Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
การเตรียมตัวก่อนเข้า ม. 4

  Favorite

          เรื่องใหญ่เรื่องโตสำหรับเด็ก ม. 3 เห็นทีจะไม่มีเรื่องไหนเกินหน้าการเตรียมตัวเลื่อนชั้นขึ้นเป็นนักเรียน ม. 4 หรือการเป็นเด็ก ม. ปลายปีแรกไปได้ ไม่ว่าบางคนจะต้องการเรียนต่อโรงเรียนเดิม หรือบางคนอาจต้องการไปสอบเข้า ม. 4 ที่โรงเรียนอื่น แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่น้องทุกคนต้องทำเหมือนกันคือ ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแผนการเรียนไหนดี เว้นเสียแต่น้องจะเทสายสามัญแล้วหันไปหาสายวิชาชีพแทน และความยากมันอยู่ตรงนี้นี่เอง!

          น้อง ม. 3 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปี ซึ่งอายุเท่านี้ ประสบการณ์ชีวิตของน้องย่อมมีจำกัด อาจมีบางคนที่รู้ตัวมานานแล้วว่าโตขึ้นอยากทำอาชีพใด เช่น น้องที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นหมอก็อยากเป็นหมอเหมือนพวกท่าน น้องที่มีคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจก็อยากสานต่อธุรกิจของพวกท่าน หรือน้องที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นครูก็อยากเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติต่อไป ส่วนน้องบางคนอาจจะประทับใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนตั้งความหวังว่าอยากเป็นเกษตรกรแนวใหม่ ฯลฯ

          แต่ก็มีน้องหลายคนที่รู้แค่กว้าง ๆ ว่าอยากทำอะไรในอนาคต เช่น อยากรับราชการ เพราะดูมั่นคง และเมื่อเกษียณก็ยังมีรายได้จากบำนาญ หรือชอบด้านไอที ก็อยากทำงานด้านนี้ แต่ยังนึกอาชีพไม่ออก เป็นต้น ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะก่อนจะข้ามช็อตไปนึกถึงเรื่องอาชีพ วันนี้พี่มดอยากให้น้องเริ่มทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น โดยการค้นหาว่าน้องมีความถนัดด้านไหนก่อน เพราะนี่ต่างหากคือตัวบ่งชี้สำคัญว่าเราควรเรียนต่อสายใดในชั้น ม. 4 ค่ะ

 

ใช้ความถนัดเป็นจุด Start

          พี่มดขอแนะนำอย่างแรกว่า น้องทุกคนควรเลือกเรียนตามที่ตนเองถนัดค่ะ เราอาจคิดว่าเราชอบวิชานั้น เราอยากทำอาชีพนี้ แต่น้อง ๆ ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เราชอบกับสิ่งที่เราถนัดนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป ดังนั้น ที่เราควรพิจารณาเป็นลำดับแรกคือ เราทำคะแนนวิชาไหนได้ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น หมายถึง เวลาเรียน เราเข้าใจบทเรียนได้ดี หรือแม้จะมีสิ่งที่ไม่เข้าใจ แต่เมื่อถามคุณครูหรือขอให้เพื่อน ๆ ช่วยอธิบายแล้วก็จะเข้าใจได้ชัดเจน และเมื่อถึงเวลาสอบ แม้จะไม่มีพี่น้องผองเพื่อนมาช่วยติว เราก็สอบผ่านสบาย ๆ และได้คะแนนดีด้วย ย้ำว่า ไม่ใช่แค่สอบผ่านนะคะ แต่ได้คะแนนดีด้วย!

          เหตุผลที่เป็นแบบนั้น เพราะพี่มดจะชวนน้อง ๆ มองข้ามช็อตไปไกลหน่อยคือไปถึงในระดับมหาวิทยาลัย น้องจะพบความเกี่ยวพันกับการตัดสินใจเลือกแผนการเรียนในชั้น ม. 4 อย่างแน่นอนค่ะ ลองฝึกจินตนาการตามพี่มดดูนะคะ

 

ลองอวตารไปเป็นเด็กมหา’ลัย 

          การเรียน ม. ปลาย กับการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอน ม. ปลาย ถึงน้อง ๆ จะเลือกเรียนวิชาที่ตนชอบ แม้จะไม่ถนัด แต่ด้วยความที่มีการเช็กเวลาเรียนอย่างเข้มงวด ทำให้น้องขาดเรียนไม่ได้ ต้องเข้าเรียนทุกคาบ ประกอบกับความที่น้องยังใกล้ชิดกับเพื่อน ๆ และครูอาจารย์อยู่มาก อาศัยติวกับเพื่อนบ้าง เรียนกวดวิชาบ้าง และอาจารย์มักจะช่วยด้วยการสอบเก็บคะแนนไปเรื่อย ๆ บ้าง ให้ทำรายงานเป็นคะแนนเสริมบ้าง น้องก็อาจจะพอประคองตัวไปได้ แต่อย่าลืมว่า เกรดของน้องซึ่งอาจจะต้องนำไปประกอบการพิจารณาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS ก็อาจไม่แจ่มเท่าไหร่ และอาจส่งผลให้น้องพลาดเรียนคณะที่มุ่งหวัง

          ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ต่อให้น้องสอบเข้าคณะที่อยากเรียนได้ดังหวัง ทุกอย่างก็เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้นเอง ก้าวที่สำคัญคือก้าวต่อไปต่างหาก

ด้วยความที่การเรียนระดับอุดมศึกษามักจะให้อิสระเสรีแก่ผู้เรียนเต็มที่ น้องต้องรับผิดชอบการเข้าชั้นเรียนเอง ไม่มีอาจารย์ท่านไหนมาคอยเช็กเวลาเรียนให้ หากน้องย่อหย่อนวินัย โดดเรียนบ่อย การยืมเล็กเชอร์เพื่อนมาลอกคงไม่ได้ทำให้น้องเข้าใจบทเรียนได้เท่าการเข้าเรียนแน่ ๆ และเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยก็อาจไม่ใกล้ชิดกันอย่างเพื่อนมัธยมที่จะคอยสละเวลามาติวให้กัน โรงเรียนกวดวิชาในระดับนี้ก็ไม่มีให้เรียน การสอบเก็บคะแนนหรือทำรายงานก็มีไม่มากนักหรืออาจไม่มีเลยด้วยซ้ำในบางสาขาวิชา คะแนนส่วนใหญ่มาจากการสอบกลางภาค ปลายภาค หรือการทำโปรเจกต์ ดังนั้น หากน้องต้องเรียนสิ่งที่น้องไม่ถนัด การจะทำเกรดให้ดีก็เป็นเรื่องยากเย็นเอามาก ๆ

          ประการสำคัญดอกจันสามตัว (***) หากเกรดของน้องไม่ดี ทำได้ไม่ถึง 2 น้องจะต้องเจอกับสภาพการ ‘ติดโปรเบชั่น (probation) หรือติดสถานะรอพินิจ’ ซึ่งหมายความว่า หากน้องทำเกรดเฉลี่ยกลับมาอยู่เกิน 2 ไม่ได้ภายในปีการศึกษานั้น ๆ น้องจะพ้นจากสภาพการเป็นนิสิตนักศึกษาในทันที! หรือที่เรียกกันว่าโดนรีไทร์นั่นเอง

          ถ้าน้องเกิดจับพลัดจับผลูสอบติดคณะที่ใฝ่ฝัน หรือถึงสอบไม่ได้ แต่ได้เรียนคณะนั้น ๆ ในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงลิบ แต่น้องไม่ได้มีความถนัดในสิ่งที่เรียนเอาเสียเลย เรียนยากเรียนเย็น เรียนเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจเสียที จะเกาะกลุ่มไปกับเพื่อน ๆ ก็ลำบากเพราะอย่างที่ว่ามาแล้วคือการเรียนมหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีการสะสมแต้มหยอดกระปุกเก็บคะแนนแบบสมัยมัธยม พอถึงตอนสอบก็ได้คะแนนไม่ดี เกรดเฉลี่ยออกมาไม่สวย ยิ่งถ้าถึงขั้นติดโปรอย่างที่ว่า แล้วน้องจะมีความสุขกับการเรียนได้อย่างไร? นี่ขนาดยังไม่ได้มองไกลไปถึงตอนเรียนจบและต้องหิ้วใบรับรองผลการศึกษา (ที่โชว์เกรดเฉลี่ยหรา) ออกหางานทำนะคะ!

          ที่ว่ามานี้ ไม่ได้เป็นการมองโลกในแง่ร้ายเลยค่ะ เพียงแต่อยากให้น้องหัดมองการณ์ไกลและเห็นภาพชีวิตในมหาวิทยาลัยชัดเจนขึ้น ไม่ใช่เห็นแต่ภาพฝันอันเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้

 

ตื่น สติค่ะลูก!

          ว่าจบแล้ว งั้นพวกเราจงกลับมาค่ะ กลับมายังปัจจุบัน ที่ทุกอย่างยังสามารถเตรียมการได้ หรือยังแก้ไขได้ทัน กลับมาทบทวนความถนัดของตัวเองให้ดี ยอมรับความจริงว่าเราถนัดวิชาไหนที่สุด แล้วเลือกเรียนสายที่เน้นการเรียนวิชานั้นไปเลย ถ้าหากน้องเรียนไม่ถนัดสักวิชา ก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอาย เพราะเป็นไปได้ว่าน้องอาจไม่ถนัดเรียนสายสามัญ การเรียนสายอาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรเลย ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่น่าสนใจอยู่มากมาย และมีคนมากมายที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากการร่ำเรียนสายอาชีพด้วยนะคะ

          และสำหรับน้อง ๆ ที่ถนัดเพียงบางวิชา เราค่อยมาพิจารณากันค่ะว่าวิชาที่น้องถนัดน่าจะเอื้อให้น้องเรียนต่อสายสามัญแผนการเรียนไหนได้ดีที่สุด และเมื่อเราทราบแล้วว่าวิชาที่เราถนัดคือวิชาอะไรก็ค่อยมาเลือกดูจากแผนการเรียนชั้น ม. ปลายค่ะ ว่าแผนการเรียนไหนจะทำให้เราได้เจอกับวิชาเหล่านั้นมากที่สุด

 

แผนไหน...ใช่เรา

          เด็กยุคนี้เติบโตมาพร้อมกับแผนการเรียนที่หลายหลาย บางโรงเรียนมีแผนแบบเจาะลึกเตรียมเข้าสาขาต่าง ๆ เช่น สายวิทย์มีแยกเป็นเตรียมแพทย์ศาสตร์-เภสัชศาสตร์, เตรียมวิศวะ, เตรียมสถาปัตย์, เตรียมวิทย์-คอมฯ ในขณะที่สายศิลป์ก็มีทั้งเตรียมนิเทศศาสตร์-มนุษยศาสตร์, เตรียมศิลปกรรมศาสตร์, เตรียมบริหารธุรกิจ-บัญชี, เตรียมนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ ฯลฯ บางโรงเรียนมีแบบลูกครึ่งผสมผสาน แต่ก็ยังเน้นเป็นแผนหลักคล้ายรูปแบบเดิม ซึ่งได้แก่ สายวิทย์-คณิต, สายศิลป์-คำนวณ, สายศิลป์-ภาษา และสายศิลป์-สังคม ดังนั้นวันนี้พี่มดจะขอพูดถึงสายหลัก ๆ ที่แทบทุกโรงเรียนมีเหมือนกันก่อนนะคะ

          หากน้องถนัดวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (แต่ภาษาอังกฤษก็ต้องดีด้วย กรณีที่ต้องการเรียนคณะแพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, เภสัชศาสตร์ ซึ่งตำรับตำราเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด) น่าจะเลือกสายวิทย์-คณิต แต่หากถนัดคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ควรเลือกศิลป์-คำนวณ และหากถนัดภาษาอังกฤษเป็นพิเศษกว่าวิชาอื่น และก็มีใจรักหรือสนใจภาษาที่ 3 ก็น่าจะเลือกศิลป์-ภาษา เพราะต้องเรียนเข้มข้นทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน บาลี อาหรับ และเกาหลี แต่ถ้าไม่ถนัดหรือไม่สนใจวิชาที่ว่ามานี้เลย แต่ถนัดวิชาสังคมและภาษาไทย ก็มุ่งไปที่สายศิลป์-สังคม

          เมื่อเราได้เลือกเรียนสายที่เราถนัดในชั้น ม. ปลายแล้ว เวลาสามปีที่เหลือของชีวิตนักเรียน เราก็ค่อย ๆ หาข้อมูลว่าเราน่าจะเหมาะสมกับการเรียนต่อคณะอะไรที่สุด เช่น เราเรียนสายวิทย์-คณิตแล้วได้เกรดเฉลี่ยดีมาก แต่ไม่ถูกจริตกับวิชาชีววิทยาเอาเสียเลย เราก็คงไม่มีความสุขหากจะเรียนหมอ หรือหากเรียนศิลป์-คำนวณแต่สนใจศิลปะด้วย ก็มีสิทธิ์เลือกเรียนศิลปกรรมศาสตร์ได้ โดยอาจต้องเรียนวิชาศิลปะเสริม แต่หากเป็นเด็กศิลป์-ภาษาที่สนใจด้านกฎหมายหรือการท่องเที่ยว อันนี้ก็สบายเพราะถือว่าเป็นสายตรงอยู่แล้ว ในขณะที่เด็กศิลป์-สังคมก็มีคณะให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิทยาการจัดการ หรือแม้แต่ศิลปกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ ค่ะ

 

          นอกจากนี้กิจกรรมแนะแนวของโรงเรียนที่อาจเชิญรุ่นพี่มาพูดคุยถึงประสบการณ์ในการเรียนคณะต่าง ๆ และหรือการทำงานอาชีพต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถค่อย ๆ จับคู่ความถนัดของเราเข้ากับอาชีพในอนาคตและวางแผนเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างเหมาะสม ทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จในการเรียน ซึ่งจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการทำงานได้ต่อ ๆ ไปด้วยนะคะ

 

โดย พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us