Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความดันโลหิต ยิ่งสูง ยิ่งหนาว

Posted By Plook Panya | 29 ม.ค. 56
8,577 Views

  Favorite

 

ข้อมูลจาก โทรโข่งสุขภาพ โดย นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม : ความดันโลหิตยิ่งสูง ก็ยิ่งอันตรายน่าเป็นห่วง 

 

ความดันโลหิต คือ แรงดันของกระแสเลือดที่มีต่อผนังหลอดเลือด โดยมีอวัยวะสำคัญที่ควบคุมให้ความดันอยู่ในระดับปกติ  เช่น  หัวใจ ไต หลอดเลือดที่หดหรือขยายตัวได้  เป็นต้น

ค่าความดันโลหิตขณะนั่งพักในวัยผู้ใหญ่จะประมาณ 120/80 มม.ปรอท และเปลี่ยนแปลงได้  เช่น  ตามท่าของร่างกาย อาหารเครื่องดื่ม อารมณ์ที่เปลี่ยนปริมาณการออกกำลัง

 

ภาวะความดันโลหิตสูง

คือ ภาวะความดันในหลอดเลือดแดงสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป โดยวัดขณะนั่งพัก 5 – 10 นาที ที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์และได้ค่าสูงสุดตั้งแต่ 2 ครั้ง ขึ้นไป ในเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 15 – 20 ทั้งเพศหญิง และเพศชายที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป

 

แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1) ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ  ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบได้มากกว่าร้อยละ 90 ในคนที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป

โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ พันธุกรรม โรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนลงพุง บริโภคอาหารรสเค็ม ขาดการออกกำลังกาย  มีความเครียดสูงและเรื้อรัง  ร่างกายมีความไวต่อการสะสมเกลือและโซเดียม  ดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากเกินไป และ

 

2) ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ ที่เกิดจากสาเหตุของโรค เช่น โรคไต โรคของต่อมไร้ท่อ นอนกรนและหยุดหายใจ เฉียบพลันจากยาหลายชนิด การตั้งครรภ์เป็นพิษ

 

ภาพ : Shutter Stock

 

อาการ

โรคความดันโลหิตสูงระยะแรกส่วนใหญ่ไม่มีอาการ  มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการ และที่พบได้บ่อย คือ ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ ปวดศรีษะ

สำหรับผู้ที่มีความดันสูงรุนแรง อาจมีอาการเหล่านี้ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา ตามัว อัมพาตหรือเสียชีวิตเฉียบพลัน

 

ความร้ายแรงของโรคความดันโลหิตสูง

ถ้าไม่ได้รักษาเป็นเวลานาน ๆ ร่วมกับมีภาวะไขมันสูง สูบบุหรี่ โรคเบาหวานที่ไม่ควบคุม น้ำตาลในเลือดที่สูงจะเร่งทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อม โดยมีคราบไขมันพอก ที่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตีบ ก่อให้เกิดความเสียหายและทำให้เกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ เกิดภาวะกล้ามเนื้อ หัวใจหนา หัวใจวาย หรือมีหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง สมองเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตกทำให้เป็นอัมพาต และถ้าเกิดในตำแหน่งสำคัญอาจเสียชีวิตรวดเร็ว ความที่สูงรุนแรงเฉียบพลันจะทำให้สมองบวม ปวดศีรษะและซึมลงจนไม่รู้สึกตัว

 

รวมไปถึงไต จากมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเกิดภาวะไข่ขาวรั่วออกทางปัสสาวะ ไตวาย เรื้อรังหรือเฉียบพลันซึ่งจะทำให้ความดันยิ่งสูงมากขึ้น หลอดเลือดแดงในตาแตกและมีเลือดออกทำให้ประสาทตาเสื่อมและอาจตามัวลงและหลอดเลือดแดงใหญ่ เกิดจากโป่งพองและฉีกขาดของผนังหลอดเลือดจะมีอาการเจ็บหน้าอก ถ้ารุนแรงอาจเสียชีวิต

 

การรักษา

การรักษาความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ คือ ต้องควบคุมให้ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือไตเรื้อรัง ควรคุมให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอทโดยเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การสร้างสุขภาพที่ดี เพื่อลดความดันและปัจจัยเสี่ยง ผู้ที่มีความดันสูงเพียงเล็กน้อยความดันจะลดเป็นปกติได้โดยไม่ใช้ยา ทั้งลดน้ำหนักส่วนเกิน เลิกบุหรี่และเหล้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารรสจัด (หวาน มัน เค็มจัด) เพิ่มรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลาและดื่มนมไขมันต่ำ และไม่เครียดรวมถึงให้ยาลดความดันโลหิต

 

สำหรับผู้ที่ความดันยังคงสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนปัจจุบันมียาใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ผลดีในการรักษาและควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ เช่น  ขับเกลือและน้ำออกทางปัสสาวะ ลดอัตราการเต้นของหัวใจขยายหลอดเลือด รวมทั้งติดตามการรักษาเพื่อประเมินการควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตรวจปัสสาวะและเลือดตรวจคลื่นหัวใจ

 

นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตสร้างวิถีชีวิตให้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตดี รู้จักคลายเครียดและทำจิตใจให้สงบ เช่น ปฏิบัติศาสนกิจ เจริญสมาธิ ฝึกโยคะ ชี่กง พบว่า การฝึกหายใจช้าน้อยกว่า 10 ครั้ง/นาที วันละ 15 – 20 นาที ประมาณ 2 เดือน จะช่วยลดความดันโลหิตได้ประมาณเท่ากับการกินยารักษาความดัน 1 ชนิด

 

 
 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow