ได้เวลาไปส่องเด็ก ม. ปลายกันหน่อยว่า กว่าที่พวกเขาจะแปลงร่างจากเด็ก ม. 3 มาเป็นเด็ก ม. 4 ต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง โดยเป้าหมายของเราคือหนุ่มน้อยคมเข้ม น้องกฤษฏิ์ชนก มีลาภ หรือน้องกองบิน ปัจจุบันอายุ 17 ปี เรียนอยู่ชั้น ม. 6 แผนการเรียนศิลป์-ภาษาเกาหลี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กองบินเรียนจบชั้น ม. 3 จากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม เราจะย้อนเวลากลับไปดูกันว่า ก่อนที่จะบินไปเตรียมอุดม กองบินต้องทำอย่างไรบ้าง บินตามมาเลย
เริ่มวางแผนการสอบเข้า ม. ปลาย ในช่วงปลาย ๆ ของ ม. 3 แล้ว ประมาณเดือนตุลาคม ปีก่อนสอบ ต้องบอกก่อนว่า พี่เป็นคนที่ชอบฟังเพลงเกาหลีมาก ๆ ฟังตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วก็ชอบตัวภาษามาก ๆ ในตอนนั้นรู้สึกว่าอยากเรียนภาษาเกาหลีมาก เลยมองหาโรงเรียนที่เปิดสอนศิลป์-ภาษาเกาหลี ตอนนั้นมีเพื่อนที่จะไปสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมพอดี แล้วเห็นว่าที่นั่นเปิดแผนศิลป์-เกาหลีด้วย เลยวางแผนว่าจะลองไปสอบดู ตอนแรกไม่ได้คิดว่าคนที่จะสอบเข้าที่นี่จะแบบจริงจังกันขนาดนี้ 55 ด้วยความที่เป็นคนเรียนชิว ๆ มาตลอด แต่เห็นเพื่อนเรียนกันเยอะ อ่านหนังสือหนักมาก เตรียมตัวกันมาล่วงหน้า ส่วนตัวพี่มาเริ่มช่วงที่แอบช้าไปแล้ว เลยอยากลองขยันแบบเพื่อนบ้างสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ตอนแรกซื้อหนังสือของรุ่นพี่เตรียมอุดมมาลองทำดูก่อน ทำไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าคะแนนไม่ได้ดีขึ้น แปลว่าเรายังต้องอัปตัวเองอีกเยอะ แต่ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีแรงจูงใจมาก จนกระทั่งได้ไปงาน Open House ที่เตรียมอุดม แล้วชอบมาก รุ่นพี่น่ารักมาก ได้รู้จักโรงเรียนและหลักสูตรมากขึ้น ทำให้มี Passion เพิ่มขึ้นเยอะมาก และนับจากนั้นพี่ลุยอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมตัวสอบเข้า ม. 4 โรงเรียนเตรียมอุดม แม้จะมีเวลาน้อยมาก แต่สามารถผ่านมาได้อย่างประสบความสำเร็จ
พี่เริ่มอ่านหนังสือจริงจังตอน ม. 3 ช่วงเดือนตุลาคม เรียกว่าเตรียมตัวก่อนสอบเลย ช่วงนั้นยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเราเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร เลยลองทำโจทย์จากหนังสือต่าง ๆ ที่ต้องใช้สอบเข้า ซึ่งตัววิชาที่เราใช้สอบเข้า ม. 4 ตอนนั้นมีอังกฤษ ไทย สังคม 3 วิชานี้ ตอนคะแนนจากแบบฝึกหัดออกมา ทำให้รู้ตัวว่ายังอ่อนอังกฤษกับสังคมอยู่ จึงพยายามหาโจทย์จากหนังสือต่าง ๆ มาทำเยอะมาก และพี่เป็นคนที่โฟกัสอะไรนาน ๆ อ่านยาว ๆ แล้วจะลืม! จึงไม่เน้นอ่านมาก แต่เน้นทำโจทย์ให้ได้ทุกวัน วันไหนว่างทำวิชาละชุดเลย หรือวันไหนไม่ค่อยมีเวลาอาจทำสักสิบข้อ หรือทำโจทย์แบบวิชาเดียวต่อวัน เพื่อให้เคยชิน จะได้สามารถทำโจทย์ได้ตลอด จนทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันไปแล้ว
เราไม่ใช่คนที่วางแผนหรือจัดตารางอ่านหนังสือแบบเป็นระเบียบ ไม่ใช่แนวอ่านหนังสือขนาดหนัก แค่รู้สึกว่าในหนึ่งวัน ควรอ่านได้เท่านี้ วิชาละเท่านี้ วางเป้าหมายเอาไว้ก่อน ขึ้นอยู่กับว่าในวันนั้นมีเวลาแค่ไหนด้วย เพื่อไม่ให้หนักตัวเองจนเกินไป แม้ว่าจะไม่เน้นการอ่านหนังสือเป็นหลัก แต่จากการทำโจทย์ไปเรื่อย ๆ ทำให้รู้ว่าพลาดตรงไหนบ่อย ๆ แล้วค่อยไปตามอ่านตามเก็บในส่วนนั้นแทนทีหลัง จะได้ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะจนเกินไป อย่างวิชาภาษาอังกฤษ ข้อสอบมีทั้งพาร์ท Reading, Vocab, Error, Cloze Passage ประมาณนี้ เราเป็นคนที่ไม่ได้เก่งพาร์ท Grammar ขนาดนั้น จึงพยายามทำโจทย์และทำความเข้าใจใหม่เรื่อง Tense ต่าง ๆ เป็นช่วงที่กลับมาเริ่มเรียนภาษาอังกฤษใหม่จากเบสิกเลย เพื่อให้เข้าใจทั้งหมดของมันจริง ๆ วิชาภาษาไทย หลัก ๆ แบ่งเป็นหลักภาษากับวรรณคดี คำสมาส สนธิ คำยืมภาษาต่างประเทศ วรรณคดีที่เรียนตอน ม. ต้น ต้องเจอในข้อสอบแน่นอน วิชาสังคมมีทุกหมวดของสังคม หน้าที่พลเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เนื้อหาที่ออกสอบส่วนใหญ่มาจากเนื้อหาตอน ม. ต้นทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจเนื้อหาที่เรียนในโรงเรียน แล้วทำโจทย์บ่อย ๆ ให้ชินแนวข้อสอบ จะช่วยได้มาก ๆ ข้อสอบไม่ได้ไกลจากสิ่งที่เคยเรียนมา
พี่ชอบอ่านหนังสือตอนเช้า พยายามตื่นเช้ามาทำโจทย์ พอเหนื่อยก็พักบ้าง อยากให้ลองทำโจทย์ดูอย่างน้อยสักหนึ่งชุดก่อน เพื่อตรวจสอบตัวเอง ให้รู้ว่าพาร์ตไหนที่เราพลาด แล้วค่อยเน้นอ่านพาร์ตนั้นก่อน ทำความเข้าใจกับเรื่องที่เราไม่เก่งก่อนเยอะ ๆ ส่วนพาร์ตที่เราค่อนข้างมั่นใจและเป็นตัวเก็บคะแนนคือ Reading เพราะเป็นพาร์ตที่มีข้อเยอะมาก ถ้าทำพาร์ตนี้ได้ จะได้คะแนนค่อนข้างดี วิธีที่เราใช้ตลอดตอนทำ Reading คือข้ามไปอ่านคำถามก่อน ให้รู้ว่าคำถามต้องการอะไร แล้วค่อยอ่าน Passage ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด แค่พารากราฟแรกอาจได้คำตอบแล้ว ทำให้ลดระยะเวลาการทำข้อสอบไปได้เยอะมาก ถ้าข้อไหนยังไม่รู้ หรือใช้เวลาคิดข้อนี้นาน ให้ติ๊กหรือวงไว้แล้วกลับมาทำทีหลัง จะได้ไม่เสียเวลา ถ้าถึงข้อที่ต้องเดาคำตอบแล้ว ให้ลองตัดช้อยส์จากสิ่งที่เรารู้ดูก่อน
ถ้าเป็นพาร์ท Vocab แล้วจำศัพท์ไม่ได้ ลองพยายามดูรากของคำ ว่าคำนั้นคล้ายกับคำไหนที่เรารู้จักบ้าง ถ้าต้องเดาก็อยากให้เดาแบบลองคิดดูก่อน ซึ่งจะช่วยให้เปอร์เซ็นต์ตอบถูกมีเยอะขึ้นที่สำคัญที่สุดคือ ทุกครั้งที่ลองทำข้อสอบ แนะนำว่าให้จับเวลาทุกครั้ง
ช่วงนั้นประมาณกลางมกราคม ไปเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษก่อน เพราะรู้ว่าตัวเองอ่อนมาก เรียนทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็นจนจบเดือน ปรากฏว่า...เหนื่อยมากกกก เพราะไม่เคยเรียนหนักขนาดนั้นมาก่อน แต่ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราขยันจริง ๆ ก็ทำได้
ส่วนภาษาไทยกับสังคมเรียนแบบวันเดียวจบในโค้งสุดท้าย แล้วเน้นอ่านเองช่วงเดือนกุมภาพันธ์ การสอบปกติคือประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์พี่ไม่ได้ออกไปเรียน เน้นนั่งทำโจทย์ที่บ้านทุกวัน
ช่วงนั้นในแต่ละวันทำแบบฝึกหัดวิชาละชุดเป็นอย่างต่ำ คะแนนได้น้อยบ้างเยอะบ้างแต่ไม่เครียด เพราะรู้สึกว่าเป็นแค่การฝึกทำโจทย์ เราไม่รู้ว่าของจริงยากง่ายกว่านี้แค่ไหน จึงต้องฝึกทำทั้งชุดที่ยากและชุดที่ง่ายสลับกันไป แต่พอใกล้สอบแบบสองสามวันสุดท้าย พี่อ่านหนังสือน้อยลง เพราะอยากพักสมอง เพื่อให้ไปเจอข้อสอบจริงแล้วจะได้ไม่หนักเกิน จึงแค่เปิดหนังสือทวนสิ่งที่ตัวเองอ่านมา เรียนมา ดูโจทย์ว่าผิดข้อไหน พลาดตรงไหนบ่อย ๆ กับท่องศัพท์ที่ยังจำไม่ได้ซักที เลยท่องแบบรวบรัดเอาเลย ทำ Flashcard ท่องไปให้ได้มากที่สุด วิธีนี้ดีมากสำหรับคนที่อยากจำศัพท์ให้ได้ แต่พี่ว่าจำได้แค่วันสอบ พอสอบเสร็จก็หายไปเหมือนเดิม 55 แต่ยังดีสำหรับตอนนั้น เพราะใกล้เวลามากแล้ว วิธีนี้ช่วยทำให้จำได้จริง ๆ และที่สำคัญทำให้เราเอาตัวรอดได้ในสนามสอบ
พี่เชื่อว่าพวกแกทำเต็มที่ที่สุด ทำดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างที่แกอ่านมา ทำให้แกเก่งขึ้น ไม่ว่าผลออกมาเป็นยังไง ย่อมไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิตแน่นอน เสียใจได้ แต่ต้องสู้ต่อ อยากให้เชื่อมั่นในตัวเองเยอะ ๆ พักได้ อย่าหักโหมเกิน ทำได้แน่นอน
สำหรับน้อง ๆ ที่มี Passion อยากสอบเข้าโรงเรียนในฝัน อย่าสร้างข้อจำกัดเรื่องเวลา รู้เมื่อไหร่ อย่ารอช้า ให้ ททท. ทำทันที! พยายามกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางของคำว่า “เป็นไปไม่ได้”
สร้าง Mindset ให้ตัวเองเลย “เราต้องสอบติด” “เราสอบติดได้แม้ไม่อัจฉริยะ” ฯลฯ ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงเป็นพลังบวกส่งให้เราบินขึ้นไปถึงจุดหมายได้ I can do! ท่องไว้ให้ขึ้นใจ จากนั้น...ลงมือทำ!
เขียนและเรียบเรียง: NEve