Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Safeguarding การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เรื่องไม่เด็ก ที่เด็ก..ควรรู้!

  Favorite

          “เด็กเทวดาแตะไม่ได้!” เสียงบ่นเบา ๆ จากคนที่รับหน้าที่ดูแลเด็ก Gen นี้ แต่เอ๊ะ น้อง ๆ คิดว่า สำนวนไทย ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’  ยังคงใช้ได้อยู่มั้ยน้า และถ้าจำเป็นต้องใช้ จะใช้อย่างไรดี ให้น้อง ๆ ปลอดภัย แต่ก็ต้องสามารถแตะต้องได้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่ตัวเองก่อ และบทลงโทษที่จะได้รับ

          “Safeguarding” จึงถูกนำมาใช้ในการดูแลเด็กรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 แบบแตะต้องได้ แต่ต้องทำให้เด็กปลอดภัย ความจริงแล้วบ้านเรามีกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 แต่คนไทยดูจะเพิ่งตื่นตัวกับเรื่อง Safeguarding ก็ตอนมีโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษที่เปิดตัวขึ้นมากมายนับร้อยแห่งในประเทศไทยราวสองทศวรรษที่ผ่านมา (คำนี้เป็นคำที่เริ่มใช้กันในสหราชอาณาจักร)

          Safeguarding แปลได้ว่า การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก หมายถึงการดูแลให้เด็กปลอดภัยจากการกระทำทารุณ ภัยอันตราย และหรือการถูกละเลย/ทอดทิ้ง ดังนั้นวันนี้พี่มดว่า มันถึงฤกษ์งามยามดีแล้วล่ะ ที่เด็ก ๆ อย่างเราจะมาล้อมวงคุยกันในเรื่อง “Safeguarding การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก” จะมีเรื่องอะไรที่น้อง ๆ ควรรู้บ้าง ตามพี่มดไปดูกันเลยค่ะ  

 

การละเลยหรือทอดทิ้ง

          การละเลยหรือทอดทิ้งเป็นคำที่ค่อนข้างชัดเจนในตัวเอง คือเมื่อไหร่ที่น้อง ๆ ถูกคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองละเลย ไม่เอาใจใส่ดูแลเรื่องความจำเป็นขั้นพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ อันได้แก่ ไม่หาอาหารให้รับประทาน ไม่หาเสื้อผ้าที่ยังมีสภาพดีให้ใส่ เจ็บป่วยไม่ดูแลหรือพาไปรักษา หรือทอดทิ้ง กล่าวคือไม่เลี้ยงดู ขับไล่ออกจากบ้าน ไม่ให้อาศัยอยู่ด้วย น้อง ๆ ต้องขอความช่วยเหลือจากคุณครูที่โรงเรียนทันที ย้ำว่าทันทีนะคะ! เพราะน้อง ๆ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงต้องมีหน้าที่ดูแลจัดหาปัจจัยสี่ให้แก่น้อง ๆ ซึ่งหากท่านไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากไม่อยู่ในสภาพที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากความเจ็บป่วย ยากจน หรืออื่น ๆ น้อง ๆ ต้องเรียนให้คุณครูทราบ คุณครูจะได้รีบติดต่อหน่วยงานราชการให้เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวของน้อง

          แต่ถ้าเป็นกรณีที่ท่านไม่ทำหน้าที่โดยเจตนา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณครูก็จะได้ติดต่อให้หน่วยงานราชการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหานี้ และช่วยดูแลน้อง ๆ ให้ปลอดภัย ได้รับปัจจัยสี่อันเป็นความจำเป็นพื้นฐานดังกล่าวมาแล้ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ควรเป็นค่ะ

 

การละเลยทางอารมณ์

          การละเลยทางอารมณ์ เช่น ไม่ให้ความรักความอบอุ่น ไม่เอาใจใส่ ไม่รับฟัง/ไม่พูดคุยกับน้อง ๆ ก็รวมอยู่ในหัวข้อการละเลยเช่นกัน หากประสบปัญหานี้ น้อง ๆ ต้องเรียนให้คุณครูทราบทันทีเช่นกัน เพื่อคุณครูจะได้ช่วยหาทางแก้ไขปัญหา ไม่เช่นนั้น การขาดความรักความอบอุ่นและขาดผู้ปกครองที่คอยพูดคุยให้คำปรึกษาและรับฟัง อาจทำให้น้องหลงทาง และคิดไปพึ่งผิดคน แถมเป็นคนที่ไม่สมควรไม่เหมาะสมก็มี ไม่ว่าจะเป็นการหาเพื่อนคุยออนไลน์เพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ หรือแม้แต่การปรึกษาเพื่อน ๆ ที่ยังเป็นเยาวชนอยู่ด้วยกันและอาจชวนกันแก้ปัญหาในทางที่ผิดได้

 

การทารุณกรรมเด็ก ทำไม่ได้! แต่ไม่ใช่...แตะต้องไม่ได้!

          การกระทำทารุณนั้น ที่ชัดเจนที่สุดคือ การกระทำทารุณทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทุบตีหรือทำร้ายด้วยวิธีใด แต่... มีคำว่าแต่คำใหญ่เลยค่ะ พี่มดไม่ได้บอกว่า น้อง ๆ จะเป็นคนที่แตะต้องไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองหรือคุณครูห้ามทำโทษนะคะ

เรื่องของการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กมีที่มาจากประเทศตะวันตกซึ่งมีวัฒนธรรมทางสังคมต่างจากวัฒนธรรมไทยมาก ดังนั้น แม้ว่าการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กจะเป็นสิ่งที่ดีที่ประเทศเราควรนำมาประยุกต์ใช้ แต่เราก็ต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยของเราด้วย

 

เรื่องนี้แยกได้เป็นสองกรณี

          กรณีแรก คือกรณีของน้อง ๆ ที่เรียนโรงเรียนนานาชาติ ตัวน้องและคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองย่อมต้องยึดกฏระเบียบของโรงเรียนซึ่งกำหนดด้วยวัฒนธรรมของสังคมตะวันตก กฎระเบียบของโรงเรียนนานาชาติ ห้ามเด็ดขาดเรื่องการทำโทษด้วยการใช้กำลังไม่ว่าด้วยวิธีใด หากคุณครูเกิดพบว่ามีเด็กคนไหนถูกคุณพ่อคุณแม่ตีหรือทำโทษด้วยการใช้กำลัง จะมีการเชิญคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองมาพบทันที ตรงข้าม หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองทราบว่าลูกหลานถูกคุณครูตีหรือทำโทษด้วยการใช้กำลัง ก็สามารถร้องเรียนกับทางโรงเรียนได้ทันที เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดกฎระเบียบร้ายแรง ซึ่งกรณีนี้ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองศึกษาทำความเข้าใจกฎระเบียบของโรงเรียนให้ชัดเจนแต่แรก ในขณะที่ตัวน้องเองก็ต้องรับทราบและเข้าใจกฎระเบียบดังกล่าวอย่างชัดเจนเช่นกัน

          กรณีที่สอง คือกรณีของน้อง ๆ ที่เรียนโรงเรียนไทย กฎระเบียบจะถูกกำหนดไว้ตามวัฒนธรรมไทย ตามบริบทของสังคมไทย และตามข้อกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งตัวน้องกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองย่อมต้องยึดตามกฎระเบียบของโรงเรียนเช่นกันค่ะ ดังนั้น หากน้องทำผิดและสมควรถูกทำโทษเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ไม่ว่าจะเป็นการที่น้อง ๆ พูดปดกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ทั้งที่ทราบดีว่าไม่ควรทำ หรือเมื่ออยู่บ้านก็เกเรกับพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัวหรือลูกจ้างในบ้าน ฯลฯ แล้วเกิดถูกทำโทษด้วยการตี (ซึ่งไม่ใช่การตีรุนแรงโดยใช้อารมณ์) แต่ตีเพื่อให้ทราบว่าน้อง ๆ ทำผิดและมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผลแล้วว่านั่นเป็นการทำโทษ น้อง ๆ จะมองว่าเป็นการละเมิดการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กแล้วไปฟ้องคุณครูที่โรงเรียนก็คงไม่ถูกต้องหรือหากน้องทำผิดที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการลอกการบ้านเพื่อน ลอกข้อสอบ หนีโรงเรียน ไม่รับผิดชอบต่อการเรียน ชกต่อยหรือตบตีกับเพื่อนกับรุ่นพี่รุ่นน้อง จงใจฝ่าฝืนกฎระเบียบของโรงเรียนจนเกิดความเสียหายต่อตนเองและต่อโรงเรียน ฯลฯ แล้วถูกทำโทษในลักษณะเดียวกัน การที่น้องจะไปฟ้องคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองว่าคุณครูละเมิดการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กก็ไม่น่าจะถูกต้องเช่นกัน

 

เมื่อถูกทารุณกรรม ต้อง จ.ท.ท. (แจ้งทันที)

          เมื่อใดก็ตามที่น้องโดนตีหรือโดนทำร้ายอย่างรุนแรง โดยใช้อารมณ์และไร้เหตุผลอันควรละก็ น้อง ๆ ต้องรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ททราบทันที ย้ำอีกครั้งว่า จ.ท.ท. แจ้งทันที! ถ้าโดนคุณครูตีหรือทำโทษอย่างรุนแรงในลักษณะดังกล่าว ต้องรีบแจ้งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองทราบ และในทางกลับกัน หากโดนคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองตีหรือทำโทษอย่างรุนแรง ก็ต้องรีบเรียนให้คุณครูทราบ เพราะการกระทำรุนแรงโดยใช้อารมณ์นั้น ถือเป็นการกระทำทารุณและเป็นการละเมิดการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กด้วยค่ะ

 

ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ควรปกปิด แต่ต้องช่วยกันแก้

          สิ่งสำคัญที่สุดที่พี่มดอยากให้น้องทุกคนจำไว้ให้ขึ้นใจก็คือ ไม่ว่าน้อง ๆ จะถูกละเลย ทอดทิ้ง หรือถูกกระทำทารุณ จงอย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ควรปกปิดโดยเด็ดขาด เพราะไม่มีเด็กหรือเยาวชนคนไหนควรถูกละเลย ทอดทิ้ง หรือกระทำทารุณทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นว่าสังคมของเรา ประเทศของเรา ยังพร้อมจะช่วยกันปกป้องและแก้ไข เพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ในสถานศึกษา หรือในสังคมกระทำต่อเด็กและเยาวชน

 

วันนี้เราเรียนรู้กันเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในเบื้องต้นเท่านี้ก่อน เพื่อน้อง ๆ จะได้ทราบสิทธิของตนเอง และทราบว่าเมื่อไหร่ที่สมควรขอความช่วยเหลือจากใคร แต่ไม่ใช่เพื่ออ้างเอาการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กมาปกป้องตัวเอง ให้ทำอะไรก็ได้ตามใจ  โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม เพราะถ้าเป็นแบบหลังก็จะผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กไปเลยล่ะค่ะ

        

โดย พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์

 

กรมกิจการเด็กและเยาวชน คู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน https://dcy.go.th/webnew/upload/download/file_th_20190805100723_1.pdf
การทอดทิ้งเด็ก https://hmong.in.th/wiki/Child_abandonment
Safeguarding https://en.wikipedia.org/wiki/Safeguarding
เด็ก กลุ่มเป้าหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 https://www.thaichildrights.org/articles/article-laws/เด็ก-กลุ่มเป้าหมายตามพร/

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us