Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคการเลือกทุนการศึกษาให้ตนเอง

  Favorite

          น้อง ๆ คิดเหมือนกันมั้ยคะว่าโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 เปลี่ยนชีวิตของมนุษย์เราไปมากมายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม การดูแลสุขอนามัยของตัวเราเอง และแม้แต่เรื่องของฐานะความเป็นอยู่ที่อาจเปลี่ยนแปลงเพราะสภาพทางการเงินของครอบครัวเปลี่ยนไป เรียกว่างานนี้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องลำบากเดือดร้อนเพราะผลพวงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตกต่ำ แต่เด็ก ๆ อย่างน้องอาจพลอยรับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ณ เวลานี้ จึงอาจมีน้องหลายคนเริ่มกังวลถึงอนาคตด้านการศึกษาของตัวเอง ในขณะที่อีกหลายคนกำลังพิจารณาเรื่องขอทุนการศึกษาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน รวมทั้งพยายามขยันเรียนเต็มที่เพื่อให้มีผลการเรียนดีพอจะขอทุนจากองค์กรต่าง ๆ หรือจากโรงเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน หรือบางคนที่เรียนเก่งอยู่แล้วก็กำลังใคร่ครวญว่าทุนไหนจะน่าสนใจที่สุด ซึ่งไม่ว่าน้องจะเข้ากลุ่มไหนที่ว่ามา พี่มดเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่วัยมัธยมอย่างน้อง ๆ ย่อมไม่คิดถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่น่าจะมองไกลถึงอนาคตเมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาด้วย เพราะนับจากวันนี้ไปก็เหลือเวลาอีกไม่กี่ปีเท่านั้นเอง จริงมั้ยคะ

          ถ้าอย่างนั้นเราลองมาดูกันดีกว่าว่า ถ้าต้องการขอทุนการศึกษา น้องควรเลือกทุนการศึกษาอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

 

ก่อนจะขอทุน ควรรู้อะไรบ้าง?

         สองเรื่องหลัก ๆ ที่น้องทุกคนควรรู้ก่อนการเตรียมตัวขอทุน ได้แก่

 

1. รู้จักความฝันของตัวเอง

          เห็นอย่างนี้ อาจสงสัยใช่มั้ยล่ะคะว่าเรื่องขอทุนจะมาเกี่ยวอะไรกับความฝัน? ก็เกี่ยวตรงที่การขอทุนจะช่วยให้น้องได้ทุนมาทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงไงคะ หากน้องทราบว่าตัวเองฝันจะทำอาชีพอะไรเมื่อโตขึ้น หรืออย่างน้อยทราบว่าตัวเองฝันอยากเรียนอะไรในระดับอุดมศึกษา น้องก็จะวางแผนการขอทุนได้อย่างถูกต้องค่ะ ตัวอย่างเช่น

          น้องบางคนฝันใฝ่เรื่องการได้เรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี แต่ตลอดชีวิตไม่เคยพรากจากคุณพ่อคุณแม่เลย อยู่บ้านแสนสบาย มีคนดูแลชีวิตทุกขั้นตอนตั้งแต่ตื่นจนหลับ กรณีนี้ พี่มดแนะนำให้น้องพิจารณาการขอทุนระยะสั้นอย่างทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น AFS, BWK, IEE, LACEL, YES ซึ่งมีช่วงเวลาการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนตั้งแต่ 5 เดือนไปจนถึง 1 ปีการศึกษา (หากสนใจ มีรายละเอียดเพิ่มเติมในลิงก์อ้างอิงด้านล่างของบทความนะคะ) เพื่อน้องจะได้ไปทดลองใช้ชีวิตไกลบ้านดูก่อนว่าไหวมั้ย คือทนคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ คิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารไทยไหวมั้ย? อยู่กับคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไหวมั้ย? ดูแลตัวเองไหวมั้ย? ปรับตัวกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ไหวมั้ย? ฯลฯ ถ้าไหว ไปต่อไม่รอแล้วน้า ถ้าไม่ไหว ปรับตัวได้มั้ย ถ้าไม่ได้ ไม่ไหวอย่าฝืน และทุนการศึกษาของหน่วยงานต่างประเทศที่เปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติสมัครรับทุนก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

• ทุน Fulbright ซึ่งเป็นทุนเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา

• ทุน Chevening และทุน Gates Cambridge Scholarship สำหรับผู้ต้องการเรียนต่อใน สหราชอาณาจักร

• ทุน Erasmus Mundus สำหรับผู้ต้องการเรียนต่อในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

• ทุน Endeavour Scholarship สำหรับผู้ต้องการเรียนต่อในประเทศออสเตรเลีย

• ฯลฯ

          หรือน้องบางคนสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ น่าจะศึกษาการขอทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ให้ทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมการแสดงออกถึงความสามารถของเยาวชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านการทําวิจัยและการสร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์ผ่านโครงการต่าง ๆ อย่างโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) หรือโครงการสร้างปัญญาวิทย์ผลิตนักเทคโน (YSTP) เป็นต้น

          ที่น่าสนใจมากคือ หากน้องคนไหนมีผู้ปกครองเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนหรือต่อสังคมโดยรวม อาจลองปรึกษากองทุนมูลนิธิเอสซีจี (SCG) ได้นะคะ นอกจากนี้ ทางกองทุนฯ ยังพิจารณามอบทุนแก่เยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษ อย่างเช่น มีความสามารถด้านกีฬาและหรือใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ อีกด้วยค่ะ

          ตัวอย่างที่พี่มดยกมาให้ดูเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง เมื่อน้องรู้ความฝันของตนเองแล้วว่าอยากเรียนด้านไหน เรียนที่ไหน น้อง ๆ สามารถค้นคว้าเรื่องทุนการศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง หรือจะลองคลิกลิงก์อ้างอิงด้านล่างของบทความนี้ก็ได้เช่นกัน

          ยิ่งเราทำความรู้จักความฝันของตัวเองได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นแนวทางอนาคตของตัวเองชัดเจนเร็วขึ้นเท่านั้นค่ะ

 

2. รู้จักทุน

          เจ้าของทุนแต่ละแห่งสร้างเงื่อนไขในการมอบทุนแตกต่างกันออกไป ก่อนเราจะสมัครเพื่อขอรับทุนใด จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของทุนนั้น ๆ ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน เช่น

          หากน้องเรียนดีมาก แต่ทางบ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ น้องก็น่าจะพิจารณาทุนจากหน่วยงานในประเทศไทยที่ไม่มีข้อผูกมัดการใช้ทุนคืน เช่น

• ทุนการศึกษามูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ – สมัครผ่านสถานศึกษาของผู้สมัครเท่านั้น

• ทุนการศึกษามูลนิธิยุวพัฒน์ – หากน้องเรียนอยู่ชั้น ม. 3 ทุนจะสงวนสิทธิ์ให้น้องที่ต้องการเรียนต่อสายอาชีพเท่านั้น

• ทุนมูลนิธิจรูญเอื้อชูเกียรติ – ให้ทุนเฉพาะระดับอุดมศึกษาบางคณะเท่านั้น

• ทุนมูลนิธิทางสู่ฝัน ปั้นคนเก่ง – ให้ทุนเฉพาะระดับอุดมศึกษาบางคณะเท่านั้น

• ทุนมูลนิธิดํารงชัยธรรม – สำหรับนักเรียนชั้น ม. 6 หรือ ปวช. 3 ที่อายุไม่เกิน 21 ปี

• สำหรับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น น้อง ๆ ต้องใช้ทุนคืนหลังเรียนจบและมีงานทำแล้ว โดยสามารถขอผ่อนชำระการคืนทุนกับทาง กยศ. ค่ะ

          ส่วนน้อง ๆ ที่ต้องการขอทุนจากหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ต้องพิจารณาให้ดีเช่นกันว่ามีข้อผูกมัดหรือไม่อย่างไร

          ประการสำคัญ ไม่ว่าจะขอทุนจากที่ไหน น้องต้องศึกษาเรื่องการยื่นเอกสารให้ละเอียด ก่อนอื่นเลยต้องดูว่าอายุเราเข้าเกณฑ์ขอทุนหรือไม่ เกณฑ์อื่น ๆ ในการขอทุนคืออะไร และทุนนั้นให้เต็มจำนวนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ น้อง ๆ ต้องหาข้อมูลให้ดีเช่นกันเพื่อจะได้มั่นใจว่า เมื่อรับทุนแล้ว ทุนที่ได้รับจะเพียงพอให้เราใช้ในการศึกษาได้ตลอดรอดฝั่ง นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบให้ดีว่าน้องสามารถสมัครด้วยตนเองหรือต้องสมัครผ่านสถานศึกษาค่ะ

เมื่อแน่ใจว่าตนเองเข้าเกณฑ์ครบทุกข้อก็ต้องจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน และห้ามพลาดวันหมดเขตรับสมัครเป็นอันขาด! นอกจากนี้ หากผู้มอบทุนกำหนดว่าผู้สมัครต้องมีผลสอบใดยื่นประกอบใบสมัครขอทุน น้องต้องไปสอบไว้แต่เนิ่น ๆ โดยไม่ลืมดูว่าผลสอบมีอายุยาวนานแค่ไหน เพราะหากรีบสอบเกินไป ผลสอบอาจหมดอายุก่อนถึงวันยื่นใบสมัครได้นะคะ!

          สุดท้าย หากผู้มอบทุนกำหนดว่าน้องต้องมีผู้ปกครองลงลายมือชื่อยินยอมให้ขอทุน น้องต้องศึกษาด้วยว่าผู้ปกครองต้องเตรียมเอกสารและต้องดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง จากนั้น รีบแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อท่านจะได้เตรียมเอกสารให้พร้อมและเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ว่าตนเองต้องทำอะไรในขั้นตอนใดบ้างค่ะ

          เมื่อเราทราบว่าตนเองมีคุณสมบัติเหมาะที่จะขอทุนประเภทไหน เตรียมเอกสารพร้อม ยื่นขอทุนตามกำหนดเวลา โอกาสที่จะได้ทุนก็ย่อมมีมากเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม พี่มดแนะนำว่าควรลองยื่นขอทุนมากกว่าหนึ่งทุน เผื่อขาดเผื่อเหลือไว้เป็นดีที่สุดค่ะ

          ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีนะคะ

 

พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์

 

อ้างอิง https://www.okad.in.th/in-scholarship/https://www.hotcourses.in.th/study-abroad-info/student-finance/scholarship-hunter/https://www.wongnai.com/beauty-tips/free-scholarship, https://www.educatepark.com/ทุนการศึกษา/, https://www.scgfoundation.org/program/sharing-the-dream/https://afsthailand.org/, https://www.facebook.com/bwkinternational/?_rdc=1&_rdrhttps://www.ieethailand.com/, https://www.facebook.com/LaACELEducationTH/?_rdc=1&_rdrhttp://www.yesthailand.org/exchange/?gclid=

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us