Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
แชร์เทคนิคเตรียมตัวยื่น Portfolio คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แบบฉบับเด็ก Homeschool

  Favorite

          สวัสดีค่ะพี่ชื่อจ๊ะจ๋า จิณณาภา ญานะ พี่เป็นเด็ก Homeschool ของบ้านเรียนญานะ จังหวัดเชียงใหม่ พี่ยื่น Portfolio เข้ามหาวิทยาลัยใน TCAS รอบ 1 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรอบ 1.2 แฟ้มสะสมผลงาน วันนี้พี่จะมาแชร์เทคนิคเตรียมตัวยื่นในแบบฉบับของพี่ จะมีอะไรบ้าง มาอ่านกัน !

 

เทคนิคการเตรียมตัวยื่น Portfolio ให้เจอแบบที่ใช่ !

          อย่างแรกเลย เราควรศึกษาตัวเองให้เข้าใจก่อน ว่าเราชอบอะไร สนใจทางด้านไหน และชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน สำหรับพี่สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันหมายถึง ชอบเรียนด้วยวิธีการแบบไหน อยากเรียนกับอาจารย์แบบไหน ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เช่น อยู่ในเมืองสะดวกต่อการเดินทาง หรือมหาวิทยาลัยที่มีธรรมชาติแยะ ๆ ห่างไกลจากเมืองหน่อย แต่ก็มีที่นั่งทำงานดี ๆ รวมถึง Passion ในการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ด้วย เพื่อตอนทำ Portfolio จะได้ง่ายขึ้น

 

พอเข้าใจธรรมชาติของตัวเองแล้ว เราก็เลือกคณะที่ตัวเองสนใจ และค่อยเลือกมหาวิทยาลัยเป็นอย่างสุดท้าย นี่คือหลักวิธีคิดของพี่ เพราะยังไงเราก็ต้องเอาวิชาที่อยากเรียนเป็นสำคัญ จริงอยู่ที่บางคณะมีอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย เเต่เชื่อเถอะมันไม่เหมือนกัน และคณะที่เราเลือกเราต้องเรียนหลายปีเลยต้องคิดดี ๆ ยิ่งรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะ สาขา มหาวิทยาลัยที่เราสนใจยิ่งเยอะยิ่งดี โดยเฉพาะระเบียบการและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ต้องระบุใน Portfolio และเมื่อเราเข้าใจตัวเอง เข้าในคณะ สาขา มหาวิทยาลัยที่ต้องการยื่น Portfolio เป็นอย่างดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือให้หันกลับมามองตัวเองอีกครั้งว่า เรามีอะไรดีที่สามารถเป็นจุดแข็งเพื่อจะใส่ใน Portfolio ได้ และทำ Portfolio อย่างเป็นตัวเองที่สุด เพราะเขาจะเลือกเราที่เป็นตัวเรา

 

การเตรียมตัวแบบฉบับเด็ก Homeschool

          ความจริงแล้วพี่ใช้เวลาในการเตรียมตัวนานกว่า 1 ปี มาก และจะหนักไปทางการค้นหาตัวเอง ว่าเราชอบอะไร สนใจด้านไหน ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วงมากสำหรับพี่ และเมื่อมั่นใจแล้วเราก็ดูคณะที่ตรงกับความต้องการของเรา ซึ่งช่วงแรกมันไม่ได้มีแค่คณะเดียว เพราะพี่มีความสนใจหลากหลาย วิธีในการคัดเลือกของตัวเองคือการหาข้อมูลเจาะลึกลงไปในตัวคณะ มหาวิทยาลัย อาจารย์ และสภาพเเวดล้อม ยิ่งเคยไปสัมผัสคณะนั้น ๆ มาก่อนยิ่งดี เพราะเราต้องเขียน Passion ที่มีต่อคณะ สาขานั้น ลงใน Portfolio ด้วยเช่นกัน 

 

เมื่อเลือกได้เเล้ว อย่างสุดท้ายคือสำรวจตัวเองว่าเรามีอะไรดีและไม่ดี อ่านโจทย์และข้อกำหนดต่าง ๆ ของคณะและมหาวิทยาลัยนั้นให้เข้าใจ แล้วเขียน Portfolio ที่เป็นตัวเองที่สุด แต่ไม่นอกประเด็น ไม่นอกลู่นอกทาง เพราะ Portfolio จำกัดจำนวนหน้าไว้ด้วย ดังนั้นเราควรเขียนตรงไปตรงมาและตรงประเด็น เเละพอทำ Portfolio เสร็จแล้วก็ลองส่งให้คนอื่น ๆ อ่านดู และลองถามความเห็น และปรับแก้ไปเรื่อย ๆ จนพอใจ

 

กิจกรรม

          กิจกรรมที่ได้ทำและรู้สึกประทับใจที่สุดคือ การได้เข้าร่วม โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ของ สวทช. และพี่ก็ได้ใช้การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นผลงานหลักในการยื่นเข้า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่อยู่ในโครงการนี้ พี่ได้เข้าค่ายเสริมประสบการณ์ ที่จัดทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ ปีละประมาณ 4-5 ครั้ง หลายค่ายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไปเองได้ยาก เช่น การเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนจริง ได้ไปใช้ชีวิตกับชาวบ้าน และได้เรียนรู้กับครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นนั้น

 

นอกจากนี้ยังได้ฝึกทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ ได้เข้าร่วมอบรมความรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงที่เป็นอาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ คอยให้คำแนะนำ ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่โครงการได้คัดสรรมา ที่สำคัญคือทุกท่านเป็นมิตรและมีเมตตาต่อเด็ก ๆ มาก มองทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แยกชนชั้นว่าเป็นอาจารย์หรือลูกศิษย์ เราสามารถพูดคุย แสดงความคิดเห็นกับอาจารย์ได้อย่างเปิดเผย พี่สัมผัสได้ว่าอาจารย์ท่านรักในสิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็น มีความทุ่มเท และปรารถนาดีต่อลูกศิษย์จริง ๆ

 

เสริมสกิลเรียนพิเศษ

          สำหรับการเรียนพิเศษพี่มีการเรียนเสริมภาษาอังกฤษอย่างเดียว เพราะคิดว่าผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษจะมองเห็นโลกกว้างไกลขึ้นมาก รวมถึงการหาข้อมูลที่เราสนใจก็จะง่ายขึ้นด้วย จึงเลือกเรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา เพื่อให้คุ้นกับสำเนียงของเขาด้วยค่ะ 

 

สุดท้าย หนังสือที่อยากแนะนำให้น้อง ๆ ได้อ่านกัน

          สำหรับหนังสือสองเล่มที่พี่จะมาแนะนำ เป็นหนังสือที่ช่วยให้พี่เข้าใจในการเรียนคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ได้อย่างชัดเจนขึ้น เข้าใจแนวคิดของคณะมากขึ้น น้อง ๆ ที่สนใจคณะนี้ลองหามาอ่านกันได้นะ

 

หนังสือเรื่อง อาณาเขต (The district)

          หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดสำคัญของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ชัดเจนขึ้น คือ การเข้าใจปัญหาในสังคมและพยายามเปลี่ยนแปลงมันตามความสามารถที่เราทำได้ หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นตัวอย่างของการพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เช่น วิธีการมองปัญหาว่ามันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า หรือการมองคน การตัดสินคนที่เราต้องเจอในชุมชน ความคิดของหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเป็นกลางมากขึ้น เพราะช่วยให้เรามองโลกความเป็นจริงและมองปัญหาทะลุขึ้น ดังประโยคที่ว่า “อย่าเชื่ออะไร 100% ไม่มีอะไรยั่งยืน” นอกจากนี้ความหมายของหนังสือเรื่องอาณาเขต ยังถูกตีความคล้ายกับการเรียนที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ที่คณะพยายามผลักดันให้เราออกจากอาณาเขตเดิมของตนเอง สู่ขอบเขตใหม่ที่กว้างขวางขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

หนังสือเรื่อง แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to stay alive)

          เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาและผู้คนในสังคมได้ชัดเจนขึ้น เพราะในปัจจุบันเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มีจุดเน้นให้เราเข้าใจคนในสังคม ผ่านกิจกรรมที่ได้เข้าไปคลุกคลีและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายรูปแบบ ความรู้ที่ได้จากหนังสือที่อ่านจึงช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ ให้เราเข้าใจความคิดและสภาวะอารมณ์ของมนุษย์มากขึ้น รวมทั้งทำให้เราระวังตัวในการใช้คำพูดหรืออารมณ์มากขึ้น เพราะคำพูดและการกระทำที่เบาสำหรับเราอาจรุนแรงสำหรับเขา

 

          น้อง ๆ ที่สนใจอยากยื่นเข้า รอบ Portfolio คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็สามารถนำเทคนิคการเตรียมตัวของพี่ไปปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวได้เลย และขอให้น้อง ๆ สมหวังได้คณะที่ตั้งใจนะ สู้ ^^

 
Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us