ชอบตัวเลข ชอบการคำนวณ คณะสายบัญชีคงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญของน้อง ๆ แน่นอน ใครที่สนใจอยากศึกษาต่อ และกำลังหาข้อมูลสำหรับทำพอร์ตอยู่ วันนี้พี่ปลูกรวบรวมข้อมูลมาเป็นแนวทางให้น้อง ๆ ดูว่า Portfolio สายบัญชี ใส่ผลงานอะไรบ้าง !
1. ใส่ผลงานให้ตรงตามที่คณะกำหนด
ในระเบียบการรับสมัครบางมหาวิทยาลัย มีกำหนดเนื้อหาใน Portfolio มาอย่างชัดเจนว่าต้องการผลงานอะไรบ้าง เราควรใส่ผลงานให้ตรงตามที่คณะกำหนด หรือผลงานที่มีความใกล้เคียงกับตัวคณะมากที่สุด จะทำให้การพิจารณาตรงเป้าหมายมากขึ้น
2. ต้องมีเอกลักษณ์ เป็นตัวเอง
การจัดทำรูปเล่ม Portfolio ก็เป็นเหมือนแบบจำลองตัวตนของเราออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นการทำรูปเล่ม เราต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของเราเอง สิ่งที่เราสนใจ ศักยภาพ ความสามารถต่าง ๆ ที่เรามี ต้องถูกดึงออกมา และมองเห็นผ่านรูปเล่มได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น จะทำให้รูปเล่มของเรามีเอกลักษณ์ จุดเด่น อย่างน่าสนใจ และเป็นที่จดจำได้
3. ห้ามใส่ผลงาน Fake
สิ่งสำคัญในการทำ Portfolio คือตัวผลงาน ว่าเรามีความสามารถ หรือมีการทำกิจกรรม ผ่านประสบการณ์อะไรมาแล้วบ้าง ซึ่งต้องเป็นผลงานของเราจริง และมีความสามารถจริง ไม่ใส่ในสิ่งที่เราทำไม่ได้ หรือ นำผลงานของคนอื่นเข้ามาใส่ นอกจากจะไม่ได้รับการพิจารณาแล้ว อาจารย์ที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะดูออกว่าเรามีความสามารถจริงไหมด้วย
1. ผลงานวิชาการ
- ได้รับรางวัล หรือ การเข้าร่วมแข่งขันที่เกี่ยวกับด้านการบัญชี, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ
- ผลคะแนนสอบด้านภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL TOEIC IELTS CU-TEP TU-GET เป็นต้น
- มีผลการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ บางมหาวิทยาลัยอาจมีกำหนดเกรดขั้นต่ำด้วย เพราะสายบัญชียังไงก็ได้เจอตัวเลขแน่นอน
2. Workshop
- การเข้าร่วม Openhouse ค่ายด้านบัญชี ใส่รายละเอียดการทำกิจกรรม สิ่งที่ได้เรียนรู้ลงไปได้เลย
- การติวออนไลน์ คอร์สเรียนที่มีเนื้อหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับด้านการบัญชี, คณิตศาสตร์
- การไปศึกษาดูงาน หาประสบการณ์ เกี่ยวกับด้านบัญชี
3. กิจกรรม
อีกส่วนที่สำคัญคือเรื่องกิจกรรม น้อง ๆ ควรมีผลงานกิจกรรมใส่ลงในพอร์ตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมเอง หรือ แค่เข้าร่วมกิจกรรมก็ใส่ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมอง และความสนใจของเราออกมาได้ เช่น
- กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมชุมชน งานอาสาสมัคร การช่วยเหลือต่าง ๆ
- กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การกระทำความดี การทำกิจกรรมอุทิศตนเพื่อส่วนรวม เพื่อแสดงทักษะความเป็นผู้นำ
- กิจกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม การเข้าค่ายธรรมะ เป็นต้น
4. เอกสารแนะนำตัวเอง
การเขียนเรียงความ หรือ การทำเอกสารแนะนำตัวเอง (Statement of Purpose) เป็นอีกผลงานหนึ่งที่จะทำให้คณะ/มหาวิทยาลัย ได้เห็นและรับรู้ถึงความสนใจของเรา เป้าหมายของเราต่อการศึกษาต่อ เราได้รับแรงบันดาลใจ ควานสนใจมาจากอะไร เล่าอธิบายเหตุผลต่อการอยากศึกษาต่อในสายการเรียนนี้ ลงในรูปเล่มพอร์ตของเราได้เลย อย่างบางมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในรอบที่ 1 Portfolio ในระเบียบการอาจมีกำหนดให้ผู้สมัครเขียน เอกสารแนะนำตัวเอง (Statement of Purpose) มาด้วยเลย เพื่อประกอบการพิจารณาเป็นหลัก