เด็ก ม. 3 ในวันนี้ จะทำอาชีพอะไรดีในวันหน้า? น้อง ๆ เคยถามคำถามนี้กับตัวเองบ้างหรือยังคะ
น้องบางคนอาจมีอาชีพที่ใฝ่ฝันอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่น้องอีกหลายคนยังงง ๆ ว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนยังไงดีหนอ ขอแค่เลือกแผนการเรียน ม. ปลายให้ได้ก่อนดีไหม เรื่องอื่นไว้ค่อยว่ากัน ฯลฯ
หากมีน้องคนไหนยังตัดสินใจเลือกอาชีพไม่ได้ หรือยังไม่ได้คิดเรื่องอาชีพเลย ก็อย่าเพิ่งตกใจ วันนี้พี่มดมีไอเดียเกี่ยวกับอาชีพที่ทำท่าว่าจะมาแรงแซงโค้งในสิบปีข้างหน้ามาฝากกันค่ะ แน่ะ กำลังคิดว่าพี่มดมองไกลไปล่ะสิ แต่ถ้าคิดให้ดี ถ้าน้อง ๆ มีเวลาเตรียมพร้อมเพื่ออยู่ในสายงานของอาชีพเหล่านี้ถึงสิบปี โอกาสที่จะประสบความสำเร็จย่อมมีมากเป็นธรรมดานะค้า เราต้องคิดว่า รู้ก่อน เตรียมพร้อมก่อน ย่อมรุ่งกว่าแน่นอน พี่มดขอแบ่งหมวดอาชีพมาแรงดังต่อไปนี้ค่ะ
โลกยังต้องรับมือกับ ‘สงครามโรค’ อยู่อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่โรคภัยไข้เจ็บทั้งอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นอีกน่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลกจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โรคร้ายแรงโดยเฉพาะสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ล้วนมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมหนีไม่พ้นอาชีพเหล่านี้
• แพทย์
• พยาบาล / พยาบาลเวชปฏิบัติ / พยาบาลเฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคเบื้องต้น
• เภสัชกร
• ทันตแพทย์
• นักเทคนิคการแพทย์
• นักรังสีการแพทย์
• นักกายภาพบำบัด
• ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด
• ผู้ดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน
• บุคลากรผู้มีหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในด้านอื่น ๆ
การที่ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่โดดเด่นในอาเซียน และนิตยสาร International Living ได้จัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 11 ของโลกและอันดับที่ 1 ของเอเชียที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุประจำปี 2565 (The World’s Best Places to Retire in 2022) จึงน่าจะทำให้บ้านเมืองของเราเป็นจุดหมายของผู้สูงอายุ ไม่เพียงจากกลุ่มประเทศอาเซียน แต่จากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเขตหนาวที่ค่าครองชีพสูงอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่จะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบสุข ใช้เงินบำนาญได้อย่างสบายใจในประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่าบ้านเมืองตนเองหลายเท่า ซ้ำยังอากาศไม่หนาวจัด มีแดดตลอดปี หากเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็มีโรงพยาบาลเอกชนและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพกระจายอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ของไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วมากก่อนชะลอตัวลงในช่วงสถานการณ์โควิด และมีการคาดคะเนว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในเวลาไม่นาน เพราะเมื่อทุกอย่างคืนสู่สภาพปรกติ จำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งเก่าและใหม่น่าจะหลั่งไหลเข้าประเทศไทยและสร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปี
พี่มดจึงอยากแนะนำน้อง ๆ ที่มุ่งจะเรียนเพื่อเป็นบุคลากรทางการแพทย์ว่า นอกจากวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาหลักในการสอบเข้าเรียนคณะเหล่านี้ น้องยังควรตั้งใจเรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษด้วย ข้อแรก เพราะตำราของคณะที่กล่าวมาเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด หากน้องไม่เก่งอังกฤษ ไม่ต้องคิดไปไกลถึงอาชีพค่ะ เพราะแค่จะเรียนให้จบก็ลำบากแล้ว! ข้อสอง บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษย่อมได้เปรียบในการทำงานกับคนไข้ต่างชาติ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องสื่อสารกับคนไข้โดยตรง พูดเชิงธุรกิจให้เข้าใจง่าย ๆ คือกลุ่มลูกค้าจะยิ่งกว้างขึ้น และโอกาสผิดพลาดในการสื่อสารกับคนไข้ต่างชาติย่อมน้อยลงด้วย
เพราะอย่างนี้ จึงมีอีกหลายอาชีพที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่น่าจะปังมาก ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น
• วิศวกรคอมพิวเตอร์ – คอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่แล้วในปัจจุบัน และจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่ต้องหันมาใช้ชีวิตวิถีใหม่ ทำให้มีกิจการมากมายหลายประเภทหันมาใช้นโยบาย work from home และพึ่งพาการสื่อสารออนไลน์เป็นหลัก การพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ จึงน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบใหญ่ไม่หยุดยั้ง
• วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ – เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) มีแนวโน้มจะมาแทนที่อาชีพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ พนักงานขายทางโทรศัพท์ พนักงานส่งของ แคชเชียร์ เสมียนทำบัญชี ฯลฯ ในอนาคต วิศวกร AI จึงน่าจะมีงานล้นมือกันเลยล่ะค่ะ
• นักพัฒนาแอปพลิเคชัน – การที่คนเราเริ่มชินกับการใช้ชีวิตในบ้านมากกว่านอกบ้าน การทำธุรกรรมและการดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท หรือแม้แต่กิจวัตรอย่างการซื้อของกินของใช้ ก็ดำเนินการผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตไม่ว่าทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้นทุกที นักพัฒนาแอปพลิเคชันจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าจะทำเงินมาก ๆ ในโลกอนาคต
• นักพัฒนา VR และ AR – เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality ตัวย่อคือ VR) และเทคโนโลยีการผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง (Augmented Reality ตัวย่อคือ AR) ในโลกอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างแพร่หลายในทุกสาขาวิชาชีพ ไม่เพียงในการสร้างหรือพัฒนาเกมออนไลน์อย่างปัจจุบัน แต่ต้องเรียกว่าใช้ในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวันก็ว่าได้ น้อง ๆ ที่มีหัวด้านคอมพิวเตอร์และมีความสนใจเทคโนโลยีประเภทนี้จึงน่าจะพิจารณาอาชีพนี้ไว้ลำดับต้น ๆ เพราะดูท่าจะเป็นอาชีพฮ็อตฮิตที่เงินดีอีกหนึ่งอาชีพเลยนะคะ
• นักคณิตศาสตร์และนักสถิติ (Mathematician and Statistician) ทำงานโดยใช้ทฤษฎีคณิตศาสตร์และการพิสูจน์ พัฒนาระเบียบวิธีทางสถิติ นอกจากนี้ยังทำการสำรวจและตรวจสอบควบคุมการทดลองต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงสถิติ สำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการองค์กรต่อไป
• นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Scientist) มีหน้าที่บริหารจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม จัดเก็บ ตรวจสอบ วิเคราะห์ วิจัย และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่ความรู้ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เช่น ใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการดำเนินงาน ใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ ใช้วางแผนการตลาดและทิศทางขององค์กรในอนาคต เป็นต้น
• นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล (Information Security Analyst) ธุรกรรมการเงินออนไลน์กลายเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน อาชีพนี้จึงน่าจะเกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการเก็บรักษาข้อมูลสำคัญของผู้ใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
เด็กรุ่นใหม่ถือเป็นเด็กยุคดิจิทัลที่แทบจะเกิดมากับโลกออนไลน์เลยก็ว่าได้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) พบว่า Gen Z ทุบสถิติเป็นปีแรกที่คว้าสถิติใช้อินเทอร์เน็ตนานที่สุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที ชนะ Gen Y แชมป์ 6 สมัย สำหรับกิจกรรมออนไลน์ที่กลุ่ม Gen Z ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ เรียนออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง 23 นาที รองลงมาคือ ดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 11 นาที และติดต่อสื่อสารออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 39 นาที ตามลำดับ
ที่น่าห่วงคือสถิตินี้มีทีท่าจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และหากมาดูผลลัพธ์จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นว่าแสงจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นให้ผู้ใช้รู้สึกตื่นตัวและยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งส่งผลเรานอนหลับไม่สนิท รวมไปถึงจะมีสมรรถภาพการทำงานที่แย่ลงและอารมณ์เสียได้ง่ายขึ้นในระหว่างวัน ปฏิสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์แย่ลง ด้วยเหตุนี้ อีกหนึ่งอาชีพที่จะเป็นอาชีพเกิดใหม่และน่าจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากก็คืออาชีพ Digital detox therapist หรือนักบำบัดการติดดิจิทัลค่ะ
การบำบัดนี้สามารถทำได้ในหลายทางด้วยกัน ไม่ว่าการให้ผู้มีอาการติดดิจิทัลหันมาจัดระเบียบและสร้างสมดุลชีวิตตัวเองเสียใหม่ ตัดขาดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว เข้าหาธรรมชาติ ฝึกโยคะ นั่งสมาธิ ฯลฯ ซึ่งตลอดโปรแกรมการบำบัดต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลโดยตลอด ซึ่งพี่มดเชื่อว่าอีกไม่นาน น่าจะมีสาขาวิชานี้เปิดสอนโดยเฉพาะอย่างแน่นอน ถือเป็นทางเลือกในการเรียนที่น่าสนใจอย่างยิ่งเลยค่ะ
แม้ว่าประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจะครองตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีของโลกมาเนิ่นนานนับศตวรรษจากการค้าน้ำมัน แต่การที่ไม่มีใครรู้แน่ว่าน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกจะหมดลงวันไหน จึงทำให้โลกเรามุ่งความสนใจไปที่พลังงานทดแทน ซึ่งแหล่งพลังงานทดแทนที่ดูยิ่งใหญ่จนนึกไม่ออกว่าจะหมดลงเมื่อไหร่และหมดลงได้อย่างไร ได้แก่แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์นั่นเอง และเป็นไปได้ว่า หากน้ำมันหมดโลกในสักวัน พลังงานแสงอาทิตย์อาจกลายมาเป็นพลังงานหลักของโลกแทน
อาชีพในหมวดนี้ที่น่าจะมาแรงไม่แพ้หมวดอื่นจึงได้แก่
• ผู้ผลิตและติดตั้งบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (แผงเซลล์สุริยะหรือแผงแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า)
• วิศวกรบริหารจัดการขยะโซลาร์เซลล์หมดอายุ ซึ่งถือเป็นขยะพิษ!! เช่น การควบคุมการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุในญี่ปุ่นและประเทศแถบยุโรป
วิศวกรสิ่งแวดล้อมในสายบริหารจัดการขยะ อาชีพนี้เกิดขึ้นได้ด้วยภาวะขยะท่วมท้นล้นโลก ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการมากมายในการลดขยะและจัดการกับขยะหมุนเวียน/ขยะพิษ มีมาตรการ ‘แปลงขยะให้เป็นสินทรัพย์’ ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่ประชาชนสร้างขยะถึงคนละกว่าหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน หรือยี่สิบแปดล้านตันต่อปี แต่นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึงสิบตันต่อปี (ไม่ถึงหนึ่งในสาม) นโยบายหลัก ณ เวลานี้ ของทั้งภาครัฐและเอกชนคือมุ่งให้ความรู้และขอความร่วมมือจากประชาชนในการคัดแยกขยะ เพื่อจะนำขยะบางประเภทไปแปรรูป เช่น นำขยะพลาสติกไปสร้างถนน นำเสื้อผ้าเก่าไปแปรสภาพเป็นเสื้อผ้าใหม่ นำขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์อทำปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงดิน ทำน้ำหมักชีวภาพ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ มีการคาดการณ์ถึงในอีกสิบปีข้างหน้าที่เทคโนโลยีจะยิ่งก้าวหน้าและมีหนทางบริหารจัดการขยะหลากหลายขึ้น อัตราการแปลงขยะเป็นสินทรัพย์ทั่วโลกย่อมสูงขึ้น จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่วิศวกรสายนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันมีการนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนมาใช้ประโยชน์ในหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวจากมุมสูง ใช้ขนส่งสินค้า ใช้ในการเกษตรเพื่อฉีดปุ๋ยให้พืช ใช้ตรวจสภาพจราจร เก็บข้อมูลภูมิศาสตร์ ใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ยานพาหนะทั่วไปเข้าถึงยาก และคาดว่าการใช้โดรนจะแพร่หลายจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ดังนั้น อาชีพที่น่าจะเกิดตามมาก็คือ
• ผู้บริหารจัดการเส้นทางจราจรของโดรน (ดูแลภาพรวม)
• ผู้ดูแลควบคุมการทำงานของโดรน (ดูแลโดรนแต่ละเครื่อง)
ถึงแม้ทุกวันนี้สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrencies) ยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย แต่ก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และเป็นไปได้ว่าต่อไปจะกลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่กฎหมายของนานาประเทศยอมรับ ผู้ที่ศึกษาเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซีอย่างจริงจังในทศวรรษนี้ จึงน่าจะได้ประโยชน์อย่างสูงในอนาคตในฐานะผู้ประกอบอาชีพเกิดใหม่อย่างที่ปรึกษาสกุลเงินดิจิทัล เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความเชี่ยวชาญในการดูแลความปลอดภัยและการบริหารจัดการบัญชีสกุลเงินดังกล่าว สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้คนที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบนี้ได้ไม่ผิดไปจากบรรดาโบรกเกอร์หุ้นหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันเลยทีเดียว
อีกสิบปีข้างหน้า การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศน่าจะยิ่งสะดวกสบายขึ้น และไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยจักรวาลก็น่าจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว อาชีพสุดท้ายที่พี่มดจะพูดถึงในบทความนี้และน่าจะเป็นอาชีพที่ ‘ต๊าซ’ ที่สุด จึงได้แก่อาชีพมัคคุเทศก์หรือไกด์นำเที่ยวอวกาศนั่นเองค่ะ! แค่นึกก็น่าตื่นเต้นแล้วใช่มั้ยล่ะคะ!!
ในยุคที่โลกแคบลง ผู้คนเดินทางข้ามประเทศข้ามทวีปกันเป็นว่าเล่น และการท่องอวกาศจะไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่แต่ในจอภาพยนตร์อีกต่อไป หากน้องคนไหนอยากมีโอกาสได้นำลูกทัวร์ระดับเศรษฐีมหาเศรษฐีออกท่องเที่ยวไปในยานอวกาศ สิ่งที่จำเป็นต้องเป๊ะอย่างยิ่งคือทักษะด้านภาษา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ภาษาอังกฤษภาษาเดียว แต่ภาษาที่มีผู้คนใช้กันทั่วโลกอย่างภาษาจีน อันเป็นภาษาของประเทศยักษ์ใหญ่ฝ่ายเอเชียที่ปัจจุบันยิ่งใหญ่ในเวทีโลกทั้งด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และการเมืองไม่แพ้สหรัฐอเมริกา ภาษาญี่ปุ่นและภาษารัสเซียที่เป็นภาษาของประเทศแถวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ ก็น่าจะต้องเป๊ะไม่แพ้กัน นอกเหนือจากนั้น ความรู้รอบตัวโดยเฉพาะเรื่องของโลก เทคโนโลยีด้านอวกาศ และดาวเคราะห์กับดาวบริวารในระบบสุริยะก็ต้องแตกฉานเลยทีเดียว
สำหรับเด็กไทยที่ฝันไกลอย่างท่องอวกาศ หากเตรียมวางแผนระยะยาวทั้งเรื่องฝึกภาษาและเรื่องการเรียนต่อและหรือทำงานในประเทศยักษ์ใหญ่ที่กล่าวมาก็น่าจะเป็นก้าวแรกของการเดินทางสู่อาชีพในฝันอย่างไกด์นำเที่ยวอวกาศสำหรับน้อง ๆ ค่ะ
ไม่ว่าน้อง ๆ จะฝันทำอาชีพอะไร ขอเพียงเรามุ่งมั่น เพียรพยายาม และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ก็เชื่อว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอนค่ะ
โดย พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์
อ้างอิง
เปิด 10 อาชีพมาแรงและรายได้ดีในอีกสิบปีข้างหน้า https://missiontothemoon.co/softskill-10-jobs-of-the-next-decade/
รวบรวมกว่า 9 อาชีพมาแรงในอนาคต! https://lineshoppingseller.com/market-trend/9-professions-career-in-the-future
อาชีพไหนจะหายไป อาชีพอะไรกำลังมา? : สำรวจเทรนด์อาชีพมาแรงปี 2030
16 อาชีพน่าสนใจ และเป็นที่ต้องการในโลกอนาคต http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/89354
10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2563-65: ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน
10 อาชีพที่ AI มีโอกาสเข้ามาทำงานแทนได้ในอนาคต
นักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางข้อมูล
เปิดโผทางเลือก ‘ท่องอวกาศเชิงพาณิชย์’ ประสบการณ์ใหม่สำหรับคนกระเป๋าหนัก
"บ้านผู้สูงอายุ" แววดี! เจาะโอกาสชิงเค้กหมุดหมาย "ต่างชาติวัยเกษียณ"
เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง! มอง Waste ให้เป็น Wealth
วิธีจัดการขยะเศษอาหาร ที่ดีต่อใจ ดีต่อเรา ดีต่อโลก
AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง
นักพัฒนาเกม AR/VR
อาชีพที่น่าสนใจ 10 อาชีพที่ตลาดต้องการในอนาคต
บทสรุป "ภาษีคริปโตฯ" นักเทรดต้องรู้ ได้ “กำไร" จากการเทรด “เสียภาษี” อย่างไร
Cryptocurrency คืออะไร? ทำความเข้าใจง่ายๆ ฉบับนักลงทุนมือใหม่