Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
คุณค่าของเรา คุณค่าของเพื่อน คุณค่าที่คู่ควร...ของกันและกัน

  Favorite

          รู้สึกกันบ้างมั้ยคะว่า ยิ่งเราโตขึ้น เพื่อนดูจะยิ่งทวีความสำคัญต่อเราขึ้นทุกที

          จากที่เคยแบ่งปันทุกเรื่องราวในชีวิตกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง เราเริ่มจะมี ‘เรื่องส่วนตัว’ ที่ไม่อยากให้พวกท่านทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อผู้คนหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในแบบที่แตกต่างไปจากตอนที่เรายังเด็ก ๆ หรือเรื่องขำ ๆ มัน ๆ ซน ๆ ของเรา มันอาจไม่ขำ เมื่อ ‘พวกผู้ใหญ่’ รู้เข้า เป็นต้น

          “เพื่อน” จึงเป็นคนที่มีโอกาสรับรู้ รับฟัง และหลายครั้งก็มีส่วนร่วมในหลายเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราอย่างที่เราไม่เคยให้โอกาสแบบนี้กับใคร ฟังดูเหมือนจะใกล้ชิด แต่บางครั้ง ความใกล้ชิดก็ทำให้เพื่อนกลายเป็นคนที่สร้างความผิดหวังและเสียใจให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ สาเหตุของความผิดหวังและเสียใจ อาจเป็นเพียงเพราะเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเราเหมือนที่เราคาดหวัง ไม่สนใจใส่ใจเราเหมือนที่เราสนใจใส่ใจเขา หรือนำเรื่องเฉพาะที่เราเล่าให้เขาฟังไปเมาท์ต่อกับคนอื่น  ทำให้ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่เรามีให้

          เรื่องที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลยสำหรับวัยรุ่น ไม่ว่าจะเถียงกัน เชียร์กัน ทะเลาะกัน ช่วยเหลือกัน งอนกัน ง้อกัน วนไปวนมา แต่เชื่อเถอะ วัยนี้นี่แหละค่ะ ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพื่อนกันจนวันตาย

          ดังนั้น หากเกิดเสียใจเพราะเพื่อน ไม่ควรหัวร้อนเลิกคบกันไปง่าย ๆ อย่างแรกที่น่าจะทำคือ หยุดคิดสักนิด ว่าเราเองเคยทำให้เพื่อนเสียใจบ้างหรือเปล่า หากเคยทำ รู้สึกไหมว่า บางครั้งก็ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีเจตนาให้เพื่อนเสียใจเลย ซึ่งถ้ารู้สึกแบบนั้น ก็น่าจะลองย้อนมองในมุมกลับบ้างว่า เพื่อนอาจทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีเจตนาเช่นกัน

          แต่การจะทำให้ใครเสียใจซ้ำ ๆ โดยอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีเจตนาเสียทุกครั้ง ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่ ๆ ไม่ว่าจะเราทำเขาหรือเขาทำเรา ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะลองทบทวนดูว่า เหตุใดตัวเองจึงทำให้คนอื่นเสียใจ เพื่อจะเข้าใจทั้งตัวเราและเพื่อนมากขึ้นด้วย

 

เราเห็นคุณค่าของคนรอบข้างแค่ไหน?

         โดยทฤษฎีแล้ว คนมักคิดว่า ถ้าเราเห็นว่าใครมีคุณค่าสำหรับเรา เรามักจะระมัดระวัง เกรงใจ ให้เกียรติคน ๆ นั้น และพยายามที่สุดที่จะไม่ทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ แต่ในทางปฏิบัติ อย่าลืมว่า คนแต่ละคนมีลักษณะนิสัยต่างกัน ได้รับการอบรมเลี้ยงดูต่างกัน จึงเป็นไปได้ที่คนบางคนพูดจาตรงไปตรงมาจนไม่คำนึงถึงกาลเทศะ ก็อาจทำให้คนอื่นเสียหน้า เสียใจ รู้สึกไม่ดี ทั้ง ๆ ที่พูดไปโดยมีเจตนาดีแท้ ๆ

         เมื่อรู้อย่างนี้ เราจึงควรเตือนตัวเองอยู่เสมอ ว่าการกระทำและคำพูดที่เป็นไปด้วยเจตนาดีควรเป็นการกระทำและคำพูดที่ดี สุภาพ ถนอมความรู้สึกของคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับเรา เขาจึงจะมองเห็นเจตนาดีของเราได้ชัดเจน

         และหากมีใครมาพูดมาทำอะไรให้เรารู้สึกแย่ รู้สึกโกรธ รู้สึกขายหน้า หรือทุกข้อที่ว่ามา โดยเฉพาะเมื่อคน ๆ นั้นเป็นคนใกล้ตัว เช่น เป็นเพื่อนที่เรารักและไว้ใจ ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขาเจตนาร้ายกับเรา ทางที่ดี รอให้ทุกฝ่ายใจสงบ อารมณ์เย็น แล้วค่อยมานั่งคุย ปรับความเข้าใจ บอกเพื่อนไปว่าเรารู้สึกอย่างไรจากการกระทำและคำพูดของเขา แล้วไถ่ถามกันดี ๆ ว่าเหตุใดเขาจึงพูดแบบนั้น ทำแบบนั้นกับเรา เมื่อได้ทราบเหตุผลแล้ว อาจทำให้เรารู้จักและเข้าใจเพื่อนมากขึ้น ส่วนเพื่อนเองก็ได้รู้จักและเข้าใจเรามากขึ้น และถ้าต่างฝ่ายต่างอยากรักษาความเป็นเพื่อนไว้ ต่างก็ต้องปรับตัวและพฤติกรรมของตัวเองเสียใหม่ จะได้ไม่เสียเพื่อน

         ส่วนกรณีที่เขาจงใจพูด จงใจทำให้เรามีความรู้สึกเชิงลบ เราจะได้รู้ว่าเขาเป็นเพื่อนเราจริงอย่างที่เราคิดหรือไม่ เมื่อเขาชัดเจนว่าไม่ได้อยากเป็นเพื่อนกับเรา ก็ไม่จำเป็นต้องเซ้าซี้ขอเป็นเพื่อนเขาต่อ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน แค่ถอยออกมาแล้วรักษาระยะห่าง จะได้ไม่ต้องเสียใจเสียความรู้สึกอีกเท่านั้นเอง

 

อย่าเห็นแต่คุณค่าของคนอื่นจนหลงลืมหรือแม้แต่ยอมลดคุณค่าของตัวเราเอง

         คนเรา ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบใด ความสัมพันธ์นั้นจะราบรื่นได้ก็ด้วยการให้และการรับที่เสมอกัน หรือที่พวกผู้ใหญ่มักพูดว่า “มีศีลเสมีอกัน” (แอบเรียนศัพท์ ส.ว. กันไว้บ้าง 55) เมื่อเราให้เกียรติ เกรงใจ ใส่ใจความรู้สึกใคร แต่เขาไม่ให้เกียรติ ไม่เกรงใจ ไม่ใส่ใจความรู้สึกเรา แสดงว่าการให้และการรับไม่เสมอกัน ผลคือเราไม่มีความสุขในความสัมพันธ์นั้น ๆ และสิ่งที่ควรทำก็คือ ค่อย ๆ ถอยออกมาจากความสัมพันธ์ที่ว่า เพื่อรักษาคุณค่าของตัวเราเอาไว้

         อย่าคิดลดคุณค่าของเราเพียงเพื่อจะได้การยอมรับจากใคร อย่ายอมทนไม่สบายใจในเรื่องที่ไร้เหตุผลที่เพียงพอ เพื่อให้คนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนยอมรับ เช่น วัยรุ่นบางคนได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี พูดจาสุภาพ กิริยามารยาทเรียบร้อย ตั้งใจเรียน แต่วันดีคืนดี หันมาหัดหยาบคาย หนีเรียน เที่ยวกลางคืน กินเหล้า เพียงเพื่อจะได้เข้ากลุ่มเข้าแก๊งกับเพื่อน ทั้งที่รู้สึกตลอดว่า การทำแบบนั้นไม่ใช่ตัวของเขาเลย ทำแล้วรู้สึกว่า ‘คุณค่า’ ลดลง สุดท้ายก็ทนอยู่ในกลุ่มนั้นไปด้วยจิตใจไม่มีความสุข เพราะยอมลดทอนคุณค่าตัวเองจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป

         การรู้คุณค่าของตัวเอง ไม่ได้ทำให้เราเป็นเพื่อนแย่ ๆ แต่แสดงให้เห็นว่าเราฉลาดที่จะเลือกใช้ชีวิตให้มีความสุขต่างหาก เลือกที่จะอยู่ท่ามกลางคนที่เห็นคุณค่าของเราพอกับที่เราเห็นคุณค่าของเขา เลือกที่จะมีเพื่อนที่เป็นเพื่อนจริง ๆ ไม่ใช่แค่คนรู้จักที่สรวลเสเฮฮากันไปวัน ๆ เลือกที่จะช่วยกันสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืน ที่ทั้งสองฝ่ายสบายใจ   

 

เพื่อนที่มีคุณค่าคือเพื่อนที่พูดความจริงและให้เกียรติกัน

         ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะคนวัยไหน เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา ก็มีมากมายหลายประเภท บางประเภทปากหวาน ช่างสรรเสริญเยินยอ รู้จักหาคำพูดน่าฟังมาทำให้เรารู้สึกดี แต่จะมีประโยชน์อะไรกับเราไหม หากคำพูดน่าฟังเหล่านั้นไม่ใช่ความจริง?

         เพื่อนที่แท้จริง ย่อมไม่ทำร้ายเราไม่ว่าด้วยคำพูดหวาน ๆ ที่หลอกลวงกัน คำพูดแย่ ๆ ที่เป็นความเท็จ หรือแม้แต่คำพูดแย่ ๆ ที่เป็นความจริง

         ถ้าเราเรียนเก่ง แล้วเพื่อนอิจฉา เอาเราไปนินทาลับหลังว่า เราประจบครูหรือลอกข้อสอบคนอื่นจึงได้คะแนนดี เรายังอยากคบเพื่อนแบบนี้อยู่ไหม?

ถ้าเราเรียนเก่งแล้วหลงตัวเอง ชอบดูถูกสติปัญญาคนอื่น แต่เพื่อนเห็นว่าเราคิดดีแล้วทำดีแล้วเพราะหวังให้เราสอนการบ้านหรือช่วยติว ต้องลองคิดให้ดีว่า เขาควรเป็นเพื่อนเราไหม?

         และถ้าเพื่อนวิจารณ์ความหลงตัวเองของเราเสีย ๆ หาย ๆ อย่างไม่ไว้หน้าและไม่แคร์ความรู้สึกกัน ถึงมันจะเป็นเรื่องจริง แต่คนที่เป็นเพื่อนควรทำกันแบบนี้ หรือควรจะค่อย ๆ ตักเตือนกันดี ๆ มากกว่า?

         คุณค่าของเพื่อนจึงอยู่ที่เขา ‘จริง’ กับเราแค่ไหน และให้เกียรติเราแค่ไหน ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือคำพูด ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง และคุณค่าของเราเองก็อยู่ที่เรา ‘จริง’ กับคนรอบข้างแค่ไหน และให้เกียรติพวกเขาแค่ไหน ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือคำพูด ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง

 

อยากได้เพื่อนประเภทไหนก็ทำตัวเป็นเพื่อนประเภทนั้น

         การรู้จักหยิบยื่นน้ำใจอย่างจริงใจ การให้เกียรติผู้อื่น การทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย การใช้เหตุผลและรู้จักควบคุมอารมณ์ เหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของเพื่อนที่มีคุณค่าทั้งสิ้น หากทำได้ เราก็จะเป็นเพื่อนที่ล้ำค่าสำหรับคนที่รู้ค่าของเรา ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเราก่อน เชื่อว่าจะวัยรุ่นหรือวัยไหน ก็ไม่มีใครอยากได้เพื่อนแย่ ๆ เมื่อเราอยากมีเพื่อนดี เราก็ควรทำตัวเป็นเพื่อนที่ดี เพื่อจะดึงดูดคนรอบข้างเข้ามาให้เราได้ใช้วิจารณญาณและสติปัญญากลั่นกรองว่า ใครคือเพื่อนที่มีคุณค่าคู่ควรกับความดีของเรา

         ไม่ว่าใครจะรู้ค่าเราหรือไม่อย่างไร ขอให้จำไว้ว่า เราต้องรู้ค่าของตัวเองเสมอ

         และหากเราได้เจอเพื่อนที่มีค่าคู่ควรกัน ก็จงรักษาเพื่อนคนนั้นไว้ให้ดี

 

พี่มด กัลยภรณ์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us