น้อง ๆ บางคนอาจคิดว่าหัวข้อนี้ฟังดูเป็นวิชาการและออกจะไกลตัว แต่เชื่อเถอะว่าที่จริงแล้ว การฝึกฝนทักษะจำเป็นในศตวรรษ 21 เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากเย็นอะไร แถมยังใกล้ตัวเด็กรุ่นใหม่กว่าที่น้อง ๆ คิดเยอะเลยค่ะ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าในศตวรรษ 21 หรือยุคดิจิทัลเป็นยุคที่ไม่เพียงเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทั้งสถานการณ์ของโลกก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้วย แถมยังมีงานวิจัยออกมาบอกด้วยนะว่า ในอนาคตน้อง ๆ อาจจะประกอบอาชีพที่ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องหาอาวุธติดไม้ติดมือไว้ป้องกัน ดูแล และพัฒนาตัวเองให้สามารถอยู่รอดได้ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง อาวุธที่ว่านี้ก็คือ ‘ทักษะ’ นั่นเอง และจะมีทักษะอะไรบ้างน้าที่จะเป็น ‘ของมันต้องมี’ ตามพี่มดมาดูกันเลยค่ะ
ทักษะแรก ๆ ที่เราต้องมีคือ ทักษะการคิดบวก ฝึกควบคุมตัวเองให้คิดบวกจนเป็นนิสัย การมองความเป็นไปของโลกในแง่ลบไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ที่เลวร้ายดีขึ้น สู้เราคิดบวก ชีวิตจะได้รับพลังและมองเห็นทั้งทางเลือกและทางรอดของชีวิตมากขึ้น
ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุด ที่จะมาลองวัดพลังคิดบวกในตัวเรา นั่นคือวิกฤตการณ์ COVID-19 คนทั้งโลกล้วนได้รับผลกระทบจนต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เริ่มจากการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ทำงานแบบ ‘Work From Home’ เด็ก ๆ ‘เรียนออนไลน์’ ทำได้แค่เจอ ‘ครูจอ’ ‘เพื่อนจอ’ คือเจอกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ แถมยังต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่หรือ ‘New Normal’ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ค่อนข้างลำบากลำบนและอึดอัดสำหรับพวกเราอยู่ไม่น้อย
เอาล่ะ ที่นี้มาฝึกทักษะการคิดบวกกัน กับสถานการณ์จริงที่เจอ เริ่มต้นจากฝึกมองว่าโรคระบาดก็สร้างโอกาสได้เหมือนกันนะ เช่น โอกาสด้านครอบครัว ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น โอกาสด้านสุขภาพ ได้เรียนรู้การรักษาสุขอนามัยมากขึ้น โอกาสด้านการเรียนรู้ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ วิถีชีวิตใหม่ แม้อาชีพเก่าบางอาชีพจะหายไปหรือได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็เกิดอาชีพใหม่มากมาย
มาถึงเรื่องการเรียนที่แสนจะเหงาหงอย ไร้เพื่อนเล่น ไร้บรรยากาศสุดมันของช่วงวัยมัธยม น้อง ๆ ก็ลองปรับพลังคิดบวกในตัวเองว่า เฮ้ย จะว่าไปแล้ว การเรียนออนไลน์ช่วยฝึกระเบียบวินัย บังคับตัวเองให้เข้าเรียนตามเวลา ฝึกสมาธิ ควบคุมจิตใจตนเอง สร้างจินตนาการในการเรียนให้สนุกขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยไปกับการเดินทาง จะว่าไปมันเจ๋งเหมือนกันนะ
เมื่อคิดบวกแล้ว ก็ไม่ใช่แค่ความคิดนะคะ การกระทำก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความคิดด้วย และที่สำคัญตัวควบคุมพฤติกรรมที่ต้องฝึกให้มีนั่นคือ...วินัย
การเปลี่ยนแปลงคือโจทย์สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 ทุกอย่างขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว หลากหลาย และรุนแรง การปรับตัวให้ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งการตั้งรับ การบุกสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ กิจกรรมหรืออาชีพใหม่ ๆ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงโดยไม่งอแงและมีระเบียบวินัยคอยกำกับควบคุม เข้าเรียนอย่างตั้งใจ ทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ และทำการบ้านให้ครบตามที่คุณครูสั่งจนเป็นนิสัย ซึ่งถ้าเราทำได้ ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์หรือเรียนในห้องเรียน น้อง ๆ ก็จะได้ประโยชน์จากการเรียนมากที่สุดเสมอ
ที่สำคัญการมีระเบียบวินัย ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกด้วยว่าน้องเริ่มโตขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้คุณครู คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองมาคอยบังคับบ่นว่าด้วยนะคะ ไหนใครอยากโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วยกมือขึ้น
เด็ก Gen Z ฟังแล้วคงไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ เพราะต่างก็โตมาพร้อมกับเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว แต่ทักษะที่ว่าไม่ได้หมายความถึงการที่น้อง ๆ รู้จักคอมพิวเตอร์เกมใหม่ล่าสุดก่อนใคร มีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์รุ่นใหม่กว่าเพื่อน ๆ หรือใช้สารพัดแอพพลิเคชั่นออกใหม่เป็นคนแรก ๆ หรอกนะคะ หากหมายถึงการที่น้อง ๆ จะต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในทางที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเอง การ ‘ออนไลน์’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การค้นคว้าหาความรู้หรือทำกิจกรรมการเรียน แต่เมื่อน้อง ‘ออนไลน์’ เพื่อความบันเทิง ก็ต้องรู้เท่าทันด้วยว่าในโลกออนไลน์มีอันตรายอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือทราบว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้
ที่สำคัญคือการรู้เท่าทัน เท่าทันว่าสิ่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร วิเคราะห์แยกแยะได้ว่าอะไรคือความจริงหรือความลวงในโลกออนไลน์ การใช้เวลาในชีวิตกับเทคโนโลยีควรใช้อย่างไร เท่าไหร่ แบบไหน จึงจะเหมาะสม และเรียนรู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพราะ 5 สิ่งนี้คือสิ่งที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเทคโนโลยี เรียกว่าเป็นดาบที่มีหลายคมมาก ๆ พลาดแล้วอาจเกิดบาดแผลแก่ตัวเราได้
ทักษะนี้เป็นแนวคิด ‘well-rounded’ หมายถึง ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาเรียน สอบ และทำคะแนนสูงอย่างเดียว แต่ยังเป็นคนที่มีทักษะหลากหลาย มีประสบการณ์การเรียนรู้หลายด้าน (ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกด้าน) เช่นดนตรี กีฬา ศิลปะ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ เพราะทุกวันนี้ เวลามหาวิทยาลัยพิจารณารับนักศึกษาเข้าเรียน ไม่ได้พิจารณาเฉพาะระดับคะแนน แต่มักจะไป ‘เฉือน’ กัน (รอบสัมภาษณ์) ตรงทักษะรอบด้านที่แต่ละคนมีอยู่ เรียกว่าหากต้องเลือกระหว่างผู้สมัครประเภทแรก ที่เรียนเก่งได้เกรด 4 หรือ A ทุกวิชา กับประเภทที่สอง ที่อาจเก่งวิชาการน้อยกว่า แต่มีประสบการณ์ชีวิตน่าสนใจ ทางมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มจะรับผู้สมัครประเภทหลังมากกว่า
เนื่องจากน้อง ๆ กลุ่มนี้มักมีบุคลิกภาพน่าสนใจ มีมนุษยสัมพันธ์ มีทัศนคติที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากกว่า และการได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ มากหน้าหลายตาช่วยทำให้น้อง ๆ รู้จักคิดแบบวิเคราะห์มากกว่า และมักมีวุฒิภาวะสูงกว่า ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าด้วย นอกจากนี้ยังรู้จักการทำงานเป็นทีม เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ แรงสมอง เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมมากกว่าผู้สมัครกลุ่มแรก และที่สำคัญเมื่อน้องเรียนจบและหางานทำ บริษัทต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครประเภทที่สองมากกว่าประเภทแรกเช่นกัน
ดังนั้น นอกเหนือจากการตั้งใจเรียนให้เต็มที่ น้อง ๆ จึงควรฝึกตัวเองให้เปิดใจเรียนรู้กิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อย่าไปกลัวหรือจำกัดการเรียนรู้ของตัวเองด้วยความรู้สึกในแง่ลบใด ๆ เช่น ฉันสุขภาพไม่ดีเลยไม่ชอบเล่นกีฬา หรือฉันไม่หล่อไม่สวยเลยไม่ชอบการแสดง หรือฉันเสียงไม่เพราะเลยไม่ชอบร้องเพลง ฯลฯ ขอให้คิดว่าหากมีโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนสิ่งใด จงตั้งใจอย่างเต็มที่ แม้เราจะไม่เก่งที่สุด แต่อย่างน้อยเราจะได้มีทักษะติดตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้าแน่นอนค่ะ
ทักษะนี้เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ยิ่งน้อง ๆ รู้ภาษาต่างประเทศหลายภาษาจะยิ่งได้เปรียบ ทั้งในเรื่องของการเรียนและการทำงาน ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล แต่ภาษาที่มีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ อย่างภาษาจีนกลางซึ่งมีผู้ใช้เป็นภาษาแม่กว่าพันล้านคนจากทั่วโลก ภาษาสเปนซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาทางการขององค์กรสหประชาชาติและเป็นภาษาที่สองของประเทศสหรัฐอเมริกา และภาษาของชาติอื่นในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างมลายู พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ก็เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้อย่างยิ่ง เพราะพลเมืองอาเซียนนั้นสามารถทำงานในประเทศใดก็ได้ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน หากน้องรู้ภาษาเหล่านี้จะมีแต้มต่อในชีวิตสูงขึ้น เป็นการสร้างโอกาสที่ดี ไม่ว่าตัวน้องจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม
ด้วยวัยของน้อง ๆ ม. ต้นนั้น หากใช้เวลาเรียนภาษาต่างประเทศกับเจ้าของภาษาอย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่จะพัฒนาทักษะการฟังพูดอ่านเขียนภาษานั้น ๆ ได้ในระดับเชี่ยวชาญหรืออาจถึงระดับเดียวกับเจ้าของภาษายังมีอยู่จนถึงราวอายุ 16-18 ปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่า รู้ภาษาแล้วต้องรู้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้องชัดเจนด้วย ไม่ว่าจะการพูดหรือการเขียนนะคะ เพราะทักษะด้านการสื่อสารสำคัญและจำเป็นต่อทุกอาชีพเลยค่ะ เนื่องจากถ้าเราสื่อสารผิดพลาดคลาดเคลื่อน อาจส่งผลให้การเรียน การทำงาน หรือแม้แต่กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันพลอยผิดพลาดไปด้วย และสุดท้ายอย่างลืมภาษาแม่ของเรา คือภาษาไทยนะคะ ไม่ใช่คิดแค่ว่า เราเป็นคนไทยใช้ภาษาไทยได้อยู่แล้ว แต่ต้องคิดต่อด้วยว่า จะใช้ภาษาไทยสื่อสารอย่างไรให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
พี่มดเชื่ออย่างยิ่งว่าสำหรับสาวน้อยหนุ่มน้อยในวัยสดใสเปี่ยมพลังอย่างน้อง ๆ แล้ว บรรดาทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่ว่ามาย่อมไม่เกินกว่าที่น้อง ๆ จะเรียนรู้และฝึกฝนได้อย่างแน่นอนค่า
พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์
ข้อมูลอ้างอิง
ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 https://www.okmd.or.th/okmd-opportunity/new-gen/262/
ทักษะอะไรบ้างที่เด็กในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมี https://www.britishcouncil.or.th/english/tips/general/miscellaneous/what-skills-do-children-need-in-the-21-century
21st-Century Skill : ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 https://corporate.baseplayhouse.co/21st-century-skill-ทักษะแห่งศตวรรษที่-21
ไม่ใช่คนทำแทนไม่ได้! สรุปอาชีพที่ ‘หุ่นยนต์ AI’ ไม่สามารถแทนที่คนได้ ต่อให้โลกวิวัฒนาการไปไกล https://www.marketingoops.com/data/jobs-that-will-never-be-replaced-by-ai/
10 อันดับภาษาที่คนใช้มากที่สุดในโลก http://www.ecc.ac.th/m/knowledge_detail.php?id=456
ภาษาที่ 3 ภาษาไหนน่าเรียนในปี 2021 https://anywhere.learn.co.th/main/ภาษาที่-3-ภาษาไหน