Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ติดเกมอย่างไร ให้ชีวิตประสบความสำเร็จ

  Favorite

          Smart Kids อย่างพวกเราคงไม่อยากให้ใครมาตำหนิว่า สอบตกหรือติด มผ. เพราะเอาแต่เล่นเกม ติดเกมจนถอนตัวไม่ขึ้น ขี้เกียจ ไม่รักเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือและทำการบ้าน เป็นเด็กเกเร นิสัยไม่ดี ก้าวร้าว รุนแรง หัวร้อน ทะเลาะกับพ่อแม่ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นเด็กเจ้าปัญหา ใช้คำหยาบเกินช่วงวัย ใช้เงินเกินตัวกับเรื่องเกม มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เนื่องจากสายตาจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป สมองรับข้อมูลที่มากเกิน ไม่กินไม่นอนไม่พักผ่อนตามวัย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโทษสมบัติจากการติดเกมที่ไม่เหมาะสม และจากการคร่ำเคร่งเล่นเกมอย่างต่อเนื่อง 

          ความจริงแล้วเกมสร้างสรรค์ที่วัยทีนชอบเล่น จะให้ความสนุก ช่วยเยียวยาหัวใจไกลความเครียด เป็นเพื่อนแก้เหงาในยามที่ต้องเก็บกักตัวอยู่กับบ้าน และต้องเรียนหนังสือออนไลน์ซึ่งทำให้ไม่ได้พบเพื่อนตัวเป็น ๆ อีกทั้งยังเพิ่มทักษะการพิมพ์ได้เก่งขึ้น เพราะต้องพิมพ์ข้อความบ่อย ๆ ได้เรียนรู้ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ได้เรียนรู้วิธีการคิดอย่างชาญฉลาด ทำให้สมองไวและปฏิภาณไหวพริบดีขึ้น ช่วยสร้างจินตนาการและการเชื่อมต่อความคิด นี่เป็นคุณสมบัติจากการเล่นเกมด้วยเวลาที่เหมาะสม

          ในชีวิตจริงของเรา ไม่ได้มีแค่เรื่องการเล่นเกมเท่านั้น เราจะต้องเติบโตจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ จึงมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นอีกมากมาย เมื่อเราเป็นนักเรียน จึงควรสร้างกระบวนการคิดให้ตัวเองว่า เราจะติดเกมอย่างไรให้สอบติดและชีวิตประสบความสำเร็จ  เทคนิคง่าย ๆ และปฏิบัติได้ไม่ยากคือให้เราปรับทัศนคติและลงมือทำเท่านั้น

 

Smart Gamer  ฉลาดคิด เลือกได้

          อยากเล่นเกม ต้องเล่นด้วยปัญญา รู้จักเลือกเล่นเกมที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ อย่าหลับหูหลับตาเอาแต่เล่นเอามันส์อย่างเดียว เลือกเล่นเกมเช่นใด เราก็จะเป็นเช่นนั้น การเล่นเกมที่มีความรุนแรง นิสัยใจคอของเราก็จะคล้อยตามเกมไปเรื่อย ๆ หรือในกลุ่มเพื่อนที่มีรสนิยมการเล่นเกมแบบเดียวกัน ก็จะดึงกันไปในทิศทางเดียวกัน วัยรุ่นที่พกพาความรุนแรงก้าวร้าวไว้ในตัว อาจสร้าง digital footprints ร่องรอยในโลกดิจิทัลที่เป็นอันตรายต่อตนเองในอนาคตได้ เราต้องรู้จักใช้วิจารณญาณในการแยกแยะ การเล่นเกมดี ๆ เป็นศรีแก่ตัว เพราะเราอาจเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องเกมและวิธีการเล่นเกมอย่างชาญฉลาด หรืออาจเป็นผู้พัฒนาเกม สร้างรายได้จากการสร้างเกมหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือเป็นเกมแคสเตอร์ ที่เป็นทั้งคนเล่นเกมและเป็นนักพากย์เกมด้วยในเวลาเดียวกัน เป็นการสร้างอาชีพในอนาคต เพราะเราสามารถสร้าง Skill ให้ตัวเราเหมือนที่เราสร้างให้ตัวละครในเกมได้

 

จัดลำดับความสำคัญ

          การเล่นเกมโดยไม่ทอดทิ้งงานบ้าน การเรียน การกินการอยู่ และการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้คนที่มีตัวตนจริง ๆ เราก็จะไม่โดนพ่อแม่ผู้ปกครองตำหนิ เพราะเราสามารถจัดลำดับความสำคัญภารกิจและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และจัดแบ่งเวลาได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงเวลากินก็กิน เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น ถึงเวลาทำการบ้านอ่านหนังสือเรียน ก็รักษาเวลาได้ตามกำหนด เมื่อเสร็จภารกิจแล้วจึงค่อยเล่นในเวลาที่พักผ่อน กำหนดเวลาเล่นเกมให้เหมาะสม ไม่นอนดึกเพราะเล่นเกม ไม่สร้างความเครียดให้ตัวเองจากการเล่นเกมที่ก้าวร้าวรุนแรงหรือการต้องเอาชนะในเกม  เมื่อถึงเวลาใกล้สอบ ก็ลดเวลาการเล่นเกมลง สอบเสร็จแล้วค่อยพักผ่อนทำในสิ่งที่ชอบ การสอบให้ติดคือโจทย์ของเรา  เราเล่นเกม และอย่ายอมให้เกมเล่นเรา

 

มีความรับผิดชอบต่อตนเอง

          วัยรุ่นลองหัดทำบัญชีการใช้เวลาในการเล่นเกม และการรับ-จ่ายเงินที่ได้จากพ่อแม่และต้องไปเสียค่าเกม จัดทำเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้ ดูว่าเราใช้เวลาไปกี่ชั่วโมง/วัน/สัปดาห์/เดือน และจำนวนเงินที่ใช้ในการเล่นเกมต่อเดือน เราเสียแต่เงินซื้อเกม หากเป็นเกมที่สร้างสรรค์พัฒนาสติปัญญา ก็ยังพอไหว แต่หากเป็นเกมที่ก้าวร้าวรุนแรง จะทำให้เราสูญเสียทั้งเงิน พลังกาย และพลังสมอง  หากทำบัญชีดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามันเกินพอดี ลองลดดูหน่อยมั้ย อย่างน้อยพ่อแม่เราก็ดีใจแล้วละที่เราเติบโต สามารถควบคุมตนเองได้ น่าภูมิใจจะตายไป

 

สร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง

          เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นได้ สร้างแรงไดรฟ์ให้เราเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือดี ๆ เช่น โรงเรียนสร้างคนดี ตอนฉันไม่อยากติดเกม และการเล่นเกมดี ๆ ที่ประเทืองปัญญา  หนังสือดีและเกมสร้างสรรค์จะสอนให้เรารู้จักกระบวนการคิดที่พัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการอ่านหนังสือเรียนและทำการบ้าน จะทำให้เราไม่เสียการเรียนแน่นอน และถ้าเล่นเกมแล้วไม่เสียการเรียน คุณพ่อคุณแม่จะบ่นว่าเราได้อย่าง่ไร จะบ่นตรงไหน เอาปากกามาวงได้เลย

 

ร่วมกิจกรรมกับครอบครัว

          พ่อแม่ชวนไปไหนก็ไปด้วย ไม่หมกตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อหมกมุ่นกับเกม ไปออกกำลังกายและไปเที่ยวด้วยกัน กินข้าวพูดคุยกันกับพี่น้อง ทำให้ได้เรียนรู้และมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้คนในโลกที่เป็นจริง ไม่ใช่กับมนุษย์อวตารในโลกเสมือนจริง ไปอ่านหนังสือในห้องสมุดหรือร้านหนังสือ เพื่อเปลี่ยนอารมณ์จากการหมกมุ่นเล่นเกม และได้สัมผัสกับความรักความห่วงใยของพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวอย่างแท้จริง ยกพลทั้งครอบครัวไปเที่ยว ทำอาหารอร่อย ๆ เล่นกีฬา ออกกำลังกาย วาดรูป ร้องเพลง เล่นดนตรี ดูหนัง เล่นบอร์ดเกม ฯลฯ

          Smart Kids เล่นเกมอย่างพอดี มีแต่จะได้ประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างพลังกาย พลังสมอง และก้าวเดินไปสู่เป้าหมายของชีวิตในอนาคตได้โดยไม่ยาก และทำให้รู้จักแนวทางการใช้ชีวิตพิชิตความสมดุล ระหว่างสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่อยากทำ

 

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง
สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน http://www.youthradioandmedia.org/
โรคติดเกม https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/459/โรคติดเกม
‘แคสเตอร์’ อาชีพใหม่เกมเมอร์ไทย https://d.dailynews.co.th/article/304691/

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us