สวัสดีเดอะแก๊ง วัยรุ่นอย่างพวกเราโชคดีนะที่ได้เป็น “พลเมืองดิจิทัลในศตวรรษที่ 21” ยุคนี้มีศัพท์ใหม่ ๆ ให้เรียนรู้เยอะเลย คำภาษาอังกฤษยอดฮิตคำหนึ่งที่ได้ยินจนคุ้นหูคือ Digital Literacy เด็กฉลาด Smart Kids ไม่รู้ไม่ด้ายยย เจ้าดิจิทัลลิทเทอเรซีนี้ภาษาไทยเราใช้ว่า “การรู้เท่าทันดิจิทัล” เออนะ แล้วทำไมเราต้องรู้เท่าทันมันด้วยล่ะ เหตุผลคือสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์เดินทางได้รวดเร็วกว่าแสง ฉับไวไร้พรมแดน กว้างไกลไร้ลิมิตชนิดยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ เราจึงต้องรู้เท่าทัน และการจะรู้เท่าทันได้ต้องมีความเข้าใจและความฉลาดทางดิจิทัลทั้งในด้านสังคม อารมณ์ และการรับรู้ ให้สมกับเป็นเด็กที่รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี
สมาชิกของโลกออนไลน์ทุกคนจะมีการรู้เท่าทันดิจิทัลได้ ต้องมีการพัฒนาทักษะหลายด้าน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยอย่างดีให้เราปลอดภัยจากอันตราย ในการเดินทางท่องเที่ยวสำรวจโลกดิจิทัลที่มีความหลากหลาย ทักษะที่ช่วยในการรู้เท่าทันดิจิทัลคือ
ทักษะนี้ต้องอาศัยสติ + ปัญญาเพื่อทำความเข้าใจสื่อดิจิทัลที่มีอยู่หลายช่องทาง มีความรับผิดชอบในการใช้เครื่องมือคือสมาร์ทโฟนของรักของหวงของเรา และใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม รู้วิธีการค้นหาแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่เชื่อถือได้ เพราะทุกอย่างที่พวกเราเห็นและอ่านทางออนไลน์ ไม่เป็นความจริงเสมอไป เราต้องสร้างข้อมูลออนไลน์ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม สามารถปรับตัวให้เข้าอยู่ในสังคมออนไลน์ เล่น เรียนรู้ และทำงานได้อย่างมั่นใจและเป็นปรกติสุข ไม่ใช่แค่การรู้วิธีถ่ายเซลฟี่หรืออัปเดตเฟซบุ๊กเท่านั้น
ทักษะนี้ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะการกระทำในสื่อดิจิทัล เด็ก Gen Z อย่างเราต้องไม่ทิ้งร่องรอยที่ไม่ดีไว้เบื้องหลังในโลกโซเชียล เพราะข้อมูลลบที่สื่อถึงตัวเราในฐานะผู้ใช้งานจะอยู่ติดไปชั่วกาลนาน และจะเป็นอันตรายแก่เราในอนาคต ไม่กลั่นแกล้ง ไม่แจ้งข่าวปลอม ไม่สร้างความเกลียดชัง เราต้องเรียนรู้การสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในทางบวก มีมารยาทที่ดีในการรับและการส่งต่อข้อมูลอย่างฉลาดและระมัดระวัง การพูดคุยเกี่ยวกับความหมายของดิจิทัลลิทเทอเรซีกับพ่อแม่ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ จะช่วยให้เข้าใจโลกดิจิทัลได้อย่างง่าย ๆ และชัดเจน และสามารถใช้เทคโนโลยีออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโลกได้ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยยิ่งขึ้น
ทักษะนี้ต้องใช้การอ่านและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การอ่านในที่นี้คือการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เป็นการศึกษาโลกแห่งความเป็นจริง จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยคิงส์ตัน สหราชอาณาจักร บอกว่า ประโยชน์ที่จะได้รับคือ ช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของอารมณ์ต่าง ๆ ของผู้อื่น รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีมากขึ้น การอ่านหนังสือสม่ำเสมอและหลากหลายแนว จะทำให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และมีความมั่นใจในการใช้คำเหล่านั้น เป็นการพัฒนาการสื่อสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คนชอบอ่านหนังสือจะมีความอดทน เพราะเราหาหนังสือเล่มโปรดมาอ่านด้วยตัวเอง เปิดอ่านไปทีละหน้า ๆ จนจบด้วยความรักความสุขและจิตใจสงบนิ่ง ลดความเครียด ความวิตกกังวล และความไม่สบายใจได้ ทำให้นอนหลับสนิทยิ่งกว่าการเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอน เพราะการสไลด์นิ้วบนหน้าจอเล็ก ๆ ซึ่งเป็นโลกเสมือน ทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงเร็วมากและเยอะเกินสำหรับสมอง แต่ถึงอย่างไรการศึกษาโลกสองใบควบคู่กันไปเป็นสิ่ง จำเป็นสำหรับพลเมืองดิจิทัลอยู่ดี จะได้รู้จักการคิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับเรื่องราวที่กำลังติดตามกันอยู่
ทักษะนี้ต้องใช้การศึกษาในเรื่องข้อจำกัดของอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ เพื่อที่พวกเราจะได้รอดพ้นจากความเสี่ยงจากภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น การถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต การพูดคุยกับผู้ใหญ่ การเก็บหลักฐาน และการหลีกเลี่ยงการตอบโต้ทางออนไลน์ เราต้องเรียนรู้เรื่องการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น รู้ว่าข้อมูลใดควรเผยแพร่และไม่ควรเผยแพร่
ทักษะนี้ต้องใช้การควบคุมตนเอง หรือการจัดแบ่งเวลาตามที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเรากำหนดไว้ให้ และเราต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพของตัวเอง การอยู่กับหน้าจอมากเกินไปก่อให้เกิดความเครียด สมองไม่ผ่อนคลายจากการได้รับข้อมูลเยอะเกิน อาการเจ็บป่วยทางกล้ามเนื้อเนื่องจากร่างกายขาดการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมตามวัย การเป็นไข้ปวดหัว ปวดตา และนอนไม่หลับ อาจเกิดขึ้นกับพวกเราได้
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับ Gen Z ให้รู้เท่าทันดิจิทัล เพื่อพวกเราชาว Smart Kids จะได้เป็นพลเมืองดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์แบบ
ณัณท์
ข้อมูลอ้างอิง
https://eltlearningjourneys.com/2021/04/13/how-to-develop-digital-literacy-in-our-teens/