เชื่อว่าวัยรุ่นหลายคนอาจเคยผ่านความกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้า คงเพราะช่วยวัยรุ่นเป็นช่วงที่หนักที่สุดสำหรับน้อง ๆ วัยเรียนหลายคนก็ว่าได้ ความเครียดและวิตกกังวลในช่วงวัยรุ่นจึงไม่ได้เกิดจากตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุจากคนรอบข้าง และสถานการณ์ที่ต้องเผชิญด้วย ทีนี้จะทำอย่างไรหากต้องรับมือกับความกลัวว่าตนเองจะเครียดมากจนเป็นโรคซึมเศร้า บทความนี้ เราจึงอยากจะแนะนำ 5 เรื่องที่สามารถใช้รับมือกับเจ้าโรคนี้ได้ โดยเริ่มจาก
เด็กมัธยมปลายถือเป็นช่วงวัยรุ่น และอารมณ์เศร้าของน้อง ๆ ก็อาจแสดงออกเป็นอารมณ์หงุดหงิดนำมาก่อน อาการที่พบบ่อยต่อจากนี้คือ หมดหวัง ไม่ยินดียินร้าย ไร้อำนาจ (ไม่อยากทำตามความต้องการของตนเอง) เหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ นอนมากกว่าปกติ น้ำหนักลด และท้ายสุดคือการคิดฆ่าตัวตาย ปัจจัยที่มีอิทธิพลจนทำให้เกิดอาการเหล่านี้ อาจมาจากความยากจน ครอบครัวแตกแยก การเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก หรือบางคนไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดา ทำให้บางคนผ่านชีวิตที่เคยตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก มีความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่าคนอื่น การตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจะทำให้น้อง ๆ ปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมไม่ได้ หลังจากน้อง ๆ เข้าใจว่าปัจจัยใดที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าของตัวเรา ต้องรีบออกจากภาวะนั้นให้เร็วที่สุด อาจด้วยวิธีการพูดคุยกับคนที่น้อง ๆ ไว้ใจ หรือหาสื่อที่ช่วยผ่อนคลายให้ตนเองหลุดออกจากปัจจัยที่มีผลทำให้ต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่ต้องการ
หลายครั้งที่พบว่าภาวะซึมเศร้าเมื่อเกิดกับใครจะทำให้คน ๆ นั้นมีความคิดลบกับผู้อื่นและตนเองโดยอัตโนมัติ ลบกับตนเอง ลบกับเพื่อน ลบกับครอบครัว หรือลบกับคนที่ตนเองรัก การคิดลบนำพาให้น้อง ๆ เห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง บางคนแยกตัวจากผู้อื่น เพราะเกิดความหวาดระแวง วิธีรับมือกับความคิดลบคือ น้อง ๆ จะต้องมีสติ สัมปชัญญะอยู่เสมอ และระลึกให้ได้ว่า ตนเองกำลังคิดลบหรือบวกอยู่ ตระหนักว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นมีประโยชน์กับใครบ้างหรือไม่ คอยตั้งคำถามกับความคิด และการกระทำของตนเองอยู่เสมอ จากนั้นไตร่ตรองทุกครั้งก่อนที่จะสื่อสารออกไป ไม่เช่นนั้นน้องอาจต้องสูญเสียสัมพันธภาพกับผู้อื่นด้วยความคิดลบที่น้องไม่ยอมลบมันออกไป
คงเป็นการยากหากน้องจะเริ่มต้นจากการสร้างความพึงพอใจในสัมพันธภาพ จริงอยู่ที่ในช่วงวัยรุ่นของน้อง ๆ นั้น กลุ่มเพื่อนมีความสำคัญมาก การทำให้ตนเองรู้สึกว่าเพื่อนยอมรับ และเป็นที่รักของกลุ่มจะช่วยให้น้องภูมิใจในตนเองเพิ่มขึ้น แต่บางคนอาจแย้งว่า ผมหรือหนูเป็นคนอินโทรเวิร์ต เก็บตัวและเข้ากับคนยากทีนี้ก็จะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตใช่ไหม คือจริง ๆ แล้วบทความนี้อยากจะบอกน้อง ๆ ว่า เมื่อน้องรู้ว่าตนเองอินโทรเวิร์ต น้องหลายคนก็อาจเข้าใจผิดว่าตนเองผิดปกติ หรือแปลกแตกแยก แต่อยากให้น้องเข้าใจใหม่ว่า ความที่เราไม่สุงสิงกับใครไม่ใช่ว่าเราผิดปกติ หรือมีปัญหาทางจิตใจ ความอินโทรเวิร์ตเป็นการบ่งบอกว่าน้องเป็นคนรักสันโดษและความสงบ หลายงานวิจัยยังยืนยันเลยว่า คนที่มีความอินโทรเวิร์ตคือคนพูดน้อยต่อยหนัก แม้จะไม่ใช่คนรวดเร็วและชอบสังสรรค์แต่ก็สามารถสร้างงานที่สร้างสรรค์ได้จากความมีสมาธิเพราะความสงบได้เช่นกัน และงานที่สร้างสรรค์ด้วยตนเองจะนำมาซึ่งการได้รับการยอมรับจากกลุ่ม น้องอินโทรเวิร์ตก็สามารถที่จะสร้างความภูมิใจในตนเองได้จากผลงานของตนเองแทนที่การสร้างความผูกพันและยอมรับจากเพื่อนใกล้ชิด การโพสต์ผลงานก็เป็นช่องทางหนึ่งของการสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ด้วย
โซเชียลมีทั้งผลดีและผลเสียแก่ตนเอง น้องต้องรู้จักทำความเข้าใจประโยชน์ของมันให้ดี แล้วจะรู้ว่าน้องสามารถสร้างกลยุทธ์จากการรับรู้ของบุคคลผ่านทางโซเชียลได้ ในเวลาที่น้องต้องเผชิญกับความยุ่งยากใจ หรือความเลวร้ายในชีวิตที่ทำให้เกิดการรับรู้แรงสนับสนุนทางสังคมต่ำจะมีผลทำให้ภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น วิธีแก้ไขคือน้องต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับชีวิต โดยความแข็งแกร่งที่ว่ามาจากการรับรู้ของน้องเองเกี่ยวกับแรงสนับสนุนทางสังคมในทุกทาง ถ้าให้แนะนำน้องอาจต้องเพิ่มช่องทางการรับรู้แรงสนับสนุนทางสังคมให้กับตนเอง ยิ่งมากยิ่งดี แต่มีข้อควรระวังคือ ห้ามรับรู้สิ่งที่มีผลให้การรับรู้แรงสนับสนุนทางสังคมต่ำ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ไม่เป็นกลาง ตำหนิ บูลลี่ หรือคำพูดที่ใช้อารมณ์ สิ่งเหล่านี้เมื่อน้องรู้ว่าไม่โอเคกับตนเอง ให้น้องปิดกั้นการรับรู้แรงสนับสนุนทางสังคมโซเชียลจากบุคคลคนนั้นทันที เพราะมันไม่ทำให้น้องได้ประโยชน์ใด ๆ เลย
ข้อนี้น้องต้องอ่านดี ๆ นะ จงเชื่อว่าตนเองเป็นคนเก่งที่สามารถฟื้นตัวได้แม้จะได้รับผลกระทบจากหลายสภาวการณ์ ย้ำกับตัวเองไว้นะน้องว่า น้องได้ผ่านบททดสอบ น้องจะเปลี่ยนแปลงและเติบโต เข้าใจชีวิตมากขึ้น คนที่มีความแข็งแกร่งข้อนี้สูง คือคนที่มีอำนาจ อำนาจในที่นี้ไม่ใช่อำนาจสั่งการ แต่เป็นอำนาจในการใช้แหล่งประโยชน์ต่าง ๆ ในการจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้องทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองมีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น แล้วน้องจะมีภาวะซึมเศร้าต่ำ ความมั่นใจในความสามารถตนเองจะช่วยให้น้องมองเห็นแหล่งประโยชน์ที่อยู่รอบตัวได้ชัดขึ้นนะ แต่หากน้องมองไม่เห็นแหล่งประโยชน์ อาการที่บ่งบอกคือ แม้น้องจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญปัญหา น้องจะไม่รู้จักวิธีการขอความช่วยเหลือในเวลาที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือเลย แต่น้องบางคนก็ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร เขาเลือกใช้วิธีสร้างอารมณ์ขันเพื่อช่วยผ่อนคลายตนเอง ก็เป็นอีกวิธีที่มาพร้อมความสามารถในการฟื้นตัว
ขอเพียงน้อง ๆ สร้างการรับรู้ให้ตนเองใหม่บ่อย ๆ ว่าตนเองมีบุคคลที่รักและเชื่อใจอยู่รอบตัว ตนเองยังมีบุคคลที่ยังไม่ได้สร้างความใกล้ชิดและผูกพันอีกมาก แม้ตนเองจะมีเพื่อนไม่มาก แต่หากน้องมุ่งที่จะหาความสัมพันธ์ทางบวกมากกว่าทางลบ เท่านี้ก็เพียงพอต่อการรับมือกับโรคซึมเศร้าสำหรับเด็กมัธยมปลายได้แล้ว กิจกรรมใดที่ไม่ช่วยให้ตนเองได้เจอกับความสัมพันธ์ดังกล่าว น้องต้องเลือกตัดทิ้ง และตัดสินใจใช้กิจกรรมที่ส่งผลบวกกับตนเองเท่านั้นนะ เพื่อให้น้อง ๆ เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยด้วยจิตใจที่แข็งแกร่ง
ขอเป็นกำลังใจให้วัยรุ่นทุกคนเลย
ปริณุต ไชยนิชย์
ขอบคุณข้อมูลจาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/JPNMH/article/download/138675/103064/368202