วันนี้พี่มดมีเรื่องของคนเก่งระดับโลกมาแบ่งปันกับน้อง ๆ ค่ะ เป็นธรรมดาที่นิยามคำว่า ‘คนเก่ง’ สำหรับเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป บางคนชื่นชมคนเก่งด้านกีฬา อย่างนักฟุตบอลชื่อดังที่ทำเงินได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี หรือพิธีกรโทรทัศน์ที่มีคนชื่นชอบและติดตามผลงานนับล้านคน หรือเชฟระดับมิเชอลินสตาร์ที่พูดชื่อขึ้นมา ใคร ๆ ก็ต้องร้องอ๋อ สำหรับตัวพี่มดเอง พี่มดชื่นชมคนเก่งอยู่ 3 คน ที่ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างที่มา แต่มีเส้นทางชีวิตที่น่าทึ่งพอกัน แม้จะเก่งกันละด้าน แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันก็คือความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ตัวเองรักให้ดีที่สุดนั่นเอง จะเป็นใครกันบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ
เชื่อว่าแทบทุกคนคงรู้จักเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง amazon.com และไม่แน่ว่าอาจจะเป็นลูกค้าของเว็บไซต์นี้ด้วยซ้ำ แต่จะมีสักกี่คนคะที่ทราบว่าใครคือผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ขายของที่มีลูกค้านับล้านทั่วโลก และยังเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ (มหาชน) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน
เจฟ เบโซส ชื่นชอบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก หลังเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีก Princeton University ในปี ค.ศ. 1986 เขาเริ่มอาชีพแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มหุ้นของบริษัทจัดการการลงทุนที่ Wall Street แห่งมหานครนิวยอร์ก ก่อนจะลาออกเพื่อเริ่มธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ปี 1994
ในปีนั้น สถิติผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นถึง 2300% ในขณะที่ร้านค้าออนไลน์ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งหมายถึงว่าเขายังมีคู่แข่งในตลาดน้อย เจฟจึงตัดสินใจพาครอบครัวย้ายจากนิวยอร์ก ข้ามมาปักหลักอีกฝั่งของประเทศคือที่เมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน แล้วเปิดสำนักงานเล็กๆ ขึ้นในโรงรถของบ้านตัวเอง เหตุผลที่เขาเลือกขายหนังสือก็เพราะเป็นสินค้าติดอันดับ Top 20 ของสินค้าที่คนอเมริกันสั่งซื้อทางไปรษณีย์มากที่สุด โดยเขาเริ่มขายหนังสือเล่มแรกทางอินเทอร์เน็ตในเดือนกรกฎาคมปี 1995 และวางเป้าหมายว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้สักวัน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะ เพียงหนึ่งเดือนจากนั้น Amazon ก็ขายหนังสือให้คนอเมริกันทั่วทั้ง 50 รัฐและลูกค้าต่างชาติในอีก 45 ประเทศทั่วโลก! ต้องเรียกว่าเจฟเป็น ‘เด็กวิทย์’ ที่หันมาเอาดีด้านธุรกิจและเริ่มก้าวแรกของการทำกิจการของตัวเองได้อย่างสวยงามเลยทีเดียว
เจฟจดทะเบียนบริษัทเข้าตลาดหุ้นในปี 1997 ณ เวลานั้น มูลค่าหุ้น Amazon สูงกว่ามูลค่าหุ้นของร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาสองร้าน – Barnes and Nobles กับ Borders – รวมกันเสียอีกนะคะ
ปี 1999 นิตยสาร Time ยกย่อให้เขาเป็น “Person of The Year” หรือบุคคลแห่งปี เนื่องจากเขาเป็น ผู้พลิกโฉมการค้าของโลกอย่างสิ้นเชิง ทลายกำแพงพรมแดนระหว่างประเทศลงด้วยการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต
ยี่สิบห้าปีนับจากวันที่เขาก่อตั้ง Amazon เว็บไซต์ค้าปลีกหนังสือออนไลน์ของเขากลายเป็นเว็บไซต์ที่วางขายสินค้ากว่าสามร้อยล้านรายการ ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่ยังมีสินค้าสารพัดประเภท จน Amazon กลายเป็นบริษัท e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังไม่มีใครลบสถิติได้จนปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2021)
อ่านมาถึงตรงนี้ น้อง ๆ อย่าเพิ่งคิดว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จของเจฟช่างเรียบง่ายสวยหรูนะคะ ตอนที่เจฟตัดสินใจลาออกจากงานที่มั่นคงและเงินดีในนิวยอร์กนั้น เขาแต่งงานแล้ว เป็นหัวหน้าครอบครัว และมีภรรยากับลูกที่ต้องดูแล ดังนั้น การเริ่มธุรกิจที่ใหม่มาก ๆ สำหรับโลกเรา ณ เวลานั้นเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงมากพอดูเลยทีเดียว แม้ว่าในปีแรก ๆ ธุรกิจของเขาจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในปี 2000 หรือหลังจากเขาก่อตั้งบริษัทได้เพียงหกปี ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่คือวิกฤติฟองสบู่ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกสั่นสะเทือน บรรดาบริษัทด็อทคอมพ์ล้มกันระเนระนาด การที่ Amazon ประคองตัวจนพ้นวิกฤติมาได้ก็เพราะเจฟตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ลดจำนวนพนักงานลงกว่าพันสามร้อยคนในปี 2001
ที่ออกจะน่าทึ่งคือ แม้จะทำงานหนักเพียงใด แต่เจฟก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพชีวิตและการใช้เวลากับครอบครัวเป็นอย่างมาก เขานอนเต็มอิ่มเสมอ ไม่เคยน้อยกว่าคืนละ 8 ชั่วโมง และเลี่ยงการประชุมตอนเช้าเพื่อจะได้มีเวลากินอาหารเช้าที่อร่อยและมีประโยชน์พร้อมกับได้ใช้เวลาพูดคุยกับภรรยา (ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตภรรยา) และลูก ๆ ทั้งสี่คนไปด้วย
แม้ในที่สุด ชีวิตสมรสของเจฟจะจบลงในปี 2020 แต่เขากับอดีตภรรยาก็ยังเป็นเพื่อนรักของกันและกันและเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกเหมือนเดิม และหากย้อนเวลากลับไปได้ ทั้งคู่บอกว่าพวกเขาก็ยังจะแต่งงานกันอยู่ดีแม้จะรู้ว่าชีวิตคู่จะต้องจบลงในสักวันก็ตาม
เจฟกล่าวไว้ว่าบทเรียนที่เขาได้รับจากชีวิตการทำงานกว่าสามสิบปีของเขานั้นมีอยู่ 5 ข้อ
ข้อแรก เสียใจกับความล้มเหลวย่อมดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ทำ
ข้อสอง ตัดสินใจด้วยหัวใจและสัญชาตญาณ ไม่ใช่จากการวิเคราะห์
ข้อสาม หาอาชีพที่ ‘ใช่’ ให้เจอ อาชีพที่อยากทำจริง ๆ
ข้อสี่ ไม่มีเส้นทางไหนจะพุ่งตรงสู่ความสำเร็จ ยอมให้ความอยากรู้อยากเห็นนำคุณออกนอกลู่นอกทางไปบ้างเพื่อเปิดหูเปิดตาและหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่สามารถนำมาใช้ในการทำงานและพาคุณไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน
ข้อห้า แม้จะเผชิญกับความยากลำบากหรืออุปสรรคใด ๆ จงอย่าสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
น้อง ๆ น่าจะเห็นแล้วว่า ความสำเร็จของเจฟไม่ได้หมายถึงความสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ ไร้ปัญหาหรืออุปสรรคนะคะ แต่เป็นการที่เจฟลงมือทำสิ่งที่เขาต้องการอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และมองเห็นข้อดีของสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว จากก้าวเล็ก ๆ ของการเปิดสำนักงานในโรงรถ ที่สุดเขาก็บรรลุถึง หรือที่จริง ไปได้ไกลกว่าเป้าหมายที่เขาวางไว้ว่าต้องการเป็นเจ้าของร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เสียอีกค่ะ
ชื่อของ รรินทร์ ทองมา อาจไม่คุ้นหูคนหมู่มากสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะน้อง ๆ วัยมัธยม แต่ถ้าเรียกเธอว่า ‘ต้า โอแอนด์บี’ ล่ะก็ สาว ๆ ผู้ชอบสวมใส่และสะสมรองเท้าสวย ๆ สีสันสดใส คงร้องอ๋อกันเป็นแถว ๆ คุณต้าก็เป็น ‘เด็กวิทย์’ อีกคนที่หันเหจากสิ่งที่เรียนมาจับธุรกิจส่วนตัวจนได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจรองเท้าร้อยล้าน แถมรองเท้าที่เธอออกแบบและสั่งผลิตเองนั้นก้าวไปได้ไกลถึงเวทีมิสยูนิเวิร์สเลยทีเดียว! แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เธอก็ผ่านการลองผิดลองถูก ล้มแล้วลุกแล้วล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่มาหลายรอบ
ตอนเรียนสายวิทย์ที่เตรียมอุดมศึกษา คุณต้าค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบเรื่องของวิชาการเท่ากับเรื่องสวย ๆ งาม ๆ และการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนสายการเรียนในระดับอุดมศึกษาโดยสอบเข้าเรียนคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจบปริญญาตรีและทำงานประจำได้ 3 ปี เธอก็ตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง โดยขอเงินทางบ้านไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาแฟชั่นมาร์เก็ตติ้งที่ Istituto Europeo di Design ในอิตาลี เพื่อต่อยอดความรู้ด้านการออกแบบและเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาด เพราะเธอตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีธุรกิจของตัวเองให้ได้ ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกในแง่ที่ทำให้เธอรอบรู้ทั้งฝั่งการออกแบบและฝั่งการทำธุรกิจแฟชั่น แต่ที่เธอไม่เคยทราบก็คือ ทางบ้านได้เสียสละเพื่อเธอเพียงไร
การไปเรียนต่อครั้งนั้น เธอขอเงินพ่อแม่ไป ซึ่งนอกจากท่านจะเอาเงินเก็บทั้งหมดมาส่งให้เธอแล้ว ยังต้องเสียสละส่งเงินเดือนจากการทำงานประจำมาให้ด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงมาก กระทั่งพี่สาวเล่าให้ฟังเมื่อเธอเรียนจบกลับมาว่าพ่อแม่ลำบากแค่ไหน ซึ่งทำให้เธอตกใจและเสียใจมาก ยิ่งพวกท่านอุตส่าห์เสียสละเงินอีกก้อน จำนวนสองแสนบาท มาให้เธอลงทุนทำธุรกิจแรกในชีวิตคือธุรกิจเสื้อผ้าเด็ก แต่ทำได้เพียงหกเดือน ธุรกิจก็ล้มเหลวด้วยความอ่อนประสบการณ์ อีกทั้งตัวเองก็ไม่มีลูกเพราะเป็นสาวโสด จึงไม่เข้าใจความต้องการของพวกแม่ ๆ เธอยิ่งเสียใจ แต่ก็ไม่ท้อ พยายามทำงานหาเงินทุกที่โดยไม่ถือว่าตัวเองเป็นนักเรียนนอก จบปริญญาโท ไม่ว่าไปขายของตลาดนัด เป็นเด็กเสิร์ฟร้านส้มตำ เธอทำมาหมด
ความล้มเหลวจากธุรกิจแรกทำให้เธอตระหนักว่า หากจะจับธุรกิจอีก ควรทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและมีความรู้จริง ๆ เมื่อรวบรวมเงินได้เก้าหมื่นบาท ซึ่งพอจะลงทุนได้อีกครั้ง เธอจึงเลือกทำกระเป๋าโดยตั้งชื่อแบรนด์ว่า Bagbook เหตุผลที่เป็นกระเป๋าเพราะเธอชื่นชอบเรื่องแฟชั่น อีกทั้งชอบใช้และรู้เรื่องกระเป๋าเป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า จึงหาจุดบกพร่องของสินค้าและปรับปรุงคุณภาพการผลิตได้เร็ว
ในเวลานั้น การขายของผ่านทางออนไลน์เพิ่งเริ่มได้รับความนิยม แต่คนส่วนใหญ่จะขายเสื้อผ้า เธอจึงคิดว่าธุรกิจกระเป๋าน่าจะมีโอกาสเติบโต ประมาณว่าเริ่มก่อนได้เปรียบกว่า น่าจะมีโอกาสได้ส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าคนมาทีหลัง นอกจากนี้ กระเป๋าทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องขนาดเหมือนเสื้อผ้าด้วย เรียกว่าเป็นสินค้าประเภท One size fits all และเมื่อยอดขายกระเป๋าเริ่มไปได้สวย ในปี 2012 เมื่อเธออายุเพียง 27 ปี คุณต้าก็เริ่มผลิตรองเท้าตามมา ด้วยความคิดที่ว่ากระเป๋ากับรองเท้าต่างเป็นของใช้หลักสำหรับผู้หญิงเหมือน ๆ กัน โดยเธอใช้แบรนด์ O&B สำหรับสินค้าทั้งสองประเภท
แต่ไม่ใช่ว่าจบข่าวแค่นี้ แล้ว O&B กลายเป็นธุรกิจร้อยล้านในพริบตานะคะ นานทีเดียวกว่าธุรกิจของเธอจะอยู่ตัว และกว่าจะถึงตอนนั้น คุณต้าได้ทุ่มเททำงานสุดกำลัง เรียกว่าในปีแรกหลังเปิดตัว O&B เธอทำเองแทบทุกอย่างยกเว้นถ่ายรูปกับทำบัญชี คือทั้งออกแบบ รับสายลูกค้า ทำสไตลิ่ง ทำกราฟฟิก เปิดเพจเฟซบุ๊กโดยเป็นแอดมิน ยังไม่รวมการไปคุยกับโรงงาน แพ็คของ ส่งของด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น เธอต้องปรับตัวกับการบริหารการเงิน การจัดการสต๊อกสินค้า ฯลฯ ซึ่งใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะค่อย ๆ จับจุดได้ จนทำให้ต้นทุนค่อยลดลงและได้กำไรมากขึ้น (ช่วงแรก บางวันเธอได้กำไรแค่สิบบาท!!!) ยอดขายค่อย ๆ เพิ่มจากห้าแสนบาทในปี 2014 เป็น 34 ล้านบาทในปี 2015 จนแตะหลักร้อยล้านในปีที่สามคือปี 2016 จนปัจจุบัน บริษัทเธอมีพนักงานกว่าสามสิบชีวิต และขยายการขายสินค้าจากออนไลน์มาเป็นออฟไลน์ มีหน้าร้านของตัวเองหลายสาขาเลยทีเดียว
แต่คุณต้าไม่ได้หยุดแค่นั้น ด้วยความที่เธอทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อผลิตกระเป๋ารองเท้า O&B ให้มีคุณภาพดีที่สุดเสมอ และด้วยความที่ตัวเองเรียนจบจากมิลาน ได้เห็นการแข่งขันในตลาดระดับนานาชาติมาแล้ว เธอจึงมุ่งมั่นทำให้แบรนด์ไทยที่เธอสร้างขึ้นเป็นสินค้าที่นานาชาติยอมรับ โดยเสนอตัวไปร่วมงานกับคนดัง ๆ ระดับโลกอย่าง บล็อกเกอร์ชาวอเมริกัน แอมมี่ ซอง เพื่อออกคอลเลคชันรองเท้า O&B ด้วยกันในปี 2017 ทำรองเท้าให้แฟชั่นโชว์ของนักออกแบบแฟชั่นชาวอิตาลี แอนนา เดลโล รุสโซ ที่งานมิลานแฟชั่นวีคในปี 2018 ตามด้วยการออกแบบรองเท้าส้นสูงให้ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2018 ซึ่งงานเหล่านี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ สำหรับวงการแฟชั่นไทย อย่างไรก็ตาม คุณต้าก็ยอมรับว่าไม่ใช่คนดัง ๆ จะอยากร่วมงานกับเธอทุกคน ที่โดนปฏิเสธก็มี แต่เธอถือว่าไม่เสียหายที่จะลอง เพราะเธอก็ยังยึดคติเดิมคือเริ่มก่อนได้เปรียบ และเมื่อมีผู้ตอบรับ ผลที่ได้ก็คุ้มจนเกินคุ้ม
ก็ต้องเรียกว่าผู้หญิงที่ชื่อ รรินทร์ ทองมา คนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมเรื่องความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยถอดใจ กล้าเสี่ยงที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เป็นคนแรก ๆ ฝันไกลและก้าวไปข้างหน้าเสมอ ประการสำคัญ เธอตั้งใจทำสิ่งที่ตนรักให้ดีที่สุดเสมอค่ะ
ขึ้นชื่อว่าซูชิหรือข้าวปั้นญี่ปุ่น คงแทบไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักใช่มั้ยคะ แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อ จิโร่ โอโนะ ก็อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูอีกเช่นกัน เว้นแต่ในหมู่นักชิมที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นเป็นพิเศษ
คุณปู่ชาวญี่ปุ่นวัย 95 ปีท่านนี้ทำอาชีพเดียวมายาวนานกว่า 70 ปี เรียกว่าเกือบทั้งชีวิตเลยทีเดียว และได้รับการขนานนามว่าเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจของวงการซูชิเพราะได้รับการบันทึกชื่อลงในกินเนสส์บุ๊ก (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นพ่อครัวซูชิอายุมากที่สุดในโลกที่ยังคงทำงานอยู่ทุกวันตั้งแต่เช้าตรู่จนร้านปิด ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดเชฟผู้เชี่ยวชาญด้านเอโดะมาเอะ ซูชิ (Edo mae sushi) หรือซูชิต้นตำรับเอโดะที่ยังไม่มีเชฟคนไหนมีฝีมือเทียบได้ ยิ่งไปกว่านั้น ร้านซูกิบายาชิจิโร่ (Sukiyabashi Jiro) ของท่านยังเป็นร้านซูชิแห่งแรกที่ได้รับมิชลินสามดาวอีกด้วย
ครอบครัวของคุณปู่ยากจน อายุเพียง 7 ขวบ ท่านก็ต้องดิ้นรนแอบทำงานในร้านเหล้าหลังเลิกเรียนจนดึกดื่นเพื่อส่งตัวเองเรียนหนังสือ ยิ่งแม่ขู่บ่อย ๆ ว่าต่อไปนี้จะไม่มีบ้านให้กลับแล้ว หมายถึงว่าครอบครัวยากจนจนอาจไม่มีบ้านอยู่ ท่านยิ่งดิ้นรนทำงานเพื่อเอาตัวรอด ความที่ทำงานหนัก จึงหลับในห้องเรียนจนโดนคุณครูทำโทษบ่อย ๆ แต่ประสบการณ์ยากลำบากเหล่านี้ทำให้ท่านกลายเป็นคนที่เข้มแข็งอดทน และเริ่มมีใจรักการทำอาหาร โดยเริ่มเรียนการทำซูชิจากเชฟในร้านนั่นเอง
เมื่อแรกเปิดร้านซูชิ คุณปู่จิโร่ไม่ได้เปิดเพราะใจรักเสียทีเดียว แต่เพราะคิดว่าร้านซูชิต้นทุนต่ำ กระนั้น ท่านก็ต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาเปิดร้าน ช่วงแรก ร้านซูชิเล็ก ๆ ที่คนทำฝีมือแสนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่สนใจของผู้คนมากนัก แต่เพราะคุณปู่คิดว่า เมื่อได้เลือกอาชีพแล้วก็ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่กับอาชีพของตน ท่านจึงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพซูชิที่ทำให้ดีที่สุด เลือกใช้แต่ของที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ โดยเป็นคนไปจ่ายตลาดเองทุกเช้าตลอดเวลาหลายสิบปี (จนอายุ 70 ปีถึงได้ยอมวางมือ โดยมอบหมายให้ลูกชายคนโตรับหน้าที่แทน) ด้วยเหตุนี้จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกพ่อค้า จนมีร้านประจำที่เก็บของคุณภาพดีที่สุดไว้ให้คุณปู่เสมอแม้จะได้เงินน้อยกว่าขายให้คนอื่นก็ตามที ส่วนการทำซูชิ คุณปู่เน้นความสะอาดและค่อย ๆ ลองผิดลองถูกด้วยตนเองเพื่อพัฒนารสชาติ ไม่ว่าจะเป็นการหุงข้าวที่เลือกแล้วว่าเป็นพันธุ์ดีที่สุดด้วยหม้อความดันสูง และนำข้าวที่หุงเสร็จไปเก็บในภาชนะควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ข้าวคงรสชาติดีที่สุดได้จนถึงตอนเสิร์ฟให้ลูกค้า หรือการนวดปลาหมึกด้วยมือนานถึง 45 นาทีเพื่อให้ปลาหมึกนุ่มอร่อย เป็นต้น เรียกว่าท่านพยายามดึงคุณภาพที่ดีที่สุดของวัตถุดิบทุกชนิดออกมาให้ได้และเก็บรักษาไว้จนถึงเวลาที่ลูกค้ารับประทานนั่นเองค่ะ ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าจึงเริ่มบอกเล่ากันปากต่อปากถึงความอร่อยของซูชิร้านคุณปู่ จนร้านของท่านมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ
ร้านของคุณปู่จิโร่เป็นร้านเล็ก ๆ 10 ที่นั่ง มีเพียงแห่งเดียว ไม่ขยายสาขาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเกรงว่าจะดูแลคุณภาพไม่ทั่วถึง และขายแต่ซูชิ ไม่ขายอย่างอื่นเลยแม้แต่สาเกหรือเครื่องดื่มมึนเมาทั้งหลาย เพราะท่านอยากให้ลูกค้าที่มา มาเพื่อลิ้มรสซูชิชั้นเลิศเพียงอย่างเดียว และเพราะท่านอยากมุ่งมั่นพัฒนาซูชิของท่านให้ดีที่สุดจนไม่อยากไปทำอย่างอื่นเพิ่มเติม
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ลูกค้าต้องกลับมาที่ร้านซูชิเล็ก ๆ แห่งนี้อีกก็คือการเอาใจใส่ลูกค้าค่ะ ท่านสังเกตแม้แต่เรื่องที่ลูกค้าถนัดมือไหนเพื่อจะได้เสิร์ฟซูชิให้ลูกค้าหยิบกินได้สะดวกที่สุด หากลูกค้าผู้หญิงก็จะปั้นซูชิคำเล็กลงหน่อยเพื่อให้กินง่าย หากลูกค้าคุยกันเพลิน ก็จะนำซูชิไปเปลี่ยนเป็นชิ้นที่ทำใหม่ ๆ ให้โดยไม่คิดเงินเพิ่ม และไม่เร่งเสิร์ฟจนลูกค้ากินไม่ทัน ฯลฯ
และแม้คุณปู่จะเป็นคนโบราณ ท่านก็ให้ความสำคัญกับทีมเวิร์กเป็นอย่างมาก โดยบอกว่า งาน 95% ของซูชิเสร็จมาก่อนจะถึงมือท่าน แต่กว่าที่ท่านจะมายืนอยู่ต่อหน้าลูกค้าได้อย่างเต็มภาคภูมิในฐานะเจ้าของร้าน ตัวท่านเองก็ผ่านการเคี่ยวกรำงาน 95% เหล่านั้นมาก่อน ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่ทำงานให้ท่านจึงต้องผ่านการเคี่ยวกรำไม่น้อยไปกว่ากัน โดยคุณปู่สอนเคล็ดลับการทำอาหารให้พนักงานแบบฟรี ๆ แต่ต้องแลกด้วยการฝึกอย่างหนักเพื่อจุดหมายเดียวกันคือทำซูชิที่ดีที่สุดให้ลูกค้า
คุณปู่สอนลูก ๆ เสมอว่า ความสำเร็จไม่มีทางลัด และให้พัฒนาไปเรื่อย ๆ มองไปข้างหน้าเสมอ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบหรือไร้ที่ติ เพราะทุกอย่างต้องพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ให้ดีขึ้นเสมอในทุก ๆ วัน
จนทุกวันนี้ คุณปู่จิโร่ โอโนะยังคงตื่นตีห้าไปทำงานที่ร้านทุกวัน และทำยาวไปจนหลังสี่ทุ่มที่เป็นเวลาปิดร้าน ท่านมีความสุขกับงานมากและบอกว่าไม่เคยคิดถึงวันเกษียณเลยค่ะ
ไม่ผิดอะไรที่คนเราจะอยากฝันให้ไกลและพยายามสุดกำลังที่จะไปให้ถึง แต่แม้ว่าในอนาคต น้อง ๆ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จถึงในระดับนานาชาติอย่างบุคคลต้นแบบเหล่านี้ การที่เราได้เลือกทำสิ่งที่ตนเองรักอย่างทุ่มเท จริงจัง และมีความสุข ก็น่าจะเป็นความสำเร็จที่เกินพอแล้ว จริงมั้ยคะ
มาเริ่มทำความรู้จักตัวเองตั้งแต่วันนี้ แล้วค่อย ๆ วางแผนชีวิตอย่างรอบคอบ เพื่อสักวันเราจะได้ทำสิ่งที่เรารักให้ประสบความสำเร็จในแบบของเรานะคะ
โดย พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุล
อ้างอิง
ประวัติ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com เจ้าพ่อ Ecommerce มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก
https://www.blueoclock.com/jeff-bezos-story/
Amazon รักร้าว ผู้ก่อตั้งหย่าภรรยาลดสถานะเป็นหุ้นส่วน
https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9620000003216
เคล็ดลับความสำเร็จของ Amazon
https://getlinks.com/blog/ความสำเร็จของamazon/
Amazon (บริษัท)
https://hmong.in.th/wiki/Amazon.com
Jeff Bezos, American entrepreneur
https://www.britannica.com/biography/Jeff-Bezos
ถอด ‘5 บทเรียน’ ความสำเร็จของ ‘เจฟฟ์ เบโซส์’ จากประสบการณ์ 27 ปี ในฐานะ CEO ของ Amazon
https://thestandard.co/5-lessons-of-jeff-bezos-as-amazon-ceo/
ต่างนิสัย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
O&B รองเท้าร้อยล้าน
https://www.longtunman.com/4175
‘ต้า รรินทร์’ เจ้าของ O&B แบรนด์รองเท้า ‘ร้อยล้าน’ ที่ NICKY HILTON ยังเคยสวมใส่
รรินทร์ ทองมา ผู้ปั้น O&B แบรนด์รองเท้าร้อยล้านจากความดื้อ
https://thepeople.co/rarin-thongma-founder-of-o-and-b/
ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง รรินทร์ ทองมา
https://www.posttoday.com/ent/celeb/515986
“วินัย อดทน คนที่ใช่” เปิดสูตรรองเท้าออนไลน์ร้อยล้านของ”ต้า O&B”
https://www.asianmoneyguide.com/ต้า-รรินทร์-ob
เปิดตัว “ต้า รรินทร์” ผู้ดีไซน์รองเท้ามิสยูนิเวิร์ส อดีตเด็กนิสัยไม่ดีขายส้มตำ สู่เจ้าของแบรนด์ร้อยล้าน
https://mgronline.com/entertainment/detail/9610000121212
ซูชิ จิโร่ สตีฟ จ็อบส์แห่งวงการซูชิ ตำนานที่ไม่ได้เริ่มต้นจาก passion
https://www.blockdit.com/posts/5e3ed577fdc4900cadbb5ca7
“อิคิไก” ในการทำงาน & การใช้ชีวิต
https://www.careervisaassessment.com/ikigai/
โอโนะ จิโร่: ปรมาจารย์ชั้นครู เทพเจ้าแห่งวงการซูชิญี่ปุ่น
https://thepeople.co/%E0%B9%88ono-jiro-japan-chef-sushi-sukiyabashi-jiro/
Nihon Stories: Sukibayashi Jiro และชายที่ถูกขนานนามว่า ‘ปรมาจารย์ซูชิที่ไม่มีใครเทียบชั้น’
https://www.unlockmen.com/nihon-stories-sukiyabashi-jiro-ono-sushi/
Jiro Dreams of Sushi – บทเรียนล้ำค่า จากผู้ที่ทำอาชีพนี้ อาชีพเดียว มายาวนานกว่า 70 ปี
https://thepractical.co/jiro-dreams-of-sushi-บทเรียนล้ำค่า-จากผู้/