นายแพทย์พีรพัศฆ์ รุจิวิชชญ์ ศัลยกรรมกระดูก และข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ และแพทย์ที่ปรึกษาสโมรสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวว่าอาการปวดเข่าเฉียบพลัน มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าหรือภายในข้อเข่า ตลอดจนการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งความรุนแรงมักขึ้นจากลักษณะการได้รับบาดเจ็บหรือการใช้งานผิดประเภท
อาการปวดเข่าเฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก บริเวณกล้ามเนื้อรอบเข่าเกิดการตึงตัวผิดปกติจากการใช้งานผิดประเภท หรือ การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching & Warm Up) ก่อนการเล่นกีฬาไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
กลุ่มสอง เกิดจากภายในผิวข้ออักเสบเฉียบพลัน เช่น การบิดข้อลูกสะบ้าหัวเข่า การเคลื่อนไหวผิดจังหวะและมีการเคลื่อนไหวผิดจังหวะและมีการเสียดสีกับตัวกระดูกอ่อนภายในข้อ ซึ่งมักจะกินเวลาในการปวดค่อนข้างนาน และปวดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นลงบันไดจะเกิดการเสียวภายในหัวเข่า
กลุ่มสาม เกิดการบาดเจ็บค่อนข้างเห็นได้ชัด เช่น เกิดการพลิกบิดตัวของข้อเข่าการฉีกขาดของโครงสร้างของหัวเข่าต่าง ๆ พวกนี้ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรังตามมาได้ และกลุ่มสุดท้าย การเกิดเนื้องอกภายในกระดูกโดยมากมักมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นมากในช่วงกลางคืน
สำหรับแนวทางการรักษา
นายแพทย์พีรพัศฆ์ เผยว่า จะพิจารณารักษาตามสาเหตุ และระดับความรุนแรงของโรค โดยวิธีการรักษาอย่างเป็นขั้นตอน
1. เริ่มจากการรักษาแบบประคับประคองก่อน เช่น ถ้าตึงกล้ามเนื้อก็พักการใช้งาน และยืดกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อสมบรูณ์ขึ้น
2. การฝึกบาลานซ์ในการเดินทรงตัวต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาในอนาคตแต่หากบาดเจ็บในตัวข้อ จำเป็นต้องแบ่งตามระดับความรุนแรงว่าอยู่ในระดับไหน ถ้าไม่รุนแรงก็ใช้วิธีการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
3. แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น มีความจำเป็นต้อง X-ray และ MRI หัวเข่า ร่วมกับการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัด อาทิ ในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติ มุมความชันของลูกสะบ้าผิดปกติ หรือในรายที่ข้อกระดูกอ่อนได้รับบาดเจ็บ ก็จำเป็นต้องเข้าไปซ่อมแซมผิวข้อกระดูกอ่อนภายในข้อเข่า
โดยทั่วไปถ้าเข่าปวดเฉียบพลันแล้วขยับไม่ได้ เข่าบวมขึ้นมา ทำให้การใช้งานไม่ได้ตามปกติ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อดูอาการ
หากในรายที่ได้รับการบาดเจ็บมาใหม่ ๆ ให้พักการรักษาเบื้องต้น โดยหลักการ “RICE” ซึ่งย่อมาจาก REST, IMMUBILIZE, ICE, ELEVATE
ภาษาไทย คือ พักการใช้งานหยุดการเคลื่อนไหว หรือหยุดเล่นทันที โดยประคองข้อต่อที่ได้รับการบาดเจ็บไว้ ประคบเย็น และยกขาสูง หากอาการดีขึ้นภายใน 3 - 4 วัน แสดงว่าบริเวณในข้อต่อไม่ได้รับการบาดเจ็บอะไรมาก
สิ่งที่ควรระวังเพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บ และปวดเข่าเฉียบพลัน
โดยฉพาะการเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทกของผิวข้อเข่าค่อนข้างมาก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอลแบดมินตันที่มีการกระโดดบ่อย ๆ เทนนิสหรือการวิ่งลู่ ทำให้เกิดแรงกระแทก และการรับน้ำหนักมากกว่าปกติ บางจังหวะผิวข้อมีการเสียดกันทำให้เกิดการบาดเจ็บ และปวดข้อเข่าเฉียบพลันได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไป ควรเลือกรองเท้าที่ช่วยลดแรงกระแทกระหว่างพื้นที่ผิวสัมผัสกับข้อต่อ และเข่าและข้อเท้าเรา ได้แก่กลุ่มที่มี Air Support บริเวณพื้นรองเท้าเป็นต้น
นายแพทย์พีรพัศฆ์ แนะนำว่า ถ้าหากมีการวิ่งบ่อย ๆ ควรเลือกพื้นผิววิ่งที่ไม่แข็งมากเกินไป และควรเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับลู่วิ่งแข็งควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับสภาพผิวสนามกีฬา หรือลู่วิ่ง
การปวดเข่าเฉียบพลัน ถือว่าเป็นลักษณะการปวดที่ผิดปกติ เป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องใส่ใจและไม่ควรละเลย ทางที่ดีควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน หากสังเกตอาการแล้วยังไม่ดีขึ้นค่ะ
ขอบคุณภาพปก : Pixabay