สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจไม่ใช่สาขาวิชาที่คุ้นหูคนทั่วไปสักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าอ่านจากชื่ออย่างเดียว น้องๆ บางคนอาจจะเข้าใจผิดเอาได้ว่าสาขาวิชานี้คงต้องเรียนเพื่อไปเป็นแพทย์หรือพยาบาลแน่ๆ ที่จริงแล้ว หลักสูตรนี้เกี่ยวข้องกับวิชาแพทยศาสตร์อยู่มากทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด โดยสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์นั้น จะเน้นการเรียนการสอนด้านการออกแบบและผลิตสื่อทุกประเภท โดยให้ความสำคัญกับการผลิตสื่อทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พูดได้ว่าสาขานี้เป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน เหมือนชื่องาน Big Blend ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาในหลักสูตร ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองแล้วค่ะ
คราวนี้ ทรูปลูกปัญญาดอทคอม จะพาน้องๆ ไปเยี่ยมชมดูผลงานของนักศึกษา ในนิทรรศการ Big Blend ของ สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และไปรับฟังรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนการสอนของสาขาวิชานี้จาก ผศ.ดร. นพพล เผ่าสวัสดิ์ ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ค่ะ
บทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. นพพล เผ่าสวัสดิ์ ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
แนะนำสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีศึกษาแพทยศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่ดัดแปลงมาจากหลักสูตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเวชนิทัศน์ ลักษณะของหลักสูตรเราเป็นการผสมผสานกันระหว่างวิชาพื้นฐานการแพทย์กับวิชาทางด้านศิลปะและคอมพิวเตอร์ รวมถึงนิเทศศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่เข้ามาเรียน ก็จะได้เรียนทางด้านพื้นฐานการแพทย์ อย่างเช่นกายวิภาค ปรสิต พยาธิวิทยา เป็นต้น นอกจากนั้น นักศึกษายังต้องเรียนเกี่ยวกับ ศิลปะพื้นฐาน อย่างเช่น drawing การลงสีน้ำ องค์ประกอบศิลป์ ไล่ไปจนกระทั่งเป็น ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพวีดีโอ การทำมัลติมีเดีย คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น กราฟิกดีไซน์ ซึ่งเป็นการผสมผสานการทำสื่อทั้งหมด
จุดประสงค์ของสาขานี้ก็คือ เพื่อทำสื่อการศึกษาด้านการแพทย์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เอาไปใช้เรียน หรือให้แพทย์นำไปเป็นสื่อการสอน ทำให้เราได้ช่วยเหลือประเทศชาติโดยการผลิตแพทย์ผู้มีความชำนาญในอาชีพให้ไปประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ครับ
สื่อทางการแพทย์ประกอบด้วยอะไรบ้าง
สื่อทางการแพทย์ก็จะมีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวีดีทัศน์ สื่อภาพถ่าย สื่อหุ่นจำลองทางการแพทย์รวมถืงสื่อเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชั่นหรืองานมัลติมีเดีย สื่อเหล่านี้ก็จะมีเนื้อหาทางด้านพื้นฐานการแพทย์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ความรู้ความถูกต้องทางการแพทย์ผสมผสานกับความสามารถทางด้านการวาดภาพและการทำงานศิลปะ เมื่อนำทุกสิ่งมาผสมกันแล้วก็จะเป็นการผลิตสื่อทางการแพทย์ครับ
คุณสมบัติของผู้ศึกษา
อย่างแรกเลย พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นครับ เพราะนักศึกษาจะต้องเข้ามาเรียนพื้นฐานทางการแพทย์ด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็จะลำบากถ้าได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ครับ ประการที่สองก็คือ นักศึกษาจะต้องมีความชอบหรือมีความถนัดทางด้านศิลปะอยู่พอสมควร เพราะว่าถ้าได้เข้ามาเรียนก็จะต้องมาเริ่มเรียนพื้นฐานทางศิลปะใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ ลงสี หรือว่าศาสตร์ชั้นสูงขึ้น
จบภาควิชานี้สามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรเราสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมากครับ ถ้าให้ตรงเป้าหมายที่สุดก็คือ ผลิตสื่อทางการแพทย์ครับ ซึ่งก็จะไปอยู่ในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล ทั้งรัฐบาลและเอกชน เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ไปก็จะกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลเยอะ และก็มีทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขด้วย
ส่วนอื่นๆ ก็จะไปผลิตสื่อการศึกษาต่างๆ ตามมหาวิทยาลัยคณะอื่นๆ อีกส่วนก็จะเข้าไปอยู่ในวงการผลิตสื่อ ที่เป็นสื่อเชิงพาณิชย์ครับ ก็มีหลายคนมากครับที่ไปเจริญเติบโตในวงการผลิตสื่อ เนื่องจากพื้นฐานที่เขาเรียนทั้งหมดเป็นพื้นฐานการผลิตสื่อทั้งนั้น
ความต้องการคนที่มีความรู้ด้านนี้ ในตลาดแรงงานไทยมามากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบันนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการผลิตแพทย์เพิ่มครับ เพราะฉะนั้น โรงเรียนแพทย์ทุกโรงเรียนต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้จบออกมามีแพทย์เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องผลิตนักผลิตสื่อทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนโรงเรียนแพทย์เหล่านั้นครับ
นอกจากนี้วงการธุรกิจของประเทศก็กำลังขยายตัว ดังนั้นนักศึกษาของเราก็จะมีโอกาสกว้างมากที่จะจบไปแล้วประกอบอาชีพในวงการธุรกิจได้ครับ
คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจเรียนด้านนี้ ต้องเตรียมตัวเตรียบใจรับกับอะไรบ้าง
สำหรับนักเรียนที่สนใจในหลักสูตรนะครับ ควรต้องเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีความรักในวิชาศิลปะด้วย ตรงนี้สำคัญมากครับเพราะสาขานี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ นักเรียนที่จะเข้ามา ขอให้เตรียมตัวฝึกวาดรูปมาเลยก็ได้ วาดรูป หัดทำคอมพิวเตอร์กราฟิก เพราะเดี๋ยวนี้อุปกรณ์เหล่านี้หาเองได้ง่ายและสามารถฝึกเบื้องต้นเองได้ ให้พอมีพื้นฐานมาก่อน จากนั้นก็มาต่อยอดความรู้ที่นี่ได้เร็ว และจะประสบความสำเร็จในการเรียนครับ
---------------------------------------------------------------------
บทสัมภาษณ์ รัชฎาพร จั่นเจริญ และ พรรษา น้อยสกุล ศิษย์เก่า สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยอาจารย์
ลักษณะงานที่ทำเป็นอย่างไร
ก็มีหน้าที่ช่วยอาจารย์ด้านการเรียนการสอนของน้องๆค่ะ จะสามารถทำงานบริการที่เกี่ยวข้องกับในโรงพยาบาลศิริราชได้ค่ะ นอกจากนี้ก็จะมีทำภาพประกอบในตำราต่างๆด้วย และในอนาคตก็จะต้องไปศึกษาต่อทางด้าน medical illustration หรือการวาดภาพประกอบทางการแพทย์ เพื่อนำความรู้ตรงนั้นมาพัฒนาหลักสูตรของเราต่อไปค่ะ
เรียนด้านวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มากแค่ไหน
หลักๆเลยจะเรียนด้านเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อทำสื่อเพื่อการเรียนการสอน ซึ่งจะมีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ งานวีดีโอ งานกราฟิก แต่ที่จะโดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น ก็คือเราจะมีเรียนทางด้านกายวิภาค คือเรียนเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง และมีเรียน physiology ก็คือเรียนเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายว่าแต่ละส่วนทำงานอย่างไรบ้าง เช่น โปรตีน เนื้อเยื่อ และระบบประสาททำงานอย่างไร นอกจากนี้ก็จะมีวิชาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันย่อยๆ ว่าโรคนี้มีที่มาอย่างไร รักษาอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้เราเรียนเพื่อให้สามารถทำสื่อได้อย่างถูกต้องค่ะ
ความประทับใจในคณะ
ก็จะสนุกสนานตามประสาเด็กมหาลัยทั่วไปค่ะ แต่อาจจะมีกฎระเบียบเข้มงวดบ้าง ตามวัฒนธรรมศิริราช
ส่วนของปอยนะคะ ด้วยความที่คณะเรามีคนน้อย แต่ละปีมีไม่เกิน 15-20 คน การอยู่ร่วมกันของนักศึกษาและอาจารย์ก็จะอยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัว
มีกิจกรรมหรือประเพณีของคณะที่จัดเป็นประจำหรือไม่
กิจกรรมที่เราจัดร่วมกับคณะแพทย์ก็มีเยอะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวันมหิดล กิจกรรมวันไหว้ครู มีงานกีฬาสัมพันธ์ หรือที่เรียกว่ากีฬา Fit & Fun อันนี้ก็จัดร่วมกับสาขาอื่นๆของคณะแพทย์ค่ะ
สำหรับของคณะเราเองก็จะมีงานชื่อว่า “สู่รั้วศิริราช” ค่ะ ก็เป็นการต้อนรับน้องใหม่เข้าสู่ศิริราช มีการแนะนำสถานที่สำคัญ และวัฒนธรรมของศิริราชว่าเราควรทำยังไงบ้างค่ะ
ความรู้สึกเวลาได้เข้าไปถ่ายภาพในห้องผ่าตัด
ความรู้สึกที่ได้เข้าไปในห้องผ่าตัดนะคะ อย่างแรกเลยก็คือ สะอาดค่ะ ต้องสะอาด รวดเร็ว ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่หมวกคลุม เปลี่ยนรองเท้าก่อนจะเข้าไปถึงห้องผ่าตัดได้
ในช่วงเวลาของการผ่าตัด คุณหมอก็จะทำหน้าที่ไปเรื่อยๆค่ะ แล้วพอถึงช่วงที่เราต้องถ่ายรูป คุณหมอก็จะเรียกเรามาถ่าย ซึ่งมีเวลาไม่ถึงห้าวินาทีค่ะ
ทำไมถึงสนใจเข้าเรียนสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
ก่อนอื่นขอบอกก่อนนะคะว่าเรียนสายวิทย์มา ด้วยความที่ว่าทางคณะเปิดรับเด็กวิทย์เข้ามาเรียนศิลป์ จากเดิมที่รับเด็กศิลป์เพื่อมาเรียนวิทย์ ส่วนตัวแล้ว ถ้าจะให้ไปเรียนเรื่องเคมี ก็รู้สึกว่ามันยากเกินไปค่ะ แต่ถ้าถามว่าแล้วทำไมไม่ไปเลือกเรียนทางสายศิลปะโดยตรงไปเลย ก็เพราะว่าเราเรียนสายวิทย์มาค่ะ พื้นฐานทางศิลป์ก็อาจจะไม่ได้เตรียมตัวมา
การเรียนการสอนที่นี่ดีค่ะ ทำให้เราได้เรียนรู้กันไปพร้อมๆกับการเรียน ทำให้เราสามารถค้นพบตัวเองได้ จนในที่สุดจบมาก็จะรู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไร ต่างคนก็จะต่างมีชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการ
สำหรับปอย ก็จะคล้ายๆกับมายค่ะ ไม่ชอบเรียนวิทย์อย่างเดียวแล้วก็ไม่อยากเรียนศิลป์อย่างเดียว ก็เลยมาเจอคระนี้พอดี ซึ่งเป็นการบูรณาการสองอย่างเข้าด้วยกัน เรียนด้านนี้อาจจะมีตัวเลือกมากกว่า เพราะคุณจะมีความรู้ในหลายๆด้าน ก็เลยจะมีโอกาสในการทำอาชีพเยอะค่ะ
ฝากถึงน้องๆที่อยากเข้ามาเรียนสาขานี้
ถ้าสนใจคณะเรา อยากทำสื่อการแพทย์นะคะ เรียนคณะนี้คุณสามารถคงความเป็นศิลปินของคุณเองได้ และในขณะเดียวกันคุณก็ได้ทำประโยชน์ทางด้านการแพทย์ด้วยค่ะ
ฝากถึงน้องๆที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย
สำหรับน้องๆที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยนะคะ อย่าคิดว่าการอ่านหนังสือสอบเอนท์เป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยและการบ้านที่ต้องทำไม่ได้มีแค่วิชาเดียว และไม่ใช่ว่าจะก๊อปจากอินเทอร์เน็ตแล้วเอามาส่งได้ เรียนมหาวิทยาลัยต้องรู้จักวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลค่ะ แต่การจะเรียนมหาวิทยาลัยให้มีความสุขได้ ขอให้อย่าเรียนอย่างเดียวหรือเล่นอย่างเดียว ให้ทำทั้งสองอย่างพร้อมๆกันไปนะคะ
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการออกแบบ ผลิต ประยุกต์ และพัฒนาสื่อประเภทต่างๆที่ใช้ในการศึกษาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ การศึกษาทั่วไป และสื่อที่ใช้เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ได้ที่เว็บไซต์ http://www.si.mahidol.ac.th/ |