หลังเรียนจบ ม. 3 สำหรับคนที่อยากเรียนต่อระดับ ม.ปลาย หรือระดับสามัญ การเลือกแผนการเรียนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในการย่อยอดสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคณะ/สาขา กำหนดแผนการเรียนไว้อย่างชัดเจน การเลือกเรียน ม.ปลาย ต้องสอดคล้องกับความถนัดความสามารถ และคุณสมบัติในการสอบเข้าคณะต่าง ๆ น้อง ๆ ต้องวางแผนตั้งแต่ ม.ต้น แผนการเรียน ม.ปลาย มีสายอะไรบ้างไปดูกันเลย
ปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ มีแผนการเรียนมากมาย ผสมผสาน หลากหลาย โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการออกแบบเลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่ถึงอย่างไร การเลือกแผนการเรียนก็ยังคงมีกรอบของเนื้อหาหลักสูตรที่ครอบคลุมไว้อยู่ดี โดยจะต้องเรียนในกลุ่มสาระหลักทั้ง 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, ภาษาต่างประเทศ, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ ศิลปะ รวมทั้งวิชาเพิ่มเติมต่าง ๆ แผนการเรียนจะเป็นตัวกำหนดหน่วยกิตของวิชาต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มสาระ ส่วนจะเลือกแผนอย่างไร ให้ไม่ผิดแผน ตามไปดูรายละเอียดกันเลยค่ะ
แผนการเรียน วิทย์-คณิต เป็นแผนการเรียนที่สามารถสอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัยได้ทุกคณะ สาขาวิชา โดยจะมุ่งเน้นการเรียนในหมวดวิชา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์ยกพลมาครบ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยจะได้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ทดลอง ค้นคว้ากันอย่างสนุกสนาน เนื้อ ๆ เน้น ๆ หนัก ๆ แน่น ๆ ส่วนอีกหนึ่งวิชา คือ คณิตศาสตร์ จะมีทั้งคณิตศาสตร์พื้นฐานและเพิ่มเติม ที่เพิ่มรสชาติความเข้มข้นของเนื้อหามากขึ้นตามลำดับชั้น ส่วนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และวิชาอื่น ๆ ยังคงเรียนอยู่ แต่สัดส่วนไม่มากนัก
แผนการเรียน ศิลป์-คำนวณ เป็นแผนการเรียนยอดนิยมที่รองลงมาจาก วิทย์-คณิต โดยจะเน้นเรียนในหมวดวิชา คณิตศาสตร์พื้นฐาน และคณิตศาสตร์เพิ่มเติม และหมวดวิชาภาษาอังกฤษ เป็นความกลมกล่มของการประกบคู่กัน ระหว่างพระเอกสุดฮ็อต คณิตศาสตร์ และนางเอกตัวแม่อย่างภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์มีทั้งคณิตหลักและเสริม หนัก ๆ แน่น ๆ เหมือนสายวิทย์ทุกอย่าง ส่วนภาษาอังกฤษจัดไปทุกวัน เพราะมีทั้งภาษาอังกฤษหลักและอังกฤษเสริมสลับกันไป แถมแยกเป็นทักษะเพิ่มเติมด้วย เช่น ทักษะการอ่าน การเขียน การแปลภาษา ส่วนพระรองและตัวประกอบอื่น ๆ มากันพร้อมหน้า ทั้งภาษาไทย สังคมฯ วิทยาศาสตร์ทั่วไป และวิชาเพิ่มเติมอื่น ๆ
แผนการเรียน ศิลป์-ภาษา จะเน้นเรียนในหมวดวิชาภาษาต่าง ๆ สายนี้คือสายภาษาที่ 3 (ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน บาลี อาหรับ เกาหลี สเปน) เรียนเน้นทักษะทางด้านภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นับเป็นสายเฉพาะทางจริง ๆ ส่วนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ยังคงต้องเรียน แต่จะเป็นในระดับวิทยาศาสตร์ทั่วไปและคณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น ส่วนวิชาต่าง ๆ ที่เป็นความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปศาสตร์มีครบถ้วน
แผนการเรียน ศิลป์-สังคม หรือ ไทย-สังคม เน้นวิชาหลัก ๆ เป็นกลุ่มวิชา เน้นเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา โดยเฉพาะสังคม จะเน้นมาก ครอบคลุมทุกมิติทั้งศาสนา เศรษฐศาสตร์ กฎหมายและการเมือง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ได้ร่วมคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และมองโลกผ่านมุมมองปรัชญา กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ว่าที่เด็กนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ น่าจะถูกอกถูกใจแผนนี้เป็นพิเศษ
แผนการเรียนที่เป็นทางกว้าง ๆ ที่ออกแบบแผนการเรียนให้หลากหลาย ประยุกต์ไปตามความต้องการของแต่ละโรงเรียน โดยนำความเป็นศิลปศาสตร์ไปผนวกกับวิชาเรียนแขนงต่าง ๆ เช่น ศิลป์ – สถาปัตย์ ศิลป์ – ธุรกิจ ศิลป์ – คหกรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน
1.โรงเรียนโพธิสารพิทยากร มี 9 แผนการเรียนดังนี้
1.1 IP EP IEP GP วิทย์-เทคโนโลยี (หุ่นยนต์)
1.2 เตรียมวิทย์ – คอมฯ
1.3 เตรียมแพทย์ – เภสัช
1.4 เตรียมนิเทศศาสตร์
1.5 เตรียมมนุษย์ – ครุศาสตร์
1.6 เตรียมวิศวะ – สถาปัตย์
1.7 เตรียมศิลปกรรม
1.8 เตรียมนิติ – รัฐศาสตร์
1.9 เตรียมบริหารธุรกิจ – บัญชี
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.ps.ac.th/psth
2. โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร โดยจะแบ่งเป็น 29 วิชาเอก มีตัวอย่างดังนี้
2.1 วิชาเอกวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Engineering Artificial Intelligence Major : E-AI)
2.2 วิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Major : IT)
2.3 วิชาเอกนันทนาการและภาษาเพื่อการท่องเที่ยว
(Recreation and Language for Tourism Major : RLT)
2.4 วิชาเอกนวัตกรรมเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
(Innovative Multimedia Technology Major : IMT)
2.5 วิชาเอกดุริยางคศิลป์ (Music Department Major)
2.6 วิชาเอกออกแบบแฟชัน (Fashion Design Major)
และวิชาเอกอื่น ๆ อีกมากมาย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : หลักสูตร – ฝ่ายวิชาการ (swu.ac.th)
3. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
เป็นการใช้ ระบบ Track เป็นระบบที่นำแผนการเรียนวิทย์ – คณิต – ศิลป์ แบบเดิมๆมาแบ่งรายละเอียดเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียนที่ต้องการเรียนในคณะ/สาขาที่ใฝ่ฝัน และให้นักเรียนได้ค้นหาความชอบความถนัดของตัวเอง โดยเริ่มเรียนจากวิชาพื้นฐานสำคัญที่ต้องใช้ในการสอบของแต่ละคณะ/สาขา เตรียมพร้อมสำหรับระบบสอบเข้า TCAS ทั้ง 5 รอบด้วยกัน
ปัจจุบันโรงเรียนกรุงเทพคริสเตรียน มีทั้งหมด 14 Tracks ได้แก่
3.1 Track แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์
3.2 Track วิศวกรรมชีวการแพทย์
3.3 Track วิศวกรรมศาสตร์ (ทั่วไป)
3.4Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน
3.5 Track วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์
3.6 Track สถาปัตยกรรมศาสตร์
3.7 Track บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์
3.8 Track สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
3.9 Track ศิลปกรรมศาสตร์
3.10 Track อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์
3.11 Track นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อดิจิทัล
3.12 Track ศิลปะการประกอบอาหาร
3.13 Track วิทยาศาสตร์การกีฬา
3.14 Track ดนตรี-นิเทศศิลป์
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://thepotential.org/creative-learning/tracking-bangkok-christian
ทั้งนี้แผนการเรียนในข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการเรียนระดับชั้นมัธยมปลายเท่านั้น ซึ่งในหลายโรงเรียนอื่น ๆ ก็มีแผนการเรียนที่แตกต่างกันออกไปนอกเหนือจากนี้ ดังนั้นควรศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ของแต่ละโรงเรียนว่ามีความสอดคล้องกับคณะ/สาขาที่มีเป้าหมายจะเรียนต่อหรือไม่
ข้อมูลอ้างอิง สอบเข้า ม.4 เลือกแผนการเรียนไหน.. ที่ใช่เรา? https://tutor-vip.com/high-school-admissions