ผศ.ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์
จิดาภา อักษรสมัย
รฐนนท์ เจียมสันดุษฎี
พี่จิดาภา : สำหรับสาขาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘เอกแลงเทค’ เป็นความร่วมมือของภาคบรรณารักษศาสตร์และภาคภาษาศาสตร์ค่ะ โดยที่ฝั่งของภาคบรรณารักษ์เนี่ย ก็จะสอนเกี่ยวกับข้อมูล และการจัดการระบบค่ะ ส่วนภาคภาษาศาสตร์ จะเรียนตั้งแต่ภาษาศาสตร์พื้นฐาน ไปจนถึงภาษาศาสตร์ประยุกต์ ในภาษาศาสตร์ประยุกต์ จุดเด่นของเราก็คือภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ค่ะ
ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เป็นการนำนักภาษาศาสตร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาทำงานร่วมกันค่ะ สิ่งที่เราเรียนก็คือ การใช้เครื่องมือหรือคอมพิวเตอร์ มาประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือว่าภาษามนุษย์นั่นเองค่ะ
พี่จิดาภา : สำหรับแรงบันดาลใจที่เข้ามาเรียนเอกนี้นะคะ ก็เริ่มมาจากอาจารย์มาขายของว่าเป็นเอกเปิดใหม่ ซึ่งอาจารย์ก็พูดถึงว่าตลาดอาชีพเนี่ยมันกว้างมาก ๆ แล้วก็ยังขาดแคลนคนอยู่มาก เราก็เลยสนใจ เพราะว่าเงินมันดี แล้วเนื้อหามันก็น่าสนใจตรงที่ภาษาศาสตร์ แล้วก็ด้านบรรณารักษ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลแล้วก็ภาษา มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ก็เลยเลือกมาเรียนที่นี่ค่ะ
พี่รฐนนท์ : ใครที่ชอบวิเคราะห์ อยากที่จะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ลองมาดูกันได้ครับ ในเอกแลงเทคนี้ เราจะได้เรียนพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ สารสนเทศ และเทคโนโลยีภาษา เช่น การเขียนโปรแกรมเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษาครับ
ในชั้นปีที่ 1 เราจะได้เรียนวิชาบังคับของคณะอักษรศาสตร์
ในปีที่ 2 เราจะได้เรียนวิชาที่เป็นพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ และ สารสนเทศ
ชั้นปีที่ 3 เราจะได้เริ่มเรียนวิชาที่เป็นการประยุกต์มากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ภาษาไทยเชิงภาษาศาสตร์ หรือว่าอาจจะเรียนเกี่ยวกับสถิติในการทำงานวิจัย ก่อนที่จะได้ทำ Project และลงมือปฏิบัติงานจริง ในชั้นปีที่ 4
ในเรื่องของการทำงานนั้น มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก ๆ เลยครับ ไม่ว่าอยากจะเป็น Data Analysis อยากที่จะเป็น Data Journalism อยากที่จะเป็น Languagetic Consultant ทุกคนเป็นได้ทุกอย่างเลยครับ สำหรับเราเอง อยากจะเป็นอาจารย์ เพื่อที่จะกลับมาให้ความรู้กับทุกคนครับ
ผศ.ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ : คณะอักษรศาสตร์เป็นคณะที่มีความหลากหลายเป็นอย่างสูงครับ มีการเรียนการสอนในหลากหลายสาขาวิชา แต่ว่าโดยพื้นฐาน คณะอักษรศาสตร์มุ่งเน้นในเรื่องของการทำความเข้าใจแล้วก็ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ การเป็นมนุษย์ การทำความเข้าใจตัวเอง และการทำความเข้าใจผู้อื่น
หลักสูตรเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ ความสำคัญของมันก็คือ ในปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคที่มันมีปัญญาประดิษฐ์ เราใช้ปัญญาประดิษฐ์โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าจริง ๆ แล้วเราได้ใช้มัน อีกอันหนึ่งก็คือ เราไม่รู้เลยว่าปัญญาประดิษฐ์ทำอะไรกับเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เราใช้ Google กัน แต่เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว Google นั้นเลือกผลการค้นหาอะไรมาให้เรา หรือมีวิธีการอะไรบ้างที่ทำให้เราใช้ผลการค้นหาจาก Google เหล่านั้น เพราะฉะนั้นโดยวิธีการคิดของหลักสูตรเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ เป็นการทำความเข้าใจ เอามุมมองมิติของมนุษย์เข้าไปใส่วิธีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของมนุษย์ได้มากขึ้นครับ เพราะฉะนั้นโดยวิธีการมันคือการบูรณาการศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์ครับ มีการบูรณาการจากทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาศาสตร์ แล้วก็สารสนเทศศึกษา รวมเข้าไว้ด้วยกัน
จริง ๆ แล้ว นิสิตที่เรียนรายวิชานี้ยังเรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญา เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ แล้วก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์ศาสตร์ดิจิทัลอื่น ๆ อีกด้วยนะครับ เพราะว่าในการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ โดยพื้นฐานมันคือการบูรณาการความรู้ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความฉลาดมากขึ้นครับ
พี่จิดาภา : ห้อง Smart Classroom นะคะ เป็นห้องที่เอกเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศจะมาเรียนกันที่นี่เป็นส่วนใหญ่เลยค่ะ ตอนนี้เป็นวิชา NLP หรือ Natural Language Processing มีอาจารย์เต้ที่สอนวิชานี้ และอีกวิชาหนึ่งที่เกี่ยวกับภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ด้วยค่ะ
ที่ห้องนี้เรียกว่า Smart Classroom นะคะ เพราะว่ามี WIFI ในตัวค่ะ ทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียน ดังนั้นก็ต้องมี WIFI ค่ะ แล้วก็ที่โต๊ะเนี่ยจะเห็นว่าเป็นการนั่งเรียนแบบไม่ใช่นั่งเรียนหันหน้าเข้าหากระดาน แต่จะเป็นการนั่งเรียนแบบกลุ่ม เวลามีคุยงานอะไรก็ถามเพื่อนได้สะดวก แต่ละโต๊ะจะมีจอพรีเซนต์เป็นของตัวเอง เวลาพรีเซนต์งานก็ไม่ต้องออกไปยืนหน้าห้อง ทุกคนสามารถสลับจอกันเปิดของแต่ละกลุ่มได้เลยค่ะ
เทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศจะมีจุดเด่นอยู่ที่ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ค่ะ อย่างวิชานี้นะคะ NLP หรือว่าการประมวลผลภาษาธรรมชาติ สิ่งที่เราจะเรียนคือ การทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ วิเคราะห์และตีความได้ เพื่อที่จะนำไปใช้ปรับปรุงกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ค่ะ
พี่รฐนนท์ : ซึ่งเราก็สามารถใช้ประยุกต์ได้หลากหลายที่เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Search Engine เรื่องของ Chatbot หรือว่า Application ต่าง ๆ
พี่จิดาภา : ตัวอย่าง Chatbot นะคะ เห็นได้ชัดเลยคือ การขายของออนไลน์ตอนนี้มีเยอะมาก แล้วพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ว่างตอบลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงไหนที่เขาไปพักผ่อนก็สามารถใช้ Chatbot นี่แหละค่ะ ตอบไลน์ลูกค้า เช่น การ detect คำค่ะ อย่างลูกค้าส่งมาว่า ... เท่าไหร่คะ แล้วคำว่า ‘เท่าไหร่คะ’ นี้ ถือเป็นคำสำคัญค่ะ ตัว Chatbot ก็จะตอบเป็นราคาของสินค้านั้น ๆ กลับไป
นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีวัจนะ คือ การแปลงตัวอักษรเป็นคำพูด หรือ แปลงคำพูดหรือเสียงเป็นตัวอักษรค่ะ ที่เราเห็นได้ชัดก็คือการที่อุปกรณ์สามารถทำตามคำสั่งเสียงของเราได้อย่างเช่น Siri หรือว่า Google Assistant
พี่รฐนนท์ : ซึ่งจะเห็นได้ว่า การประยุกต์และการนำไปใช้เนี่ย กว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันเรามาก ๆ เลยนะครับ จะต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ด้านภาษาศาสตร์ สารสนเทศ และเทคโนโลยีภาษา ไว้ในคนเดียวกัน และนี่คือจุดเด่นของเอกแลงเทคของพวกเราครับ
พี่จิดาภา : สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากจะเข้ามาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศนะคะ น้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายวิทย์หรือสายศิลป์ก็สามารถมาสอบเข้าได้ค่ะ แล้วก็ไม่ต้องกลัวนะคะว่าจะเรียนไม่ทัน เพราะว่าอาจารย์จะปูพื้นฐานให้ทุกวิชาเลยค่ะ เทคนิคในการเรียนของพี่นะคะ ก็คืออ่านแล้วก็ค้นคว้าเยอะ ๆ ค่ะ เพราะว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอตอนม.ปลาย
น้อง ๆ ที่ฟังพี่ขายของมาถึงขนาดนี้แล้วนะคะ คนที่อยากเข้าเนี่ย พี่ก็อยากจะให้น้องเตรียมตัวสอบเข้าด้วยการฝึกทำโจทย์ แล้วก็อ่าน TGAT คณิตศาสตร์ หรือว่า ภาษาต่างประเทศ ก็ได้นะคะ เข้ามาเรียนสาขานี้แล้ว พี่รับรองว่าน้อง ๆ จะต้องมีความสุขมาก ๆ เลย เพราะว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เป็นสิ่งที่ท้าทาย อาจารย์ก็น่ารัก เพื่อน ๆ ก็น่ารักมากนะคะ แล้วมาเจอกันในคณะอักษรศาสตร์ค่ะ
ค่าลงทะเบียนเรียน 21,000 บาท/ภาคเรียน
จำนวนหน่วยกิตรวมวิชาเฉพาะสาขา 60 หน่วยกิต
รูปแบบและโครงสร้างของหลักสูตร
ภาควิชาภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และภาควิชาภาษาศาสตร์เปิดสอนวิชาเอกสาขาวิชาเทคโนโลยี ภาษาและสารสนเทศ แบบวิชาเอก-โท สำหรับนิสิตที่เลือกเรียนเป็นวิชาเอก
https://www.arts.chula.ac.th/~sandbox/ba61/
ดาวน์โหลดข้อมูลหลักสูตร
https://www.arts.chula.ac.th/02program/curriculum/major61/Langit-16.pdf