Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Digital Footprints ภาพจำในโลกออนไลน์ อันตรายในโลกความจริง

  Favorite

          ใครเคยได้ยินคำว่า “Digital Footprints” บ้างยกมือขึ้น แล้วรู้มั้ยคะว่าหมายถึงอะไร ถ้ารู้แล้วลองมารู้เพิ่มอีกนิดให้เข้าใจยิ่งขึ้น หรือใครยังไม่รู้จัก วันนี้พี่มดจะพาน้อง ๆ ไปรู้จักคำนี้ พร้อมแล้วไปกันเลยค่ะ

          Digital Footprints หากแปลตรงตัวก็คือ รอยเท้าดิจิทัล หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่าร่องรอยดิจิทัล ถ้าอ่านแล้วอาจจะยังงง ๆ เรามาลองนึกภาพตามพี่มดดูนะคะ...

 

          เริ่มจากน้อง ๆ ลองนึกภาพเวลาเราเดินย่ำลงบนผืนทราย รอยเท้าของเราจะปรากฏชัดเจน แม้ตัวจะเดินลับสายตาไปแล้ว คนที่อยากตามหาก็อาจตามรอยเท้าเราไปจนเจอ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเวลาผ่านไป น้ำทะเลหรือสายลมก็อาจทำให้รอยเท้านั้นค่อยลบเลือนจนหายไปในที่สุด ต่างจากรอยเท้าในโลกออนไลน์ เพราะ Digital Footprints เป็นรอยเท้าที่ไม่มีวันลบเลือน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม

 

          รอยเท้าที่ว่าหมายรวมถึงกิจกรรมทุกอย่างที่เราทำในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม หรือ ทวิตเตอร์ ฯลฯ เราอาจเชื่อตามที่สื่อเหล่านี้อ้างว่าพื้นที่ของผู้ใช้แต่ละคนเป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ทว่าในความเป็นจริง ทุกสิ่งที่เราโพสต์ลงในพื้นที่ส่วนตัวทั้งรูปภาพ ข้อความ การตอบกลับความคิดเห็น และอีกสารพัดอย่างซึ่งควรจะเป็นสมบัติส่วนตัวของเรา อาจถูกบันทึกไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างถาวร และกลายเป็น Digital Footprints ที่ไม่มีวันลบทิ้งได้เลย หลักฐานก็จะยังคงเป็นหลักฐานที่จะคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าเราจะลบไปแล้ว แต่แน่ใจเหรอว่า คนอื่นจะลบข้อมูลนี้ไปพร้อมกับเรา โลกอินเทอร์เน็ตไม่มีทางถูกลบได้จริง ! กู้คืนได้ สืบค้นเจอ และแกะรอยได้เสมอ!!

 

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

          ก็ทุกวันนี้ เราโพสต์อะไรต่อมิอะไรลงสื่อสังคมออนไลน์จนกลายเป็นความเคยชิน ลองนึกดูสิ จำได้มั้ยว่าตัวเองเคยโพสต์อะไรไปบ้างและโพสต์เมื่อไหร่ เรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัวของเรา มีหวังได้กลายเป็นเรื่องสาธารณะไปภายในไม่กี่วินาที ผลเสียอาจมีทั้งความอับอายขายหน้า การถูกพ่อแม่ดุ อันตรายที่ตามมาจากคนแปลกหน้าที่ไม่หวังดี และผลกระทบอีกมากมายเกินคาดเดาที่อาจตามมา เช่น น้อง ๆ เปิดเผยข้อมูลและความเป็นส่วนตัว อาจตกเป็นเหยื่อโดนคุกคามทางเพศ ถูกล่อลวง ถูกโจรกรรมข้อมูลทางออนไลน์ ถูกกลั่นแกลง หรือโพสต์และคอมเมนท์ต่าง ๆ ของเรา อาจเสี่ยงผิดกฎหมายหมิ่นประมาท และ พรบ.คอมพิวเตอร์ได้

 

ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ในโลกออนไลน์   

          ในชีวิตจริง คำว่า ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ยังไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวได้จริง จึงไม่ต้องพูดถึง ‘พื้นที่สาธารณะ’ อย่างเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ที่มีประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ ประวัติการค้นหาข้อมูลจาก search engine ข้อมูลการ เช็คอิน สถานที่ใด ๆ ก็ตามที่เราไปเยือน แม้แต่ IP Address คือหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งาน ซึ่งช่วยให้ตามรอยได้ว่าเราใช้งานคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ อยู่ที่ไหน ไปจนถึงประวัติการพูดคุยในเว็บบอร์ดหรือการโพสต์ความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่ว่าในเชิงบวกหรือเชิงลบ ฯลฯ ล้วนถูกจัดเก็บเป็น Digital Footprints ของเราเช่นเดียวกัน เหมือนกับคอมเมนต์แย่ ๆ บนเฟซบุ๊กของคนที่เราไม่ชอบหน้าหรือคนที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวไง

          หากเราเกิดไม่ชอบเรื่องที่เขาโพสต์ แล้วพอดีเขาเปิดโพสต์เป็นสาธารณะ เราก็เลยไปคอมเมนต์ และเกิดเราคอมเมนต์แรง ๆ จนเขาจำชื่อเราฝังใจเลยล่ะ แล้วเกิดวันหนึ่ง เราไปเรียนต่อด้วยกัน ไปเข้าค่าย ไปทำกิจกรรมด้วยกัน อนาคตไปทำงานด้วยกัน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน หรืออาจจะเป็นคณะกรรมการที่จะสัมภาษณ์เราเข้าเรียน เป็นครู อาจารย์ เป็นญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนรักเรา น้อง ๆ ต้องไม่ลืมนะคะว่า “โลกของเรามันกลม” เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะใช้สื่อสังคมออนไลน์ครั้งไหน ขอให้ตั้งสติ และคิดใคร่ครวญให้ดี หลาย ๆ รอบ ก่อนโพสต์อะไรลงไปนะจ๊ะ

 

โลกออนไลน์ไม่ใช่มีแค่เพื่อนเท่านั้น

          น้อง ๆ เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล แน่นอนว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่น้อง ๆ เรียกว่า “เพื่อน” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเราจะรู้ใกล้ชิด คุ้นเคย และไว้วางใจ อีกทั้งรู้สึกมั่นใจว่า สังคมออนไลน์คือโลกของเรา คือพื้นที่ที่ปลอดภัย และมีความเป็นส่วนตัว เป็นที่ที่เราได้พบเพื่อนใหม่ ๆ ได้พูดได้คุยถึงเรื่องต่าง ๆ ได้ตามต้องการ แต่...ในความเป็นจริง โลกออนไลน์ไม่ใช่มีแค่เพื่อนของเราเท่านั้น และต่อให้เป็นเพื่อนของเราจริง ก็ใช่ว่าเพื่อนทุกคนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย

 

เรื่องขำ ๆ ที่ตลก...ไม่ออก

          ครั้งหนึ่งเคยมีการส่งต่อภาพหนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ ภาพหนูน้อยเซลฟี่ตัวเอง โดยมีฉากหลังเป็นคุณแม่ในอิริยาบถแสนส่วนตัว จนแทบไม่มีเสื้อผ้าติดตัว แม้ว่าจะไม่ปรากฏหน้าคุณแม่อยู่ในภาพ แต่ใครที่รู้จักเด็กคนนี้ก็ต้องรู้ว่า ภาพนี้เป็นภาพของใคร ความไร้เดียงสาของเด็กน้อยผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้กดส่งภาพนี้จนเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ คนมากมายได้เห็น ได้หัวเราะ แล้วส่งต่อกันไอย่างสนุกสนาน วันหนึ่งหนูน้อยคนนี้เติบโตขึ้น แล้วกลับมาเห็นภาพดังกล่าว และอยากจะลบภาพนี้ให้หมดไปจากโลกอินเตอร์เน็ต แต่...ลบเท่าไหร่ก็ไม่เคยหมด!

 

โตแล้ว ก็ยังมีสิทธิ์พลาด

          อย่าว่าแต่เด็กน้อยเบบี๋ไร้เดียงสา แม้แต่เด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวที่เริ่มมีความรู้ความคิดความอ่านมากขึ้น ก็ยังเกิดความผิดพลาดในเรื่องการสร้างภาพจำของตนเองในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่หลายกรณี เช่น คึกคะนองโพสต์แสดงทัศนคติที่รุนแรง หยาบคาย ข้อมูลเท็จ หมิ่นประมาท จนถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีสิ่งที่ตนเองโพสต์นั่นเองเป็นหลักฐานมัดตัวว่าผิดจริง หรือแม้แต่ในโลกการทำงาน บริษัทค้นประวัติของผู้สมัครงานจากอินเทอร์เน็ต จับโป๊ะไปเจอข้อมูลว่า เคยต้องคดีหมิ่นประมาท ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย น้อง ๆ คิดว่า โอกาสในการทำงานของคนนี้จะเป็นอย่างไร หรืออีกตัวอย่างคือ ภาพส่วนตัวบางภาพ คลิปบางคลิป ที่ถ่ายแล้วเซฟในโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อเครื่องเสีย ต้องส่งซ่อม ก็เรียบร้อย ภาพหลุด คลิปหลุด ปลิวว่อนทั่วอินเตอร์เน็ต น้อง ๆ คิดว่า ภาพเหล่านั้นจะส่งผลต่ออนาคตของเราอย่างไร ดูภาพหลุดคนอื่นอาจสนุก แต่ถ้าเป็นภาพตัวเอง พี่มดว่า...สนุกไม่ออกแน่ค่ะ  

 

ทำอย่างไรให้เรามี Digital Footprints ที่สวยงาม

          ถ้าน้อง ๆ อยากให้เรามีภาพจำในชีวิตที่สวยงาม และไม่เกิดอันตรายกับเราในภายหน้า น้อง ๆ ควรควรจะต้องรู้เท่ากันการใช้สื่อ และมีความรู้ความเข้าใจว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ท่องไปในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีทั้งสิ่งที่เป็นคุณอนันต์และเป็นโทษมหันต์ ต้องรู้จักคิดให้ดีและค้นหาข้อมูลให้ชัวร์ก่อนจะทำกิจกรรมใดก็ตามในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะชีวิตจริงไม่มีใครสามารถกดปุ่ม undo เพื่อยกเลิกสิ่งที่ทำไปแล้วได้เลย ดังนั้นต้องรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง สร้างเกราะป้องกันภัย สร้างกำแพงป้องกันคนแปลกหน้า ต้องไม่ให้อุปกรณ์นั้น ๆ บันทึกรหัสผ่านใด ๆ ของตนเองไว้ และเมื่อลงชื่อเข้าใช้บัญชีอีเมลหรืออื่นใดก็ตาม ต้องลงชื่อออกให้เรียบร้อยทุกครั้ง รวมทั้งไม่บอกรหัสผ่านของเราให้แก่ผู้อื่น

 

          หลาย ๆ เหตุการณ์จากบทความนี้ คือภาพจำในโลกออนไลน์ ที่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปแค่ไหน คนที่เคยได้รู้ได้เห็นก็ยังจำได้ ยังสามารถค้นหาหลักฐานภาพจำนั้น ๆ เพื่อนำกลับมาดู มารื้อฟื้นความทรงจำได้เสมอ และคนที่จำแม่นที่สุดก็คงไม่พ้นเจ้าของภาพจำที่ว่านั่นเอง

          Digital Footprints คือร่องรอยทางดิจิทัลของเรา หากเราจะสร้างรอยเท้าไว้ ก็อยากให้เป็นรอยทางที่ดี ที่คู่ควรแก่การเล่าย้อน ฉายวน พูดซ้ำ แชร์ต่อ โดยที่ตัวเรา ครอบครัว และสังคมไม่มีใครเดือดร้อนจากการสะกดตามรอยนั้น

 

พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://thematter.co/brief/digital-footprint-explained/79341https://extranicegroup.com/digital-footprint-in-businesshttps://www.marketingoops.com/exclusive/how-to/digital-footprint-the-art-of-knowinghttps://www.bbc.com/thai/thailand-48902824https://www.scimath.org/article-technology/item/10617-digital-footprint

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us