Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
การรับมือกับภัยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ

  Favorite

           สวัสดีวัยรุ่น พวกเราเติบโตมาในยุคนิวนอร์มัล เป็นยุคที่สื่อออนไลน์และสื่อดิจิทัลเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และพาหนะที่นำเราไปยังสื่อเหล่านี้คือสมาร์ทโฟนที่อยู่ใกล้เราทั้งยามหลับและยามตื่น เรียกได้ว่าเป็น buddy คู่หู คู่ตา คู่ใจ และคู่มือ ยามหลับเราจะมีเจ้านี่วางไว้ข้างหมอน ยามตื่นปุ๊บ ทันทีที่ลืมตา โอ้ว มือถืออยู่ไหน คิดถึงจัง คว้าปุ๊บ สไลด์ปั๊บ อัปเดตโลกทันที ใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งกว่าพ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย บางคนยกให้มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนบางครั้งอาจเกินความพอดี บางคนเชื่อข้อมูลที่อยู่ในนั้นมากยิ่งกว่าคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์  บางคนมีสติและวิจารณญาณมากพอสามารถแยกแยะได้  แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าข้อมูลหลายอย่างถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงชนิดคนละเรื่องเดียวกัน อ่านแล้วแบบตกลงไอ้เรื่องนี้ มัน Fact หรือ Fake

           สื่อออนไลน์จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน พอหมุนปั่นแล้วจะออกหัวหรือออกก้อยต้องลุ้นกันเป็นรายคน ฉะนั้นเราจึงควรต้องเรียนรู้ทั้งประโยชน์และโทษของโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ “ต้องรู้เท่าทัน” ทั้งด้านสว่างและด้านมืด ต้องฉลาดในการเลือกใช้ด้วยสติและปัญญา (สติ + ปัญญา = วิจารณญาณ) ซึ่งวัยรุ่นอย่างพวกเราสามารถเป็นแบบอย่างสำหรับความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตได้ ด้วยการศึกษาหาความรู้เพื่อจัดการกับความเสี่ยงและสร้างทักษะเพื่อรับมือกับภัยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ ที่พวกเราต้องเจอะเจอทุกวันทุกคืน

           พวกเรามาช่วยกันค้นหาวิธีการรับมือด้วยกันดีมั้ย เพื่อป้องกันตัวเราและเดอะแก๊งของเราให้รอดพ้นจากความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อออนไลน์

 

การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

           ควรจะเป็นเรื่องแรกที่พวกเราต้องเฝ้าระวัง เราใช้การสื่อสารออนไลน์ในกิจวัตรประจำวันกันจนชิน ทั้งการคุยกับเพื่อน ๆ การหาข้อมูลต่าง ๆ การส่งข้อมูลส่วนบุคคลเข้าแอปและอุปกรณ์ เช่น การซื้อไอเทมในเกม การซื้อสินค้าออนไลน์ และอื่น ๆ เราควรปรึกษาพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตให้สำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และช่วยตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว

 

การค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องที่เป็นประโยชน์

           วัยรุ่นอย่างเรามีความสามารถมากในการสไลด์นิ้วหาข้อมูล แค่นั้นยังไม่พอ เราต้องใช้สติในการกำกับด้วย ให้รู้ว่าข้อมูลใดมีประโยชน์ ข้อมูลใดไร้ประโยชน์หรือถูกบิดเบือนจนเสมือนจริงไปแล้ว  หากเรายังไม่แน่ใจในข้อมูลเหล่านั้น ขอให้ปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครูหรือญาติผู้ใหญ่  อย่าฟังเพื่อนเพียงอย่างเดียว เพราะอาจพากันเข้ารกเข้าพง ได้ข้อมูลผิด ๆ ไปมากยิ่งขึ้น และอาจถูกชักจูงไปสู่พฤติกรรมผิด ๆ อีกด้วย

 

การหลีกเลี่ยงข้อมูลที่มีความเสี่ยงด้านเนื้อหา

           ชาว Smart Kids อย่างเราต้องรู้จักใช้วิจารณญาณกับข่าวปลอมที่ทำให้ดูน่าเชื่อถือ ภาพอนาจารหรือเนื้อหาทางเพศที่เปิดเผยโจ๋งครึ่มในมิวสิควีดิโอ ภาพยนตร์ หรือเกมออนไลน์ เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติด การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลเชิงลบ  ทางออกคือปรึกษาพ่อแม่ของเรา ท่านผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนเรา มีประสบการณ์มากมาย ท่านจะให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเราได้เป็นอย่างดี

 

การไม่ให้ค่ากับข้อมูลออนไลน์ที่บูลลี่เราและผู้อื่น

           เราไม่ชอบให้ใครบูลลี่เรา เราก็ต้องไม่บูลลี่ใคร  ใครทำเราก็ไม่สนใจ ไม่ให้ค่า  หากมีข้อมูลมาก็ลบทิ้งอย่างเดียว ไม่มีการส่งต่อ ให้ข้อมูลลบเหล่านั้นเป็นศูนย์เสมอ เราไม่สร้างเนื้อหาที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลอื่น เราต้องรู้จักเคารพตัวเองและผู้อื่นทางออนไลน์เสมอ พวกเราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราอัปโหลด อีเมล หรือสื่อออนไลน์ใด ๆ สิ่งนั้นจะอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป

 

การไม่ติดต่อทางออนไลน์กับคนแปลกหน้า

           คนแปลกหน้าที่ chat มาพูดคุยกับเรา ชักชวนเราให้ไปพบกับพวกเขาในชีวิตจริง และผู้ใหญ่ที่แกล้งทำเป็นเป็นเด็กในโลกออนไลน์มาติดต่อกับเรา พวกอวตารทั้งหลายที่ไร้ตัวตนที่แท้จริง ให้เราตั้งข้อสังเกตและระวังตัวไว้ก่อนเลยว่า เป็นผู้หลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง และหากคิดแล้วว่าคนเหล่านั้นเข้ามาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ให้บอกพ่อแม่ผู้ปกครองโดยด่วน เพื่อค้นหาวิธีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เสี่ยงจะเกิดอันตราย รวมทั้งเนื้อหาออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายเหล่านั้น

 

ระมัดระวังการซื้อของออนไลน์

           เราต้องรู้จักระมัดระวังในการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ วันเกิด หรือข้อมูลระบุตัวตนอื่น ๆ รวมทั้งอย่าส่งหรือโพสต์ภาพหรือข้อมูลให้แก่คนที่เราไม่รู้จัก เราอาจได้รับข้อความจากการตลาดดิจิทัลหรืออีเมลหลอกลวงที่ไม่เหมาะสม เราก็อาจหลงเชื่อสั่งซื้อของไปตามนั้น หรืออาจได้รับข้อมูลผิด ๆ จากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ให้ซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยใช้รายละเอียดทางการเงินของผู้อื่น หรือใช้รหัสผ่านของผู้อื่นในทางที่ผิดและแอบอ้างบุคคลอื่นทางออนไลน์ ฉะนั้นก่อนจะซื้อสิ่งของใด ๆ ทางออนไลน์ ขอให้แจ้งให้พ่อแม่ผู้ปกครองทราบก่อนเป็นการดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ท่านอาจส่งข้อความหรือส่งอีเมลถึงบริษัท/ร้านค้า หรือตรวจสอบบทวิจารณ์ของลูกค้าก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

 

การยอมให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเพื่อนเราในโลกออนไลน์

           เราจะได้ประโยชน์มากมายหากยอมให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเพื่อนกับเราในโลกของโซเชียลมีเดีย เพราะคงไม่มีผู้ใดหวังดีและชี้แนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เราได้เท่ากับคนกลุ่มนี้อีกแล้ว นอกจากให้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นเกราะกันภัยให้พวกเราได้อีกนะ เราแชร์สิ่งที่เรารู้ พ่อแม่ก็แชร์สิ่งที่ท่านรู้ สนุกดีออก นอกจากนี้เพื่อนกลุ่มนี้อาจสร้างพื้นที่ปลอดหน้าจอในบ้านของเรา ให้ได้มีการพูดคุยกันแบบเห็นหน้าในเรื่องราวและเนื้อหาต่าง ๆ ต่อยอดจากในโลกออนไลน์ รวมทั้งตั้งวงเม้ามอยเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์อื่น ๆ ที่ทำให้เราไม่พอใจ หรือที่ไม่เหมาะสม ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เราได้รับจากเพื่อนกลุ่มนี้ จะทำให้เราได้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบต่อไปในอนาคต ใครยังไม่ได้กดรับเฟซบุ๊กของคุณพ่อคุณแม่...ลองจัด!

 

           ถึงแม้วัยรุ่นอย่างพวกเราจะชอบความเป็นส่วนตัวก็จริง แต่เราก็ชอบความปลอดภัยและความอบอุ่นมากกว่า คงจะแจ่มมากหากครอบครัวเรามีกติกาในการท่องโลกออนไลน์ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและปฏิบัติตาม เช่น หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์หรือเล่นสื่อโซเชียลในช่วงเวลารับประทานอาหารร่วมกัน หรือจัดเวลาพูดคุยกันกับสมาชิกในครอบครัวแบบเห็นหน้ากัน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและสื่อออนไลน์ที่จะช่วยรับมือกับภัยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ ได้ พวกเราจะได้เล่นกิจกรรมออนไลน์ได้แบบไม่โดนพวกมันเล่น (งาน) เรา !

 

ณัณท์

ข้อมูลอ้างอิง https://raisingchildren.net.au/teens/entertainment-technology/cyberbullying-online-safety/internet-safety-teens

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us