Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
5 Year Plan: How to วางแผนชีวิต อย่างผู้พิชิตความสำเร็จ

  Favorite

          การตั้งเป้าหมายเหมือนกับการปักหมุดบน GPS ที่ทำให้เราไปถึงที่หมายได้โดยไม่หลงทาง เป้าหมายในชีวิตสำคัญขนาดไหนอ่ะหรอคะ...พี่อยากให้น้อง ๆ ลองจินตนาการถึงการลืมของไว้บนชั้นที่ 40 ของตึกที่ไม่มีลิฟต์ แย่สุดก็แค่เดินขึ้นไปเอา เหนื่อยหน่อย เสียเวลาจัง แต่ “เป็นไปได้” แต่น้อง ๆ ลองคิดดูว่า ถ้าชีวิตของน้องขาดอะไรบางอย่างมาจนถึงอายุ 40 ปี เราจะไม่สามารถย้อนกลับไปตามหาหรือยอมแลกอะไรเพื่อให้ได้สิ่งนั้นกลับมาเลยนะคะ นั่นล่ะคือคำตอบว่า ทำไมการตั้งเป้าหมายถึงสำคัญ มันคือทิศทางชีวิต ที่คอยบอกเราว่าต้องเดินไปทางไหน ต้องไปทางซ้ายหรือเปล่านะ เอ๊ะ..ไม่ใช่ ทางขวาต่างหาก การกำหนดเส้นทางแบบนี้จะทำให้เราไม่หลงทางไปไกล และสามารถกลับเข้าสู่ทางหลักได้อย่างรวดเร็ว

          โดยบทความนี้พี่อยากชวนน้อง ๆ ลองกำหนดความตั้งใจ กำหนดสิ่งที่ต้องทำ กำหนดระยะเวลา และกำหนดเส้นชัย เราอาจจะตั้งระยะไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป คือการตั้งเป้าหมายในระยะเวลา 5 ปี น้อง ๆ อาจสงสัยว่าการตั้งเป้าหมาย 5 ปีดีอย่างไรทำไมต้องเป็น 5 ปี เพราะว่าในระยะเวลา 5 ปีนั้น ถ้าเราไปผิดทาง  เราก็ยังยูเทิร์นกลับไม่ยาก หรือถ้าเราไปในทางที่ถูกต้องแล้ว เราก็จะเริ่มเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากกว่าในระยะที่สั้นเกินไป เอาล่ะค่ะ เราลองมาตั้งเป้าหมาย 5 ปี โดยเราจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีอะไรบ้าง พร้อมแล้ว ลุยย...

 

Part 1 Choosing Categories : เลือกโหมดที่ใช่

1. คิดถึงสิ่งที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลง

          เราอาจจะเริ่มจากการจินตนาการว่า เราเห็นตัวเราเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า เห็นตัวเราเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ทำอะไร? บางคนอาจจะบอกว่าชีวิตของฉันนั้นดีอยู่แล้ว บทความนี้พี่ Neve อยากชวนน้อง ๆ ให้เห็นชีวิตที่ ‘ดีกว่า’ จากที่มันอาจจะดีอยู่แล้ว เพราะถ้าวันนี้เราไม่เปลี่ยนแปลง...วันหนึ่งโลกก็จะเปลี่ยนเรา

 

2. จินตนาการถึงเป้าหมายส่วนตัว

          ตอนนี้น้อง ๆ อาจจะมีเป้าหมายส่วนตัวมากมายเต็มไปหมด แต่ตอนนี้พี่อยากให้น้องลองจินตนาการใหม่ว่า ถ้าน้องสามารถพิชิตเป้าหมายระยะสั้นสำเร็จ เช่น สอบได้เกรดดี, เข้าคณะที่ชอบได้, และได้อยู่ในมหาวิทยาลัยในฝันแล้ว เป้าหมายจากนี้อีก 5 ปี น้อง ๆ อยากจะทำอะไรเพิ่มเติม เพื่อสร้างอีกมิติหนึ่งของชีวิต เช่น อยากเล่นบอลกับเพื่อนทุกอาทิตย์, มีเวลาเล่นเกมมากขึ้น, ได้อ่านหนังสือการ์ตูน หรือบางคนอาจจะมีเป้าหมาย 5 ปีที่ใหญ่ อย่างเช่น เริ่มต้นธุรกิจระหว่างเรียน, มีเงินเก็บตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นต้น

 

3. การตั้งเป้าหมายเรื่องการเงิน

          การวางแผนตั้งเป้าหมาย 5 ปี อาจจะหมายถึงการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่มากขึ้น ซึ่งมันจะพาไปสู่วิธีการมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การเก็บเงินอย่างจริงจัง, การหางาน Part time ทำระหว่างเรียน, หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องไกลตัว แต่เรื่องไกลตัวนี้แหละค่ะ ที่จะเป็นตัวกำหนดชีวิตของน้อง ๆ ว่าจะรอดหรือจะร่วงในอนาคต

 

4. มีเป้าหมายที่สนุกระหว่างทาง

          บางทีการแทรกเป้าหมายที่จริงจังด้วยความสนุกก็ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นนะคะ น้อง ๆ อาจจะคิดว่า เอ๊..ความสนุกต้องอยู่ในเป้าหมายด้วยหรือ ถูกค่ะ! ความสนุกควรอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เพราะฉะนั้นเราอาจจะบวกการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายตัวเองแบบสุดติ่งกระดิ่งแมวไปเลย อย่างเช่น Sky-diving สักครั้งภายใน 5 ปีนี้, จะไปต่างประเทศด้วยตัวเอง, จะลงแข่งไตรกีฬา เป็นต้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ความสนุกและความท้าทายมีค่ากับชีวิตทั้งนั้นนะคะ

 

5. การตั้งเป้าหมายของครอบครัว

          ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะสร้างครอบครัวของเราเอง แต่อย่าลืมว่า เราเองก็มีครอบครัวที่ได้สร้างเราขึ้นมา การให้ความสำคัญกับครอบครัว ควรอยู่ในเป้าหมายของชีวิตด้วยเช่นกัน เราคงไม่อินกับความสำเร็จที่มีแต่ตัวเราคนเดียว ยินดีคนเดียว มีความสุขคนเดียวแน่นอน เรามีคนที่อยู่เคียงข้างและคอยซับพอร์ตเรามาตลอดเกือบ 20 ปี เพราะฉะนั้น 1 ในเป้าหมายของเรา ควรมีครอบครัวเรารวมอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน

 

Part 2 Drawing Up the List : เขียนลิสต์เป้าหมาย

1. เขียนให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่ทำได้

          มันอาจไม่ง่ายเลยที่จะรู้ว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่เราต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายใน 5 ปี แต่เราจะเลี่ยงการเขียนลิสต์ เช่น “จะเป็นคนที่ดีขึ้น” No ค่ะ... มันกว้างเกินไป เราจะต้องเจาะจงให้แคบที่สุด ยิ่งแคบเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นภาพมากขึ้นเท่านั้น โดยเราอาจจะแยกออกเป็นเรื่องเรียน เรื่องเงิน เรื่องสุขภาพ เรื่องความรัก

 

2. ดึงเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนออกมาจากลิสต์แต่ละข้อ

          พอเราได้แยกแต่ละเรื่องออกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องเงิน เรื่องสุขภาพ เรื่องความรัก เราต้องดึงเรื่องที่เป็นที่สุดของแต่ละข้อออกมาอีกที ที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่สุด ณ เวลานั้น เช่น เป้าหมายเรื่องเรียน เราเจาะจงลงไปอีกว่า เราจะเข้าเรียนในคณะใด มหาวิทยาลัยไหน ให้ได้ในปีอะไร เลือกในรูปแบบการรับเข้าแบบไหน เป็นต้น

 

3. ย่อยเป้าหมายออกมา

          ถ้าสมมติว่าเป้าหมายของเราตอนนี้คือเข้ามหาวิทยาลัยที่ชอบ คณะสาขาใช่ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราก็ต้องมาย่อยเป้าหมายก่อนว่าเส้นทางที่ GPS จะพาเราไปนั้นจะต้องเจอทางผ่านอะไรบ้างเช่น เราจะเข้ามหาลัยด้วยวิธีอะไร ถ้าเราเลือกใช้ Portfolio เราต้องมาวางแผนว่าเราจะให้ในพอร์ตของเรามีอะไรบ้าง แล้วต้องทำอย่างไรให้ Portfolio ของเราตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อแผนการชัดเจน วิธีการจะมาเอง

 

4. วางระยะเวลา

          หลังจากที่เราดึงเป้าหมายที่สำคัญออกมาแล้ว ย่อยเป้าหมายแล้ว เราก็มาวาง Timeline กัน ถ้าเรามีแต่เป้าหมายโดยไม่วางระยะเวลาเป็นตัวกำหนด มันจะเป็นการวางแผนที่ล่องลอยมาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้สามารถจับต้องได้โดยการจัดเวลา ไล่จากเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดแล้วย้อนกลับมาว่าแต่ล่ะปี แต่ละเดือน แต่ละอาทิตย์ และแต่ละวัน เราจะต้องเดินไปถึงไหนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายปี

 

5. โฟกัสให้ภาพชัดเจนขึ้น

          การตั้งเป้าหมาย 5 ปีนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เกือบทั้งหมดอยู่ที่การโฟกัสกับเป้าหมายเป็นหลัก ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมาย ลิสต์เป้าหมาย ย่อยเป้าหมาย ตั้งระยะเวลา แต่ถ้าเราไม่โฟกัส เราจะไม่มีวันไปถึง การโฟกัสคืออะไร คือการมองเห็นเป้าหมายในทุก ๆ วัน ไม่จำเป็นต้องโฟกัสทุกนาที แต่ต้องไม่มีวันไหนที่เราละความสนใจไปจากเป้าหมายของเรา ยิ่งเราใจจดใจจ่อกับจุดหมายที่เราจะไปมากเท่าไหร่ ระยะทางมันจะใกล้ลงขึ้นเท่านั้น

 

Part 3 Tackling the List : การจัดการปัญหา

1. การตั้ง Timeline ที่เป็นไปได้

          การตั้ง Timeline ที่เป็นไปได้ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจตัวเอง อย่างไรนะหรอคะ... น้อง ๆ ลองคิดดูนะว่า ถ้าเราวาง Timeline ที่ปลอมเกินไป หลอกตัวเองเกินไป พอเป็นไปไม่ได้ เราจะมีแต่ความท้อใจ ถ้าเกิดขึ้นครั้งแรกก็พอทำใจ ครั้งที่ 2 เริ่มเหนื่อยใจ พอครั้งที่ 3 เราคงจะหมดกำลังใจ เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้ง Timeline ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ยกตัวอย่างแผนของเราใน 5 ปี เช่น เข้ามหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ได้ในปีหน้า และจะเรียนให้จบปริญญาตรีภายใน 4 ปี อย่างนี้เป็นต้น เพราะทั้ง 2 ข้อนั้นสามารถเป็นไปได้จริง

 

2. เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และขีดทิ้งเมื่อบรรลุเป้าหมาย

          สำคัญมากคือการที่เราควรจะเขียนแผนและเป้าหมายใน 5 ปี ของเราออกมาและแปะไว้ในจุดที่มองเห็น เพื่อเตือนเราในทุก ๆ วันว่า เราเดินมาถึงจุดไหนแล้ว และเมื่อสามารถผ่านจุดไหนได้ ให้ขีดฆ่าทิ้งซะ แล้วบอกกับตัวเองว่า “เก่งนะเรา...พิชิตมันได้แล้ว” แค่นี้ก็จะเป็นกำลังใจดี ๆ ที่ไม่ต้องไปหาจากที่ไหน แต่สามารถสร้างได้เองง่าย ๆ ด้วยตัวเราเอง และจะยิ่งดีมาก ๆ หากน้อง ๆ สามารถให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ กับความสำเร็จน้อย ๆ และค่อยขยับรางวัลให้ใหญ่ขึ้นตามความสำเร็จที่มากขึ้น

 

3. อย่าหลุดจากปัจจุบัน

          เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก โลกตอนนี้หมุนเร็วยิ่งกว่าใบพัดใด ๆ เพราะฉะนั้นการจ่อติดสถานการณ์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การที่เราตั้งเป้าหมาย 5 ปี โดยที่ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวของโลกเลย อาจจะทำให้เป้าหมายบางอย่างของเราคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นเป้าหมายที่ดีที่เป็นไปได้ ต้องเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันด้วย อย่าลืมคอยอัปเดตเทรนด์โลกกันนะจ๊ะ

 

          ลองดูนะคะ กับ How to วางแผนชีวิต อย่างผู้พิชิตความสำเร็จ ด้วยการทำ 5 Year Plan ถ้าน้อง ๆ คิดว่าการทำ 5 Year Plan ยากแล้ว พี่บอกให้เลยว่า การใช้ชีวิตในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยไม่มี Plan ยากกว่าหลายเท่านัก!   

 

          ก่อนจะบ๊ะบายน้อง ๆ พี่มีคำถามถามว่า ถ้าให้เลือกการเดินทางมา 1 ข้อ โดยมี เรือ จักรยาน และเครื่องบิน น้องจะเลือกอะไร?

          เราจะไม่สามารถตอบได้เลย ถ้าเรายังไม่รู้ว่าในคำถามเราจะไปไหน? ใช่มั้ยคะ เพราะเราคงไม่นั่งเรือไปเชียงใหม่ ขี่จักรยานไปภูเก็ต และขึ้นเครื่องไปหน้าปากซอย ดังนั้นเราจะต้องรู้ก่อนว่า จุดหมายเราอยู่ที่ไหนใช่มั้ยคะ ชีวิตก็เหมือนกันค่ะ 5 ปี มีความหมายมาก มากพอที่จะเสียเวลาอยู่กับที่ หรือมากพอที่จะเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล เพราะฉะนั้นตั้งคำถามชีวิตให้ถูก ให้รู้ว่าจะปักหมุนไปที่ไหน แล้วมาตั้ง GPS กันเลยค่ะ

 

Neve

 

ข้อมูลอ้างอิง
How to Write a Five Year Plan 
https://www.wikihow.com/Write-a-Five-Year-Plan

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us