Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพิ่มความหวาน เพิ่มความเสี่ยง

Posted By Plook Panya | 28 เม.ย. 59
4,232 Views

  Favorite

สุขภาพที่ดี เริ่มต้นที่อาหารการกิน และหากจะกินอาหารให้ครบถ้วนเหมาะสมแล้วล่ะก็เราต้องกินให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ แต่มีอาหารอยู่ 3 หมู่ที่ให้พลังงานมากกว่าใคร นั่นคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน แล้วเราควรจะกินอะไรมากกว่ากันล่ะ ในปัจจุบันนี้มีกระแสการมีหุ่นที่ดูสุขภาพดีแข็งแรง ที่ทำให้คนเข้าใจว่า ต้องทานสัดส่วนของไขมันและคาร์โบไฮเดรตแต่น้อย และควรให้ความสำคัญกับโปรตีนมากกว่า เรามาดูกันว่า อะไรคือสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
 

ภาพ : Pixabay


แน่ล่ะว่าไขมันทำให้อ้วน แต่หากไม่รับประทานไขมันเลย วิตามินและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายบางชนิดที่ละลายได้เฉพาะในไขมันก็จะไม่ถูกนำเข้าสู่ร่างกาย และเราก็จะขาดสารอาหารส่วนนั้นไป ดังนั้นแม้จะฟังดูย้อนแย้ง แต่การลดน้ำหนักก็ยังจำเป็นต้องได้รับไขมันชนิดที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย ในส่วนของแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตก็เช่นกัน คาร์โบไฮเดรตก็คือกลุ่มสารอาหารจำพวกน้ำตาล และแป้งที่สามารถถูกย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสวย ขนมปัง น้ำอัดลม หรือแม้แต่น้ำตาลปี๊บ แป้ง และน้ำตาลทั้งหลายสามารถถูกร่างกายของเราย่อยสลายให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่ง่ายต่อการนำไปใช้เพื่อเป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ได้ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว หรือ Monosaccharide ประกอบไปด้วย กลูโคส (Glucose) ฟรุ๊คโตส (Fructose) และ กาแล็คโตส (Galactose) ซึ่งหากเรานำน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวแต่ละชนิดมาต่อกัน ก็จะได้น้ำตาลโมเลกุลคู่อีกหลายชนิด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็น Simple Carbohydrates หรือคาร์โบไฮเดรตรูปแบบพื้นฐาน

 

สำหรับแป้งสาลีที่อยู่ในขนมปังต่าง ๆ หรือข้าวสวย ข้าวเหนียว เป็น Complex Carbohydrates หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำตาลหลายโมเลกุลมาเชื่อมติดกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีตั้งแต่ 3 โมเลกุลขึ้นไป หากมีโมเลกุลน้ำตาลเชื่อมโยงเป็นโครงสร้างมาก ๆ จะเรียกว่า Polysaccharide ดังนั้นไม่ว่าคุณจะกินอาหารเข้าไปในรูปแบบของน้ำหวาน หรือขนมปัง ล้วนแล้วแต่ถูกย่อยให้กลายเป็นโมเลกุลน้ำตาลเดี่ยวทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ว่าร่างกายของเราจะสามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนได้ทุกชนิด ตัวอย่างเช่น ไฟเบอร์ที่พบได้ในผักผลไม้ ก็ไม่สามารถถูกย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลได้เนื่องจากโมเลกุลน้ำตาลเชื่อมต่อกันคนละรูปแบบเมื่อเปรียบเทียบกับ Starch หรือแป้งที่ได้จากเมล็ดหรือหัวของพืชเช่น มันหรือเผือก ซึ่งน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเชื่อมกันโดยพันธะแบบอัลฟ่า ซึ่งถูกย่อยได้ง่ายโดยเอนไซม์ในร่างกายของคุณ ในขณะที่ไฟเบอร์มีพันธะที่เชื่อมโยงระหว่างโมเลกุลน้ำตาลเป็นแบบเบต้า ซึ่งร่างกายของเราย่อยไม่เป็น

 

ภาพ : Pixabay


หากเรากินอาหารที่ประกอบไปด้วยแป้งเยอะ ๆ ร่างกายของเราก็จะได้รับพลังงานจำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับเวลาเราดื่มน้ำหวาน ปริมาณน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ เมื่อร่างกายเริ่มดูดซึมน้ำตาล อาหารเหล่านี้มีดัชนีที่เราเรียกว่า Glycemic ดัชนีไกลซีมิก หรือดัชนีน้ำตาลสูง หมายถึงว่า ร่างกายของเราจะได้น้ำตาลในปริมาณเท่าไหร่เมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ เข้าไปเปรียบเทียบกับการได้รับน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม เช่นในตัวอย่างนี้ ขนมปัง และน้ำหวานมีค่าดัชนีน้ำตาลที่สูงใกล้เคียงกัน นั่นแปลว่ามันสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของคุณเพิ่มขึ้นได้คล้าย ๆ กัน ในขณะที่การทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างเช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ การที่มีพันธะเบต้าอยู่ในสายของน้ำตาลทำให้ร่างกายของเราทำการย่อยได้ยาก และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของเราเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และอาหารจำพวกนี้ก็มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าอีกด้วย ในขณะที่อาหารจำพวกโปรตีนอย่างเช่น นม ชีส เนื้อสัตว์ ไข่ มีดัชนีน้ำตาลต่ำที่สุด

 

อ่านดูแล้วอาจจะเหมือนเป็นเรื่องปกติที่เมื่อร่างกายของเราได้รับน้ำตาล มันก็จะดูดซึมเข้ากระแสเลือด และส่งต่อไปยังเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ได้ แต่ความจริงแล้ว น้ำตาลจะเข้าสู่ร่างกายเมื่อเรากินอาหาร หลังจากที่เราหยุดกินก็จะไม่มีน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอีก ดังนั้นระดับน้ำตาลก็จะขึ้นลงอยู่ตลอด ซึ่งนั่นเป็นปัญหาใหญ่ เพราะร่างกายของเราต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตัวช่วยในสถานการณ์นี้คือ Insulin ฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งส่งออกมาจากตับอ่อน โดยควบคุมระดับปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป การที่ได้รับคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก และอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะการต่อต้านอินซูลิน ซึ่งแปลว่าเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงหรือไม่ตอบสนองเลย จนวิวัฒนาการเป็นกลุ่มโรคอ้วน ร่างกายของคุณจะมีปริมาณน้ำตาลสูงตลอดเวลา อ้วนขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น จนมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจ และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้
 

ภาพ : Pixabay


ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหักห้ามใจ ในยุคที่หันไปทางไหนก็มีแต่ของอร่อย น้ำหวาน ขนม เค้ก ต่างก็ล่อตาล่อใจ แต่หากเราอยากมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาวแล้วล่ะก็ เราก็ควรยึดหลักทางสายกลาง ทานอาหารให้ครบหมู่เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบทุกหมู่ และควรพิจารณาถึงโทษของการเพิ่มน้ำตาลในร่างกายจนเกินควรที่อาจจะส่งผลร้ายกับร่างกายได้

อย่าลืมว่าร่างกายของเราวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อให้เคลื่อนไหว และทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนอย่างเพียงพอก็จะทำให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ และห่างไกลจากโรคได้
 

ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow