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่สามารถจำกัดวงการใช้ชีวิตหรือช่วงเวลาสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอมได้ การทำการทดลองในห้องแล็บเพื่อหาสิ่งที่แพ้มักเป็นการทดสอบกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะแพ้ และสิ่งที่นำมาทดสอบเป็นตัวอย่างที่เก็บมาทางสถิติ คุณอาจจะไม่ได้แพ้สิ่งแปลกปลอมเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ และนั่นทำให้การทดสอบไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าแท้จริงแล้วแพ้อะไร


อีกหนึ่งความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับอาการแพ้คือ หากเราสัมผัสมันเป็นประจำ อาการแพ้จะหายไปเอง ซึ่งไม่มีการผลวิจัยหรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ใดพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง อันที่จริงมันค่อนข้างรุนแรง และอาจถึงแก่ชีวิต หากคุณยังดันทุรังสัมผัสกับสิ่งที่คุณแพ้เป็นประจำ มันเหมือนกับร่างกายของคุณบอกคุณผ่านทางสัญญาณต่าง ๆ ว่าสิ่งที่แพ้ และสัมผัสอยู่เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ต่อให้คุณพยายามสัมผัสบ่อยแค่ไหน มันก็ยังไม่เป็นที่ต้องการอยู่ดี และอาจเกิดการตอบสนองที่รุนแรงมากขึ้น เช่น อาจจะไม่ใช่แค่ผื่นคัน วิงเวียน หรือเป็นไข้ 

ที่สุดแล้วอาการแพ้ คือ กลไกทางธรรมชาติที่ร่างกายเราส่งสัญญาณต่อต้านสิ่งแปลกปลอม มันเป็นกลไกที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในยีน สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมสู่ลูกหลานได้ รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมที่คุณเติบโตขึ้นมาก็มีส่วนให้เกิดอาการแพ้เหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าหากคุณเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ตั้งแต่เด็ก ร่างกายก็จะคุ้นชิน และไม่ต่อต้าน หรือไม่แพ้ พูดตรง ๆ คือประชากรจากประเทศที่เจริญแล้วและร่ำรวยมักจะแพ้ง่ายกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องเพราะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

 

ขอบคุณภาพปก : Pixabay
เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow