Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เข้าใจ SWOT เทคนิคประยุกต์ใช้วิเคราะห์ตัวเอง

  Favorite

          วันนี้เรามารู้จักศัพท์เฉพาะคำหนึ่ง ที่คนเป็นผู้ใหญ่เขาไว้ใช้วิเคราะห์การตลาด การทำงาน การทำธุรกิจหรือกิจกรรมต่าง ๆ เรียกว่าก่อนจะคิดการใหญ่ทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ ล้วนผ่านการใช้คำ ๆ นี้มาแล้วทั้งสิ้น แต่รู้มั้ยว่า คำ ๆ นี้ เด็กในวัย ม.ต้น อย่างน้อง ๆ สามารถนำมาใช้สร้างความสำเร็จในชีวิตได้ คำนั้นคือ “SWOT”

 

          “SWOT” เป็นเทคนิควิเคราะห์การตลาดของบริษัทธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความได้เปรียบทางการตลาด ใช้งานครั้งแรกในมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1960 และนิยมไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ซึ่ง SWOT ใช้ได้กับทุกประเภทธุรกิจ  โดยมาจากตัวอักษรย่อของคำ 4 คำ คือ

S: Strengths จุดแข็ง
W: Weaknesses จุดอ่อน
O: Opportunities โอกาส
T: Threats อุปสรรค

 

          เมื่อนำ SWOT มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตัวเอง ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของตัวเราเอง มองเห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการในอนาคต ที่นี้ เรามาหาอะไรสนุก ๆ ทำ หยิบสมุดโน้ตมาพร้อมปากกา แล้วมามองหา SWOT ในตัวของเราเองกันเลย

 

S: Strengths จุดแข็ง 

          จุดแข็งคือสิ่งที่เกิดจากตัวเรา อยู่ในตัวเรา เป็นทักษะ ความถนัด ความสามารถที่ทำให้เราโดดเด่น แตกต่าง และได้เปรียบคนอื่น ตัวอย่างเช่น มีความเชื่อมั่น มั่นใจในตัวเองสูง เรียนรู้เข้าใจได้เร็ว มีความคิดที่เป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ ขยัน มีระเบียบ มีความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก  มีน้ำใจ ไม่พูดโกหก ซื่อสัตย์ พูด อ่าน เขียน ได้เกิน 2 ภาษา มีมนุษย์สัมพันธ์ดี พูดเก่ง ฯลฯ  
          ยังมีอีกหลายข้อที่เป็นจุดเด่นของเราเอง  หากไม่แน่ใจ ลองสอบถาม ขอคำปรึกษาจากคุณครู พ่อแม่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนดู บางทีคนอื่นอาจจะเป็นกระจกสะท้อนตัวเราให้ชัดขึ้นก็ได้  ถึงแม้เราจะมีจุดแข็งที่โดดเด่นแล้วก็ตาม แต่ต้องคอยหมั่นคอยเติมทักษะ เพราะหากทิ้งมันไว้เฉย ๆ ก็อาจกลายเป็นจุดอ่อนของเราได้ในอนาคต

 

W: Weaknesses จุดอ่อน

          จุดอ่อนนั้นเป็นข้อด้อยในตัวเรา แต่ไม่ต้องกลัวว่าเป็นสิ่งไม่ดี มันกลับทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าควรปรับปรุง พัฒนา และแก้ไขจุดอ่อนของตัวเองอย่างไร เพราะถ้าไม่รู้ จะไม่มีการแก้ไข แต่ถ้ารู้ ถือว่ายังมีโอกาสให้ได้แก้ไข ตัวอย่างของจุดอ่อน ได้แก่ ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ขี้เกียจ เฉื่อยชา ลังเล ใจอ่อน โลเล ปรับตัวช้า ตัดสินใจช้า มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยฟังผู้อื่น ชอบซื้อของใช้เงินเปลือง ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า อ่อนวิชาสำคัญ ฯลฯ
          เมื่อหาเจอจุดอ่อนแล้ว ต้องตั้งเป้าแก้ไขข้อด้อยเหล่านี้ให้เปลี่ยนเป็นความแข็งแกร่งขึ้นให้ได้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ตัวเอง มันทำให้เราได้เปรียบกับการพัฒนาตนเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมันจำเป็นต้องมีจุดอ่อนน้อยที่สุดในโลกของการเรียน การทำงาน

 

O: Opportunities โอกาส

          โอกาสเป็นข้อได้เปรียบที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น คนอื่น หรือสภาพแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวเรา บางคนอาจมีโอกาสไม่เท่ากัน แต่เราก็สามารถมองหาโอกาสดี ๆ ให้แก่ตัวเองได้ตลอดเวลา ลองนึกดูดี ๆ ว่าเรามีโอกาสดี ๆ ตรงไหนบ้าง ตัวอย่างเช่น มีครอบครัวที่อบอุ่น สื่อสารเข้าใจ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ใส่ใจดูแล ให้การสนับสนุน  มีเพื่อนที่ดีคอยช่วยเหลือ แบ่งปันให้กำลังใจ ยอมรับความคิดเห็น ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่ดี มีญาติหรือคนรู้จักทำธุรกิจ หรือประสบความสำเร็จในเส้นทางการทำงาน ฯลฯ
          โอกาสนั้นมีอยู่ตลอดเวลา หากเราไขว่คว้าไม่หยุดนิ่งอยู่เฉย คอยมองหาโอกาสดี ๆ จังหวะดี ๆ ให้ตัวเอง บุคคลที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงหลายคนมักจะมีความสามารถในการมองเห็นโอกาสก่อนใคร และน้อง ๆ เองก็สามารถทำแบบนั้นได้ เพียงแค่รู้จักมองหาโอกาสที่อยู่รอบ ๆ ตัว แล้ววิเคราะห์เลือกที่เหมาะกับตัวเอง

 

T: Threats อุปสรรค

          อุปสรรคเป็นปัจจัยภายนอก คือสิ่งที่อยู่นอกเหนือตัวเรา ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และแถมที่ร้ายกว่านั้นคือ ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา ต่อความสำเร็จของเรา หากรู้จักวิเคราะห์อุปสรรคจากสิ่งที่เคยพบเจอ จะช่วยให้เราหาทางป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือเตรียมแผนรับมือกับอุปสรรคได้ดียิ่งขึ้น เช่น เรามักเสียสมาธิอ่านหนังสือไปกับอะไร ไหนลองตอบในใจ ให้เวลา 10 วินาที....หมดเวลา คำตอบอาจจะเป็นเสียงรบกวนจากข้างบ้าน พ่อแม่ทะเลาะกัน น้องหรือพี่เปิดโทรทัศน์เสียงดัง บ้านร้อนมาก หรือทำไมเรียนวิชานี้ไม่เข้าใจสักที คำตอบอาจจะเป็นครูสอนไม่เข้าใจ บรรยากาศการเรียนไม่น่าเรียน สื่อการสอนไม่น่าสนใจ

การคิดเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นการฝึกให้เราโทษสิ่งอื่น หรือคนอื่น แต่ทำเพื่อช่วยให้เรามองความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิตได้อย่างชัดเจน รอบด้าน และมีเหตุผลขึ้น รู้ว่าอะไรที่แก้ไขได้ อะไรที่แก้ไขไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ แล้วจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เป้าหมายของเราไม่สะดุดไปกับอุปสรรคที่ขวางทาง


          การวางแผนเพิ่มจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน ควรเริ่มต้นแล้วลงมือทำเสียแต่ตอนนี้  เป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้เรามีโอกาสในชีวิต ในการเรียนการทำงาน ในวันข้างหน้ามากขึ้น  พร้อมรับมือกับทุกปัญหา และข้อสำคัญเราจะได้ปรับตัว พัฒนาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะประสบความสำเร็จในอนาคตนั่นเอง

 

พี่อ้อ อังสนา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us